โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กันยายน 2558 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 80,951 ราย เสียชีวิตแล้ว 82 ราย ซึ่งในเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้มักพบว่ามีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ละเลยการพาลูกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้นะคะ ขอยกตัวอย่าง กรณีเด็กชายอายุ 10 ปี เป็นไข้มา 4 วัน คุณพ่อซื้อยาลดไข้ให้กิน โดยไม่ได้ไปหาหมอ พอวันที่ 2 ของไข้ เด็กเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กินอะไรไม่ลง จนวันที่ มาโรงพยาบาล เด็กนอนซึม บ่นปวดท้อง กินอะไรก็อาเจียนหมด และมีอาเจียนเป็น เลือดดำๆ มาถึงโรงพยาบาลหมอพบว่าไม่มีไข้ แต่เด็กมือเท้าเย็น ความดันโลหิต ต่ำผิดปกติ หมอบอกว่าเด็กช็อก ต้องนอนโรงพยาบาลและรีบให้การรักษา รายนี้โชคดี เด็กหายเป็นปกติและกลับบ้านได้ หลังจากอยู่โรงพยาบาล 3 วัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคไข้เลือดออก?
คุณพ่อคุณแม่ควรสงสัยไว้ก่อนเลยว่าลูกที่มีอาการไข้สูงลอยแม้ช่วงปลายฝนต้นหนาวอาจเป็นโรคไข้เลือดออกจึงควรรีบพาลูกไปให้หมอตรวจรักษาแต่เนิ่นๆนะคะ แต่ถึงหมอจะบอกว่าไม่ใช่โรคนี้ก็ควรสังเกตลูกต่อนะคะว่าถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออกปรากฏให้เห็น เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มักไม่มีอาการของหวัดชัดเจน มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตและกดเจ็บ มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง เลือดออกบริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ก็ควรพาลูกมาหาหมอตรวจซ้ำ โดยเฉพาะหากเข้าสู่ระยะรุนแรงคือมีภาวะช็อกซึ่งจะมีอาการที่สังเกตได้คือ ลูกมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว และเบาลง ก็ต้องรีบพาลูกมาโรงพยาบาลด่วนเลยนะคะเพราะลูกมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
โรคไข้เลือดออกรักษายังไง?
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะจึงเป็นการรักษาตามอาการคือ ให้ยาลดไข้ แต่หากลูกกินยาลดไข้แล้วยังมีไข้สูงก็ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นร่วมด้วย แต่เด็กที่มีอาการอาเจียนบ่อย หมอจะให้ยาแก้อาเจียนและน้ำเกลือชนิดกินและอาจรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหากเห็นว่าเด็กมีอาการรุนแรง (เช่น ไข้สูงมาก ชัก อาเจียนบ่อยมาก กินอาหารไม่ได้ มีเลือดออกง่าย ซึม หรือตรวจเลือดแล้วพบเกล็ดเลือดต่ำ) หรือกำลังจะเข้าสู่ระยะช็อก โดยการรักษาที่สำคัญจะเป็นการให้น้ำเกลือทาง เส้นเลือด จนกว่าเด็กจะเข้าสู่ระยะฟื้น
ให้ยาอะไรลูกกินเพื่อลดไข้?
หากสงสัยว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออกสามารถให้ลูกกินยาพาราเซตามอล (paracetamol) เพื่อลดไข้ได้(ถ้าลูกไม่มีประวัติแพ้ยาตัวนี้) โดยขนาดยาพาราเซตามอลชนิดน้ำคือ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมงเวลามีไข้ โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้งและไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 3-5 วัน ห้ามให้ลูกกินยาแอสไพรินและไอบูโปรเฟนเด็ดขาด เพราะแม้จะเป็นยาลดไข้เช่นกัน แต่ยาทั้งสองชนิดนี้จะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน ระคายกระเพาะ ทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญตัวยาแอสไพรินอาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า เรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งมีความรุนแรงจนสามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เบาใจลง สามารถเตรียมรับมือกับโรคไข้เลือดออกที่อาจเกิดกับลูกของเราได้นะคะ
ที่มา :
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :
เลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี มีอีคิวสูง 10 วิธีเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี มีอีคิวสูง (E.Q.)
กันไว้ดีกว่าแก้!!!ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก
ไหลตายในเด็ก SIDS โรคไหลตายในทารก พรากชีวิตทารกจากอ้อมอกแม่ไปตลอดกาล