คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ไหม พัฒนาการของทารกแรกเกิด เป็นยังไงบ้าง?
ทารกแรกเกิดของฉันจะทำอะไรได้บ้างใน 1 เดือนแรก?
อาจดูเหมือนว่าลูกไม่ค่อยจะทำอะไรมากนัก แต่ลูกกำลังพยายามรับอะไรหลาย ๆ อย่างมาก แม้ว่าลูกจะยังมองเห็นไกลไม่ได้ แต่ลูกก็อยากจะเห็นหน้าของคุณ อุ้มลูกไว้ใกล้ ๆ และให้ลูกเรียนรู้ลักษณะหน้าตาของคุณ ในตอนนี้ลูกจะพยายามเลียนแบบการแสดงออกบนใบหน้าของคุณ ลองแลบลิ้นดูสิ แล้วรอดูว่าลูกจะเลียนแบบคุณรึเปล่า
เมื่อไหร่ที่แขนและขาของทารกแรกเกิดจะยืดออก?
ทารกแรกเกิดจะยังไม่สามารถยืดแขนและขาได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้ลูกแลดูเหมือนแขนขาจะคดงอ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติมาก ๆ แขนขาของลูกจะค่อย ๆ ยืดออกได้เองเมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยกับการอยู่นอกครรภ์
หากลูกคลอดออกมาโดยที่ส่วนก้นโผล่ออกมาก่อน ลูกจะใช้เวลามากขึ้นอีกนิดกว่าแขนขาของลูกจะเหยียดได้ เนื่องจากเท้าของลูกพับไปถึงส่วนใบหู ลูกอาจต้องใช้เวลาสองสามวันจึงจะพร้อมเหยียดขาตัวเองให้ตรง
หากลูกดูขาโก่ง มีช่องว่างเล็ก ๆ ที่ระหว่างเข่าและระหว่างข้อเท้า อย่าได้กังวลไป สภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยืดขาออกและจะเป็นปกติได้เองก่อนลูกอายุได้ 2 ขวบ
เมื่อไหร่ทารกแรกเกิดจะกินและนอนเป็นเวลา?
อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของทารกแรกเกิด โดยการนอนสำคัญเป็นอันดับสองตามมาติด ๆ แต่คุณทั้งสองต้องใช้เวลาสักพักเพื่อเข้าใจรูปแบบการกินและการนอนของลูก
ลูกต้องได้ป้อนนมตลอดเวลาในช่วงสองสามวันแรก คุณอาจจะพบว่าต้องป้อนนมลูกวันละ 8 ถึง 15 ครั้งทุกวัน หลังจากสัปดาห์แรกผ่านพ้นไป ความถี่จะลดลงเหลือ 6 ถึง 8 ครั้งต่อวัน ทารกที่ดื่มนมแม่มักจะต้องการดูดนมบ่อยครั้งกว่าทารกที่ดื่มนมผง
รูปแบบการนอนของทารกจะเป็นช่วง ๆ ช่วงละเท่า ๆ กัน ลูกอาจจะนอนรวม 16 ถึง 17 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมง แต่โชคไม่ดีที่คุณจะไม่ได้นอนยาว ๆ สบาย ๆ หรอกเพราะลูกจะแบ่งช่วงเวลาการนอนออกเป็นประมาณ 8 ช่วงแทนการนอนยาว ๆ
ระหว่าง 6 ถึง 8 สัปดาห์แรก ลูกจะเริ่มมีรูปแบบการกินและการนอนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คุณอาจจะยังไม่สังเกตว่ารูปแบบของลูกกลายเป็นกิจวัตรจนกว่าจะผ่านไปอีก 2 ถึง 3 เดือน
ทำไมลูกร้องไห้มากขนาดนี้ จะทำยังไงดีให้ลูกสงบลง?
ลูกของคุณยังแสดงบุคลิกต่าง ๆ ได้ไม่มากนัก แต่ลูกก็แสดงออกเพียงวิธีเดียวที่ลูกรู้นั่นก็คือ “การร้องไห้” นั่นเอง
ตั้งแต่ลืมตาบนโลกที่สว่างจ้าและวุ่นวายแห่งนี้ ลูกของคุณก็ได้พยายามที่จะจัดการกับสิ่งกระตุ้นมากมาย หากลูกร้องไห้เพราะได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ลูกอาจจะเงียบและสงบลงเมื่อคุณพูดกับลูกอย่างอ่อนโยนและอุ้มลูกเข้าใกล้คุณ ลูกอาจทำเสียง “อา” เมื่อได้ยินเสียงหรือเห็นหน้าของคุณ
คุณทำให้ลูกสงบลงด้วยการสัมผัสได้ด้วย ทารกส่วนใหญ่ชอบได้รับการสัมผัสด้วยความรัก หอมแก้ม ลูบเบา ๆ นวด เขย่าตัว และโอบอุ้ม การสัมผัสเป็นวิธีการสำคัญในการสื่อสารกับลูกของคุณและทำให้ลูกผ่อนคลายลง
อาจมีบางช่วงของวันที่ลูกของคุณร้องไห้มากและคุณไม่อาจปลอบให้ลูกสงบลงได้ง่าย ๆ หากคุณกำลังให้นมลูก พยายามทำให้ลูกผ่อนคลายโดยการให้ลูกดูดนม หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมผง ลองให้ลูกดูดขวดนมหรือจุกนมหลอก
การใช้จุกนมหลอกเพื่อทำให้ลูกผ่อนคลายเป็นความคิดที่ดีรึไม่?
