แต่ละช่วงวัยของลูก เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และเติบโต ด้วยความรู้จากสิ่งที่พ่อแม่และครูสั่งสอน สำหรับเด็กวัย 5 ขวบ ก็เริ่มที่จะเข้าใจโลกมากขึ้นแล้ว เหมาะแก่การปลูกฝังความคิด คุณงามความดี ค่านิยม หรือศีลธรรม
ผู้เชี่ยวชาญและพ่อแม่หลายๆ คน เชื่อเหมือนกันว่า เด็กๆ สามารถเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวที่สำคัญได้ ตั้งแต่เล็กๆ ไม่จำเป็นต้องรอจนลูกโต เพราะยิ่งอบรมสิ่งดีๆ สั่งสอนศีลธรรม ให้เด็กรู้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ดี ให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
1.ความซื่อสัตย์
พื้นฐานสำคัญที่ควรปลูกฝังกับลูกวัย 5 ขวบคือ ความซื่อสัตย์ โดยพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้ถึงคุณค่าของคำว่า ซื่อสัตย์สุจริต ง่ายๆ ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เมื่อพ่อแม่แสดงความซื่อสัตย์ต่อคนอื่น ลูกก็จะดำเนินรอยตาม ข้อดีของการที่ลูกรู้จักคำว่า ซื่อสัตย์ได้เร็ว ลูกก็จะพูดความจริงและไม่โกหก
ถ้าจับได้ว่าลูกเริ่มพูดโกหก วิธีแก้ไม่ใช่ขึ้นเสียงดุลูก หรือเลือกวิธีการทำโทษลูก แต่พยายามหาทางให้ลูกพูดความจริงด้วยการโน้มน้าวใจ ให้ลูกไม่รู้สึกผิด แล้วลูกก็จะไม่ปกปิดความผิดด้วยการโกหก
2.ความยุติธรรม
เชื่อเถอะว่าลูกเริ่มเข้าใจคำว่า ผิด และ ถูก ตั้งแต่อายุน้อยกว่านี้แล้ว แต่สิ่งที่ลูกไม่เข้าใจคือ ความยุติธรรม อย่างแรกพ่อแม่ต้องสอนก่อนว่า ความยุติธรรมจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ถ้าลูกทำผิดกฎหมาย ลูกก็ต้องถูกลงโทษ การเริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักเรื่องความยุติธรรมตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยให้ลูกไม่กล้าทำผิด ควบคู่กับการสอนเรื่องการทำสิ่งที่ถูกต้อง ลูกก็จะเลือกทำแต่สิ่งดีๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นเด็กคนอื่นถูกรังแกหรือทะเลาะกันในสนามเด็กเล่น ก็ให้ลูกลองใช้ความยุติธรรมตัดสิน ดูว่าสถานการณ์นั้นเป็นอย่างไรกันแน่ เป็นสถานการณ์ใกล้ตัวที่เด็กจะพบเห็นอยู่แล้ว ก็จะเข้าใจคำว่า ยุติธรรม ได้ง่ายขึ้น
3.ความมุ่งมั่นตั้งใจ
ถ้าลูกรู้จักความมุ่งมั่นตั้งแต่เล็กๆ ก็จะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก พ่อแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักคำนี้ ด้วยการให้ทดลองทำในสิ่งที่ยากและไม่คุ้นเคย เมื่อลูกกล้าทำแล้ว ก็สนับสนุนให้ลูกทำ สอนลูกว่าต้องทุ่มเทและต้องใช้ความตั้งใจ ถึงจะทำสิ่งนั้นได้ ลองส่งเสริมให้ลูกทำในสิ่งที่ยาก จากนั้นยกย่องลูกเมื่อสิ่งนั้นสำเร็จ
ตรงข้ามกับสิ่งที่พ่อแม่ทั่วไปมักเข้าใจผิด ด้วยการชื่นชมเรื่องธรรมดาทั่วไป เช่น การที่ลูกแปรงฟังได้ 3 ครั้งต่อวัน นั่นไม่เกี่ยวกับความมุ่งมั่นเลย เพราะเป็นสิ่งที่ลูกต้องทำอยู่แล้ว
4.ความเห็นอกเห็นใจ
เรื่องนี้อาจจะดูยากไปสำหรับเด็ก แต่ถ้ายกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ลูกก็จะรับรู้และเข้าใจ เพราะเด็กก็สามารถจับความรู้สึกของคนรอบตัวได้ดีไม่แพ้ผู้ใหญ่ เมื่อลูกพูดหรือทำบางอย่างให้คนอื่นรู้สึกดีขึ้้นได้ ลูกก็จะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งนี้คือการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกัน แม่ต้องสอนเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น การมีน้ำใจให้คนอื่นว่า นี่คือสิ่งที่จะทำให้คนอื่นรู้สึกดี ลูกก็จะเรียนรู้ถึงคุณค่าของความเห็นอกเห็นใจ
5.ความรัก
รัก คำที่คุ้นเคยแต่ซ่อนความหมายไว้มากมาย การที่ลูกแสดงความรักต่อพ่อ แม่ พี่น้อง ไม่ได้หมายความว่าลูกจะเข้าใจคุณค่าของคำว่า รัก อย่างแท้จริง ในช่วงนี้ที่ลูกมาแสดงความรักต่อคุณ อย่าลืมที่จะแสดงความรักกลับไป ให้ลูกรู้สึกว่า ความรัก เป็นสิ่งที่มีคุณค่า
ทุกๆ ครอบครัว จึงจำเป็นต้องแสดงความรักต่อกัน ทั้งที่พ่อแม่แสดงความรักให้แก่กัน พร่ำบอกและแสดงความรักต่อลูก ที่สำคัญ ต้องแสดงออกถึงความรักกับปู่ย่าตายายด้วย แล้วสอนให้ลูกเข้าใจถึงความรักในครอบครัวว่ามีค่าและสำคัญมากเพียงไหน
ลูกวัย 5 ขวบเติบโตพอจะเข้าใจความหมายของคำต่างๆ พ่อแม่จึงต้องหมั่นอบรมสั่งสอนสิ่งดีๆ ทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม ให้ลูกรู้ตั้งแต่เล็กๆ เริ่มตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ลูกจะโตเกินกว่าจะรับฟัง
ที่มา : ph.theasianparent.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 เคล็ดลับการเลี้ยงลูกที่อาจหาไม่ได้ในหนังสือ
ตีแผ่ภาพชีวิตจริง “การเลี้ยงลูก” มันช่างวุ่นวายขนาดไหน!