เมื่อลูกน้อยหายใจครืดคราด ต้องดูแลอย่างไร จึงจะปลอดภัยกับเด็ก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ในเด็กวัยทารก อาจจะมีปัญหาหายใจเสียงดังครืดคราด ทำให้เด็กหายใจไม่สะดวกซึ่งมีผลต่อการดูดนม หรืออาจทำให้เกิดการสำลักในลูกน้อยได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ น้ำมูกที่จับตัวเป็นก้อนเหนียว ๆ แห้ง ๆ ในโพรงจมูก บางทีก็เป็นนมที่เด็กอาเจียนพุ่งออกมาทางจมูก ทำให้จับตัวเป็นก้อนกับน้ำมูกในจมูกได้

ในเด็กที่โตขึ้นและในบ้านมีพี่ที่ไปโรงเรียน ก็มักจะมีปัญหาการเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจได้บ่อยขึ้น จากไวรัสหลากหลายสายพันธุ์หรือแบคทีเรีย และมักจะทำให้น้องป่วยตามไปด้วย ในกรณีเช่นนี้ ถ้าพี่ป่วย ควรแยกจากน้องชั่วคราว เพราะในเด็กทารก ถ้ามีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัด จะทำให้มีน้ำมูก คัดจมูก หายใจลำบาก หรือมีเสมหะในคอจำนวนมาก การดูแลรักษาในเด็กเล็กจะยุ่งยากและลำบากมาก เพราะยังสั่งน้ำมูกออกมาไม่ได้หรือไอเอาเสมหะออกไม่เป็น รวมทั้งไม่สามารถบอกอาการได้เพราะยังพูดไม่ได้ ทำให้หายป่วยได้ช้ากว่า บางรายมีปัญหาท้องอืด ร้องกวน เนื่องจากหายใจเข้าทางปากตลอดเพราะคัดจมูก ทำให้มีลมในกระเพาะมากกว่าปกติ และมีผลต่อการกินนมอีกด้วย

ในเด็กวัยเรียนที่เข้าอนุบาลแล้ว เรื่องน้ำมูกก็เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากหวัด โรคภูมิแพ้ และไซนัสอักเสบ ทำให้มีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ จึงควรมีการสอนให้เด็กรู้จักวิธีการสั่งน้ำมูกทีละข้าง โดยการเอากระดาษทิชชูครอบที่จมูกพร้อมใช้นิ้วมือกดจมูกไว้ทีละข้างสลับกัน แล้วค่อยสั่งน้ำมูกออกมาในกระดาษทิชชูที่รองไว้ จะได้สังเกตสีของน้ำมูกได้ด้วย ซึ่งบางครั้งการสั่งน้ำมูกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องล้างทำความสะอาดจมูก เพื่อไม่ให้มีการคั่งค้างของน้ำมูกในโพรงจมูก

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อหายใจครืดคราด

  1. ในวัยทารก การทำความสะอาดจมูกควรมีคนช่วยจับหัวเด็กให้นิ่งก่อน แล้วหยอดน้ำเกลือนอร์มอลซาไลน์ในรูจมูกเด็กสัก 1 ถึง 2 หยด เพื่อทำให้น้ำมูกนิ่มขึ้นจะได้เขี่ยออกได้ง่าย จากนั้น ใช้ cotton bud (ก้านสำลี) จุ่มน้ำเกลือ แล้วค่อย ๆ เขี่ยน้ำมูกออก โดยวิธีการเขี่ยให้เอา cotton bud แหย่เข้าด้านข้างของรูจมูก แล้ววกออกตรงกลางของรูจมูกในแต่ละข้าง เพราะการใช้ cotton budเขี่ยเข้าไปตรง ๆ อาจจะดันให้น้ำมูกเข้าไปลึกมากขึ้น ทำให้ยิ่งยากในการนำก้อนน้ำมูกออกมาได้ วิธีที่หมอไม่แนะนำคือการใช้ปากไปดูดน้ำมูกจากจมูกเด็ก เพราะบางครั้งในปากที่ใช้ดูดอาจมีเชื้อก่อโรคให้ลูกได้ รวมทั้งการใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในรูจมูกเด็ก หากทำไม่ถูกวิธี อาจทำให้เยื่อบุจมูกเด็กบวมมากขึ้น ในเด็กที่โตขึ้น ก่อนอายุ 2 ปี สามารถใช้เป็นน้ำเกลือแบบสเปรย์พ่นเข้าไปในจมูกแต่ละข้างได้เลย ข้างละ 2 ถึง 3 กด บางครั้งเด็กก็จะจามเอาน้ำมูกออกมา หรือไหลลงไปในคอได้เลยในกรณีที่ยังสั่งน้ำมูกไม่เป็น ทำให้เด็กสามารถหายใจได้สบายและคล่องขึ้น นอนหลับและทานอาหารได้ดีขึ้น
  2. ในเด็กวัยอนุบาล สามารถใช้น้ำเกลือบีบล้างจมูกได้ แต่ไม่ควรบังคับจับเด็ก เพราะอาจทำให้สำลักได้ การล้างจมูกโดยการใช้หลอดไซริงจ์หรือขวดบีบน้ำเกลือเข้าจมูก เด็กจะต้องกลั้นหายใจเป็นในขณะที่เราบีบน้ำเกลือเข้าไปในจมูก โดยน้ำเกลือจะเข้าทางรูจมูกซ้ายแล้วออกทางรูจมูกขวา หรือเข้าขวาออกซ้ายก็ได้ และทุกครั้งที่น้ำออกจากจมูกแล้ว ควรสั่งน้ำมูกโดยการปิดจมูกทีละข้างแล้วค่อยสั่งน้ำมูก จะทำให้น้ำมูกออกได้ง่ายกว่าและไม่ทำให้ปวดหู

 

เทคนิคสำคัญในการล้างจมูก

  1. ควรใช้เป็นน้ำเกลืออุ่นในการล้างจมูก เช่น ใช้น้ำอุ่นในการผสมกับเกลือผงสำเร็จรูป หรือถ้าน้ำเกลือขวดใหญ่ควรเทใส่แก้วเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟให้เพียงอุ่น ๆ เท่านั้น เพราะน้ำอุ่นจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม และลดการปวดหูขณะล้างจมูกด้วย
  2. ขนาดหรือปริมาณน้ำเกลือในการฉีดเข้าไปล้างจมูกแต่ละครั้ง คือ 5 ซีซีในเด็กวัยอนุบาล ในเด็กโต 5 ปีขึ้นไปสามารถใช้ 10 ซีซี ถ้าอายุเกิน 10 ปีขึ้นไปควรใช้ 20 ซีซีในแต่ละครั้งอย่างน้อยข้างละ 3 ครั้ง ในการสั่งน้ำมูกออกมาถ้ามีสีเขียวหรือเหลือง ให้เพิ่มจำนวนครั้งของการล้าง จนกว่าน้ำมูกที่ออกมาจะใส
  3. การสอนเด็กกลั้นหายใจ โดยการให้เด็กอ้าปากแล้วออกเสียง อา ยาว ๆ ในขณะดันน้ำเข้าจมูกตามปริมาณที่แนะนำโดยเร็วเพื่อให้น้ำไหลออกมาอีกข้างของจมูก ถ้าเป็นการใช้ขวดก็ให้บีบแล้วปล่อย เพื่อเว้นจังหวะให้เด็กหายใจ ถ้าค่อย ๆ ดัน น้ำจะไหลออกจากจมูกข้างเดียวกันเพราะแรง ดันไม่พอที่จะให้ข้ามมาออกอีกข้างหนึ่ง 
  4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณ ใช้น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด ผึ่งให้แห้ง         

 

ประโยชน์ของการหยอดน้ำเกลือและการล้างจมูกในเด็กเล็ก

  1. เป็นการกำจัดน้ำมูกที่เหนียวข้นและอุดกั้นทางเดินหายใจ บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ระคายเคืองในจมูก ทำให้เด็กรู้สึกสบายหายใจสะดวก
  2. ในกรณีที่มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ การล้างจมูกก็เป็นการลดปริมาณเชื้อโรค ทำให้อาการดีเร็วขึ้น ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด
  3. ในกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก การล้างจมูกทุกวันตอนเย็นจะช่วยลดสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าไปในจมูก ทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นมากร่วมกับการรักษาด้วยยา และถ้าล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่น จะทำให้ยาเข้าถึงเยื่อบุจมูกได้ดีขึ้นด้วย
  4. ในเด็กที่เข้าโรงเรียนอนุบาลปีแรก จะมีปัญหาป่วยด้วยอาการน้ำมูก ไอ ได้บ่อย ดังนั้นการล้างจมูกทุกวันตอนเย็นเมื่อกลับบ้าน จะช่วยป้องกันให้เด็กป่วยน้อยลง หรือลดความรุนแรงได้ด้วย
  5. เพิ่มความชุ่มชื้นให้เยื่อบุจมูก ในกรณีที่อากาศหนาวเย็น และความชื้นต่ำ เยื่อบุจมูกจะแห้งและทำให้แสบมากขึ้น ทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เทคนิคเพิ่มเติมให้ลูกน้อยหลับสบาย

โดยปกติแล้วเด็กทุกคนควรจะนอนหุบปากและหายใจทางจมูก ในกรณีที่เด็กคัดจมูกหรือมีน้ำมูกก็จะต้องอ้าปากหายใจ ทำให้คอแห้งและแสบคอ บางครั้งต้องตื่นมาไอเหมือนมีอะไรติดคอหรือมีอาเจียนตามมาได้ ทำให้ลูกหลับไม่สนิท และอาจจะร้องกวนงอแง

การหยดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกทุกวันหรือการล้างจมูกทุกวันเพื่อทำความสะอาด นับเป็นสุขอนามัยอีกหนึ่งอย่างที่ควรทำนอกเหนือจากการอาบน้ำ แปรงฟัน จะทำให้ลูกนอนหลับได้สบายมากขึ้น ยิ่งในกรณีที่ลูกป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ การล้างจมูกก็สามารถทำควบคู่ไปกับการกินยาและทำให้เด็กหายป่วยได้เร็วขึ้น ช่วยลดการกินยาให้เด็กได้ด้วย

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย : ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกหายใจแบบไหน เป็นสัญญาณร้าย ที่พ่อแม่ต้องระวัง

ลูกหายใจเสียงดังวี้ด ระวังอันตราย ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

ลูกนอนหายใจทางปาก ลูกหายใจทางปาก ตอนนอน อันตรายไหม

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team