ลูกของคุณจะชอบดูด และการดูดจะช่วยทำให้ลูกผ่อนคลายหากลูกไม่สงบ
ก่อนที่จะให้ลูกดูดจุกนมหลอก ลองคิดถึงวิธีการอื่น ๆ เพื่อทำให้ลูกผ่อนคลายก่อน อันดับแรก ลองให้ลูกดูดนมของคุณแม่หรือให้ดูดขวดนม จากนั้นทำให้ลูกเรอ กอดลูก เขย่าลูกเบา ๆ แล้วดูว่าลูกสงบลงรึไม่ หากลูกยังคงไม่สงบอยู่ คุณอาจพบว่าจุกนมหลอกก็ช่วยให้ลูกสงบลงได้
หากคุณเลือกจะใช้จุกนมหลอก ขอให้คุณมองหาแบบ orthodontic เพราะดีต่อพัฒนาการฟันและเหงือกของลูกมากกว่า
หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมผง คุณสามารถให้ลูกดูดจุกนมหลอกได้เลยตั้งแต่เกิด แต่หากคุณให้ลูกดูดนมแม่ พยายามอย่าให้ลูกดูดจุกนมหลอกจนกว่าคุณจะเข้าใจเรื่องการให้นมดีและลูกก็รู้วิธีการดูดนมดี การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะง่ายขึ้นทั้งสำหรับคุณแม่และทารกเมื่อลูกของคุณอายุได้ราว 6 ถึง 8 สัปดาห์
การให้ลูกดูดจุกนมหลอกเป็นการกระทำที่แตกต่างจากการให้ลูกดูดนมมาก หากคุณต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นการดีที่สุดที่ลูกมีความสุขกับการดูดนมจริง ๆ ก่อนที่ลูกจะเรียนรู้การดูดสิ่งอื่น
ลูกมองเห็นได้ดีแค่ไหน?
การมองเห็นของลูกจะยังคงไม่ชัดเจน อันที่จริงแล้ว ลูกมองเห็นได้เพียงราว 20 ถึง 30 เซนติเมตรเท่านั้น ว่าง่าย ๆ คือ ลูกมองหน้าของคนที่กำลังอุ้มตัวเองอยู่ได้ชัดเจน แต่ไม่มากไปกว่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ใบหน้าของคุณเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับลูกในตอนนี้ ให้ลูกได้เห็นหน้าคุณใกล้ ๆ เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บนใบหน้าของคุณ ลูกจะหลงใหลไปกับหน้าตาและการแสดงสีหน้าต่าง ๆ ของคุณ และตาของลูกจะจับจ้องที่ตาของคุณ
ลูกของคุณจะไวกับแสงสว่างมากซึ่งอาจทำให้ลูกขมวดคิ้วหรือกระพริบตา คุณมักจะพบว่าลูกหันหัวและตาไปทางหน้าต่างหรือที่ที่มีแสงอื่น ๆ ลูกอาจหลงใหลไปกับเงาบนกำแพงโล่ง ๆ ก็ได้ด้วย
แม้จะเพิ่งเกิดใหม่ แต่ลูกของคุณสามารถจดจำใบหน้าและการแสดงท่าทางได้โดยสัญชาตญาณ และบางทีก็เลียนแบบคุณด้วย
ให้ลูกมีโอกาสลอกเลียนแบบการแสดงสีหน้าของคุณดูสิ ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ ๆ ลูกแล้วแลบลิ้นหรือยักคิ้วสัก 2-3 ครั้ง ทำซ้ำ แล้วรอดูว่าลูกจะเลียนแบบท่าทางของคุณหรือไม่ อาจต้องใช้เวลา 2-3 นาทีหรือลูกอาจไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่แน่นอนว่าลูกกำลังมองคุณอยู่
คุณอาจสังเกตช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ทารกแรกเกิดเงียบและตื่นตัว ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเล่นและพูดคุยกับลูก
หากคุณพยายามคุยกับลูกแต่ลูกดูเหมือนไม่ตอบรับอะไร ลูกอาจจะง่วงแล้วหรือถูกสิ่งอื่นดึงความสนใจไปก็ได้
มีเกมอะไรที่เล่นกับทารกเกิดใหม่ได้บ้าง?
