04บทความโดย theAsianparent
การคัดเต้านม หรือเจ็บเต้านม เกิดจากการไหลเวียนของเลือด และปริมาณน้ำนมในเต้านมที่เพิ่มขึ้นโดยจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของหลังคลอด เพราะหลังคลอดคุณแม่จะมีการปรับเปลี่ยนของฮอร์โมนโปรแลกตินจากต่อมใต้สมอง ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณเต้านม ทำให้นมมีอาการบวม และมีน้ำนมอยู่ในเต้านม เต้านมจะใหญ่ขึ้น มีอาการแข็ง รู้สึกเจ็บ ร้อนบริเวณลานนม ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บเต้านม น้ำนมไหลออกได้ไม่ดี ไม่สบายตัว คุณแม่หลังคลอดคนไหนที่กำลังมีอาการเหล่านี้ ไม่ต้องกังวล เพราะเรารวบรวมวิธีบรรเทาอาการเจ็บเต้านมมาให้คุณแม่แล้ว
ทำไมถึงเจ็บเต้านมหลังคลอด ?
อาการเจ็บนม หรือรู้สึกปวดเต้านมทำให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกไม่สบายตัว โดยอาการเจ็บเต้านมหลังคลอดเกิดจากระดับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ เช่น เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนลดลง ในขณะที่โปรแลคตินซึ่งเป็นฮอร์โมนสำหรับผลิตน้ำนมนั้นถูกเติมเข้ามา โดยกระบวนการผลิตน้ำนมอาจจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะคลอดได้ 3 – 5 วัน นอกจากนี้อาการเจ็บเต้านมยังสามารถเกิดขึ้นได้ จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- ร่างกายของแม่สร้างน้ำนมมากเกินไป
- เว้นระยะการให้ลูกดูดนม หรือปั๊มนมไม่ตรงรอบนานเกินไป
- ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี
อาการเจ็บเต้านม
อาการคัดเต้านมของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป โดยหลัก ๆ อาการจะมีดังนี้
- เต้านมคัด แข็ง และแน่น
- หน้าอกจะตึง และไวต่อการสัมผัส
- เนื้อเต้านมจะมีลักษณะเป็นก้อน
- อาจมีอาการบวมที่เต้านมข้างเดียว หรืออาจจะเกิดขึ้นทั้งสองข้าง
- เต้านมขยาย
- เส้นเลือดอาจจะปรากฏชัดเจนขึ้นที่เต้านม
- อาจจะมีไข้อ่อน ๆ และอาการอ่อนเพลียในช่วงแรกเรียกว่า “ไข้น้ำนม”
วิธีบรรเทาอาการเจ็บเต้านมหลังคลอด
- ประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น จะช่วยทำให้เต้านมนิ่มลง และกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- วางใบกะหล่ำปลีแช่เย็นที่ล้างสะอาดแล้วทั้งใบ ประคบให้พอดีลงบนเต้านมแต่ละข้าง จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
- ใช้มือกดให้น้ำนมออกมาเล็กน้อย และลดแรงกดหากรู้สึกเจ็บ พยายามอย่ากดแรงจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เต้านมระบมได้
- เลือกซื้อชุดชั้นในระบายความร้อนสำหรับแม่ท้องที่สามารถซื้อได้ในร้านขายอุปกรณ์สำหรับแม่ท้อง และเด็ก
- นวดหน้าอกเบา ๆ ขณะให้นมเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
- เปลี่ยนท่าการอุ้มลูกเวลาให้นม เพื่อที่จะให้ลูกได้รับนม ในตำแหน่งที่ดีที่สุด
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าชุดชั้นในของคุณแม่นั้นพอดีตัว ไม่แน่นจนเกินไป
- หากรู้สึกปวดมากสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยหากยังอยู่ในช่วงให้นมบุตรอยู่
บีบน้ำนมออกจากเต้า
- การเตรียมความพร้อมก่อนบีบน้ำนมออกจากเต้า ควรล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง
- เตรียมขวดนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือนึ่งทำความสะอาดมาแล้วให้พร้อม
- คุณแม่นั่งในท่าที่สบาย โดยไม่ต้องก้ม เพราะอาจจะทำให้ปวดหลังได้
- นำผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบเต้านมเป็นเวลา 3 – 5 นาที ก่อนจะเริ่มบีบน้ำนมออกจากเต้า
- นำหัวแม่มือวางที่ลานนม และนิ้วมืออีก 4 นิ้ว นำไปวางใต้เต้านม
- กดนิ้วหากระดูกทรวงอก บีบนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วทั้งสี่เข้าหากัน และเคลื่อนนิ้วหัวแม่มือไปด้านหน้า แต่ไม่เลยขอบลานนม
- ทำการบีบน้ำนมเป็นจังหวะ จากนั้นย้ายนิ้วมือไปรอบ ๆ หัวนม เพื่อบีบน้ำนมออกให้หมดเต้า นำขวดที่เตรียมไว้มารองรับน้ำนมที่ออกจากเต้า
- สลับเต้าในการบีบทุก 3 – 5 นาที
- หลังจากบีบเต้านมเสร็จ คุณแม่ควรหยดน้ำนมลงบนหัวนม 2 – 3 หยด จากนั้นปล่อยให้แห้งเพื่อป้องกันหัวนมแตก
อ้างอิง
- de Bellefonds C. Is breast engorgement normal after giving birth? [Internet]. Whattoexpect.com. WhattoExpect; 2020 [cited 2021 Mar 23]. Available from: www.whattoexpect.com/first-year/postpartum-health-and-care/breast-engorgement-postpartum/
- Holland K. Breast Engorgement: Causes and Tips for Relief [Internet]. Healthline.com. 2018 [cited 2021 Mar 23]. Available from: www.healthline.com/health/breast-engorgement
- Webmaster BNH. การดูแลตนเองเมื่อเต้านมคัดตึง [Internet]. Bnhhospital.com. [cited 2021 Mar 23]. Available from: www.bnhhospital.com/การดูแลตนเองเมื่อเต้าน/