มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ค้นพบว่าในสมองของมนุษย์ มีเซลล์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “Mirror Neuron” หรือ “เซลล์สมองกระจกเงา” เป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ของมนุษย์ เช่นการตอบสนองต่อการมองเห็น การได้ยิน หรือประสาทสัมผัสทั้งหลาย ตัวกระตุ้นที่เรารับผ่านประสาทสัมผัส เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมถึงมนุษย์ โดยเฉพาะผ่านการกระทำของผู้อื่น ถ้าเราต้องการที่จะอยู่รอด เราต้องเข้าใจการกระทำของคนอื่น ถ้าปราศจากสิ่งนี้ ก็ไม่มีสังคมมนุษย์ มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น คือสามารถเรียนรู้จากการสังเกต และเลียนแบบผู้อื่น (1)
ในเรื่องนี้อธิบายได้ในหลายๆ อย่างของทารกและเด็กน้อยที่เกิดมาแล้วเขาสามารถเลียนเสียงพูด สำเนียงภาษาของพ่อแม่หรือแวดล้อมของเขาที่เขาได้ยิน สมองส่วนนี้ทำงานและ action ออกมาจากสิ่งเร้าด้วยระบบประสาทส่วนนี้นั่นเอง เด็กที่เป็นลูกครึ่งสองสัญชาติก็สามารถพูดได้สองภาษาก็เป็นเพราะสมองส่วนนี้ด้วย นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าระบบประสาทนี้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด และช่วงวัย 0-3 ปีเป็นวัยแห่งการเจริญเติบโตสูงสุดของสมองเพราะช่วงวัยดังกล่าวนี้จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการ การดำรงชีวิตอยู่ในช่วงปฐมวัยของมนุษย์ สื่อสารและดำรงชีพอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเรียนรู้จากการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ผ่านเข้ามาใกล้ตัวเขา หรือพฤติกรรมเลียนแบบต่างๆ ที่เรากังวล ซึ่งนั่นก็มีผลมาจากพฤติกรรมการแสดงออกของผู้เลี้ยงดูหรือพ่อแม่นั่นเองค่ะ (2)
อาจจะลองสังเกตตัวเราเองก็ได้นะคะ แม้แต่ภาษาและท่าทางการแสดงออกในบ้าน หรือในกลุ่มเพื่อนก็ยังมีวิธีการพูดที่เหมือนกันๆ ท่าทางเหมือนๆ กัน และอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติและความคิดที่เหมือนกันอีกด้วย เราจึงมักจะได้ยินอีกคำกล่าวที่ว่าอยากให้ชีวิตมีความสุขเช่นไร ประสบความสำเร็จในแบบไหน จงเอาตัวเองไปอยู่ในวงของคนกลุ่มนั้น เข้าใกล้คนกลุ่มนั้น เพราะเป็นเรื่องของสมองในส่วนนี้ที่จะลอกเลียนแบบวิธีการคิดและการแสดงออก วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆไปด้วย
ดังนั้นเมื่อเราทราบที่มาที่ไปของคำว่า “ลูกเป็นกระจกท้อนของพ่อแม่” หรือสุภาษิตด้านบนด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ลองกลับมาทบทวนตัวเราและความคาดหวังทั้งปวงของเราที่มีต่อลูกดูอีกครั้งหนึ่ง
■■ ถ้าอยากให้ลูกพูดชัด ออกเสียงชัด เราต้องพูดคุยออกเสียงชัดเจนกับลูกทุกครั้งแม้ยามเป็นทารกก็ตาม
■■ ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นเด็กที่ร่าเริง ไม่ฉุนเฉียว อารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย เราก็จะต้องไม่แสดงออกในสิ่งนั้นเช่นกัน ไม่โมโหใส่ลูก หรือใช้อารมณ์กับลูก
■■ ถ้าเราอยากให้ลูกรักการอ่าน เราจำเป็นต้องหยิบจับหนังสือมาอ่านให้เป็นนิสัย
■■ ถ้าเราอยากให้ลูกรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ เราจำเป็นจะต้องรู้สึกสนุกในทุกๆ เรื่องเช่นกัน อาจจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ทีละเล็ก เช่น การกินผักที่แสนเอร็ดอร่อย การแปรงฟันที่แสนสนุกสนาน …
■■ ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นเด็กที่แบ่งปัน เราจะต้องเริ่มที่จะเป็นผู้ที่แบ่งปันกับผู้อื่นเพื่อให้เค้าเห็นว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ และมีความสุข
■■ ถ้าเราอยากให้ลูกฟังเรา เราจึงจำเป็นต้องรับฟังลูก
■■ ถ้าเราอยากให้ลูกเราสงบ เราจำเป็นจะต้องมีจิตใจที่สงบ ใช้สติไตร่ตรองและแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ด้วยสมาธิและปัญญา เช่นกัน
■■ สิ่งใดที่เราอยากให้เค้าเป็น และไม่อยากให้เค้าเป็น
จงเริ่มที่ตัวเรา แก้ที่ตัวเราก่อน…
เพราะเราคือคนที่เค้าเฝ้ามองและพร้อมจะเรียนรู้จากเราตลอดเวลา
สุดท้ายบางคนอาจจะสงสัยว่า การเป็นพ่อแม่นั้นถึงกับต้องเสียตัวตนของตัวเองไปเลยหรือ ในทางศาสตร์ของโค้ช เราเชื่อมั่นว่าทุกคนเป็นคนดีและพัฒนาตัวเองได้ ขอเพียงว่าเราตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเราเองเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก แสดงออกมาให้ลูกๆเห็นและสัมผัสได้จนเซลล์สมองส่วนนี้รับรู้และแสดงออกมาได้อย่างงดงามค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
4 วิธีฝึกลูกเดินทางได้ ไม่ง้อแท็บเล็ต
แบบอย่างที่ดีสอนลูกให้รู้จักเคารพซึ่งกันและกัน