ทารกเกิดใหม่หลงใหลสีสันที่ตัดกันมาก ของเล่นสีดำและสีขาว โมบายที่มีสีสันสด ๆ หนังสือภาพสีสันสดใสที่มีภาพวาดเส้นหนา ๆ หน่อยอาจทำให้ลูกชื่นชอบ
ดูปฏิกิริยาของลูกให้ดี ๆ ในขณะที่เป็นการดีที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลก ลูกอาจสนุกกับสิ่งเหล่านี้แค่ช่วงสั้น ๆ ของวันเท่านั้น ลูกอาจจัดการกับการรับรู้อย่างหนึ่งที่เข้ามากระตุ้น เช่น ภาพ หรือ เสียง ณ เวลาหนึ่งได้ แต่ไม่ใช่ทั้งสองอย่างพร้อมกัน
หากลูกรู้สึกว่าถูกกระตุ้นมากเกินไป ลูกจะแสดงให้คุณรู้ เช่น การหาว การหลบสายตา การก้มหรือเอนหลัง การหันหน้าหนี การมีอาการงุ่นง่าน หรือการร้องไห้ ลูกจะบอกให้คุณรู้ว่าลูกชอบอะไร เชื่อรึเปล่าล่ะว่าคุณจะเข้าใจสัญญาณบอกของลูกได้ในทันที
ลูกอาจชื่นชอบเงาสะท้อนของตัวเองด้วยก็ได้ ลองทำให้ลูกเพลิดเพลินด้วยการวางกระจกที่ไม่แตกเอาไว้ด้านข้างเปลของลูกแล้วให้ลูกมองดูสิ ลูกจะยังจำตัวเองไม่ได้ แต่ลูกจะดูความเคลื่อนไหวบนกระจกอย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว
เพลย์ยิม (play gym) หรือเบาะรองนอนที่มีของเล่นน่าสนใจมากมายห้อยเอาไว้ให้ลูกได้ดู จับ หรือฟังเสียง ก็จะทำให้ลูกได้ฝึกทักษะการประสานงานการใช้แขน มือ และนิ้ว และจะทำให้การนอนเป็นเรื่องน่าเบื่อน้อยลงสำหรับลูกด้วย
ในช่วงแรกลูกอาจจะแค่จ้องมองมากกว่าที่จะสัมผัสของเล่นที่ห้อยอยู่ในเพลย์ยิม เนื่องจากลูกยังขยับแขนไม่ได้ดั่งใจเพื่อไปหยิบจับสิ่งต่าง ๆ การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะตามมาทีหลังเมื่อลูกอายุได้ราว 4 เดือน
ลูกของฉันมีพัฒนาการปกติรึเปล่า?
เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันและมีพัฒนาการร่างกายในจังหวะของตัวเอง สิ่งที่เราบอกคุณเป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ ว่าลูกมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเมื่อถึงเวลาแล้วลูกยังไม่มีพัฒนาการตามที่ว่า ลูกก็จะมีพัฒนาการเร็ว ๆ นี้
ถ้าลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด (ก่อน 37 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์) คุณอาจจะพบว่าลูกต้องการเวลามากขึ้นกว่าที่จะทำอะไรได้แบบที่ทารกในวัยเดียวกันทำได้แล้ว ดังนั้นคุณหมอจึงบอกว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีอายุสองแบบ
– อายุตามเวลา คือ อายุที่คำนวนจากวันเกิดของทารก
– อายุที่แท้จริง คือ อายุที่คำนวนจากวันที่มีกำหนดคลอดเดิม
คุณควรวัดพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนดกับอายุที่แท้จริง ไม่ใช่จากวันเกิด คุณหมอจะประเมินพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจากเวลาที่ลูกควรจะเกิดและประเมินทักษะของลูกตามนั้น
หากคุณมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของลูก คุณควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด
The Asianparent Thailand เว็บไซต์และคอมมูนิตี้อันดับหนึ่งที่คุณแม่เลือก นอกจากสาระความรู้ที่เรามอบให้คุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การวางแผนมีลูกแล้ว เรายังมีแอพพลิเคชั่นรวมถึงสื่อมัลติมีเดียหลากหลายที่ช่วยตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณแม่ยุคใหม่ ที่ต้องทำงานและดูแลลูกไปพร้อมกัน ให้มีความมั่นใจและพร้อมในการดูแลลูกทุกช่วงเวลา ตั้งแต่การให้นมบุตร การดูแลตนเองหลังคลอด ท่าออกกำลังกายหลังคลอดเพื่อให้หุ่นของแม่หลังคลอดกลับมาฟิตแอนเฟิร์มอีกครั้ง The Asianparent Thailand ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องการดูแลลูก ความรู้แม่และเด็กที่เต็มเปี่ยม และตอบทุกข้อสงสัยในแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลาง และกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวไทย
ที่มา: www.whattoexpect.com
บทความอื่น ๆ ที่หน้าสนใจ :
รู้หรือไม่? ของเล่นมีกระดิ่ง เสียงกรุ๊งกริ๊ง เสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อให้ลูก
ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก เด็กแรกเกิด–4 เดือน วิธีจัดเตียงนอนที่ปลอดภัย
พัฒนาการภาษาของเด็ก 0 – 8 ปี และวิธีการส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาของลูก