การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ เป็นอย่างไร ฝึกลูกให้มีสติ ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย

การมีสติ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเอง สามารถตัดสินใจ และตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อพูดถึงคำว่า “สติ” หลาย ๆ คนคงจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำที่มีอยู่ในสังคมไทยและชีวิตประจำวันของเรามานาน ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา ได้นำ “การมีสติ” (Mindfulness) มาประยุกต์ใช้ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ใช้ประกอบการบำบัดทางจิตวิทยาเพื่อให้การบำบัดนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ การเพิ่มทักษะการมีสติเพื่อเพิ่มหรือลดอะไรบางอย่างในตัวบุคคล

 
ที่ผ่านมา… ในทางจิตวิทยา การมีสติมักจะถูกใช้กับผู้ใหญ่ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง โดยการมีสติถูกใช้อย่างมากกับการลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือ ความเจ็บปวดทางร่างกาย และในเมื่อ “การมีสติ” มีประโยชน์มากมายกับผู้ใหญ่ นักจิตวิทยาจึงพยายามที่จะนำการมีสติมาใช้กับเด็กด้วย…
 
แต่… เมื่อจะนำการมีสติมาใช้กับเด็ก ๆ จึงต้องพยายามทำให้ คำว่า “การมีสติ” มีความชัดเจนและง่าย เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้กับเด็กให้ได้มากที่สุด
 

การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ คืออะไร ?

จากงานวิจัยโดยการสัมภาษณ์เด็ก ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกสติ ผู้ปกครองของเด็ก และคุณครูที่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกสติ เพื่อหาคำตอบว่า…การมีสติฉบับเด็ก ๆ คืออะไร ?
 

พบว่า การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ ควรเน้นที่ การตระหนักรู้ (Awareness) และการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance)

แล้ว… แต่ละอย่างมันหมายถึงอะไรกันล่ะ ???
 
การตระหนักรู้ คือ การที่เด็กรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับพวกเขา
คำว่า “อะไร” ในที่นี้คือ สิ่งที่เด็กสามารถเห็นได้ สัมผัสได้ ได้ยินได้ หรือรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นเอง…
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งการที่เด็กสามารถตระหนักรู้ หรือ รู้ตัวว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเขานั้น สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ความสามารถในการควบคุมตนเอง (Self-control) ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง หรือ สามารถยับยั้งชั่งใจได้
 
ส่วน การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การยอมรับว่า… อะไรก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มันกำลังเกิดขึ้นจริง ๆ !!!
เด็ก ๆ ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และยอมรับว่ามันได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ โดยไม่พยายามหลีกหนีหรือหลีกเลี่ยง พฤติกรรมหลีกหนีของเด็ก ๆ อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนคือ การไม่ยอมไปโรงเรียน (School refusal) ดังนั้น…. การฝึกให้เด็กกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จะช่วยลดพฤติกรรมหลีกหนีหรือหลีกเลี่ยงของเด็ก ๆ ได้
 
สมมติว่า… เด็กทำผิดและถูกคุณครูลงโทษ

หากเด็กมีสติแบบง่าย ๆ ฉบับเด็ก ๆ (ที่ประกอบไปด้วย การตระหนักรู้ และ การยอมรับ)

สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือ… เด็กจะรู้และเข้าใจได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เด็กทำผิดพลาด รวมไปถึง ความคิดหรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะผ่านการพูดคุยและการอธิบายโดยผู้ใหญ่ และ ยอมรับว่าตนเองทำผิด ยอมรับในความรู้สึกผิด โดยไม่พยายามปกปิด
 
ดังนั้น… การมีสติฉบับเด็ก ๆ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเองได้ละเอียดยิ่งขึ้น
ทั้งในแง่ของสาเหตุ ความเป็นไปของเหตุการณ์ (ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 อารมณ์ และ ความคิด) และผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ…
 
และเมื่อเด็กต้องเจอกับเหตุการณ์อื่น ๆ ในอนาคต…
การมีสติฉบับเด็ก ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถตัดสินใจและตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป….
บทความโดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล (อาจารย์น้ำฝน)
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เอกสารอ้างอิง
Felver, J. C., Doerner, E., Jones, J., Kayne, N., & Merrell, K. W. (2013). Mindfulness in school psychology: applications for intervention and professional practice. Psychology in the Schools, 50(6), 531-547.
 
Raveepatarakul, J. (2013). The developments of mindfulness inventory scale and mindfulness enhancement program for eight-to eleven-year-old children. Doctoral dissertation. Bangkok: Chulalongkorn University.
 
Raveepatarakul, J., Suttiwan, P., Iamsupasit, S., & Mikulas, W. L. (2014). A mindfulness enhancement program for Thai 8-to 11-year-old children: effects on mindfulness and depression. Journal of Health Research, 28(5), 335-341.
 
Rempel, K. D. (2012). Mindfulness for children and youth: a review of the literature with an argument for school-based implementation. Canadian Journal of Counseling and Psychotherapy, 46(3), 201-220.
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team