คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินความเชื่อนี้ไหมคะ เด็กที่ถนัดซ้ายจะเรียนเก่ง เด็กที่ถนัดขวาจะเป็นนักกีฬา คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เลยจะหาหลักฐานว่าโตไปลูกเราเก่งแน่ ๆ และสิ่งที่จะบ่งบอกได้คือการสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ยังไงละคะ ลูกจะถนัดซ้ายหรือขวา คุณพ่อคุณแม่ และสภาพแวดล้อมก็มีส่วนนะ หรือความกังวลว่าลูกถนัดซ้ายจะมีปัญหาในการใช้ชีวิตบ้างหรือเปล่า มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเถอะ
ลูกถนัดมือไหน ลูกจะถนัดซ้ายหรือขวา รู้ได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?
สิ่งที่ทำให้รู้ได้ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่ถนัดมือไหน จะสามารถสังเกตเห็นได้เมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไปค่ะ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่แน่นอน ลูกจะสามารถสลับสับเปลี่ยน ใช้มือทั้งสองข้างไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงช่วงวัยอนุบาล ดังนั้นอย่าเพิ่งเครียดไป ถ้าลูกใช้แต่มือข้างซ้ายอย่างเดียว หรือข้างขวาอย่างเดียว ในช่วง 3 เดือนแรก หรือไม่ยอมใช้มือขวาเลย หรือใช้ทั้งสองมือทุกครั้งเลย เพราะเดี๋ยวลูกก็จะพยายามลองเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ยังฟันธงไม่ได้หรอกนะคะ
เด็ก ๆ ต้องการเวลา และการลงมือทำเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณมือทั้งสองข้าง โดยใช้มือข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า และอีกข้างเพื่อช่วยเสริม ในการทำงานร่วมกันให้แม่นยำมากขึ้น เช่น การเย็บผ้า หรือถือปากกา ดังนั้นเมื่อเด็ก ๆ อายุ 4 ขวบ จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น และค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ลูกถนัดใช้มือข้างไหนกันแน่ เป็นผลมาจากการฝึกเขียน หรือจับสิ่งของด้วยตนเองมากขึ้น ในช่วงวัยอนุบาลนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ถนัดมือซ้าย ต่างจากถนัดมือขวาอย่างไร? ลูกถนัดมือซ้ายฉลาดจริงหรือไม่ ?
วิดีโอจาก : VOICE TV
ลูกถนัดมือไหน ลูกจะถนัดซ้ายหรือขวา บอกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
มีการเก็บข้อมูล และสังเกตการณ์ว่าเด็กทารกที่อยู่ในครรภ์คุณแม่นั้นดูดนิ้วข้างไหน และโตมาจะมีโอกาสที่จะถนัดนิ้วข้างนั้นหรือไม่ ? โดยการเก็บข้อมูลเด็กทารกทั้งหมดจำนวน 75 คน ที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ และเก็บข้อมูลอีกครั้งเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 12 ปี ผลการสำรวจพบว่า เด็กที่ดูดนิ้วมือขวาทั้ง 60 คน โตขึ้นมาก็จะถนัดขวาค่ะ และเด็กที่เหลือจำนวน 10-15 คนที่ดูดนิ้วมือซ้าย โตมาก็ถนัดซ้ายเหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงผลการสำรวจเท่านั้น ยังไม่สามารถนำมาตัดสินใจความถนัดของลูกได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
พ่อแม่ถนัดมือข้างไหน ลูกก็ทำตาม
แน่นอนว่าด้วยตัวลูกน้อยเองนั้น เขามีมือที่ถนัดอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าเขาเห็นคุณพ่อคุณแม่ใช้มือซ้ายกินข้าว หรือใช้มือข้างไหนบ่อย ๆ เขาอาจจะทำตาม เช่นเดียวกันกับการอุ้มลูก หากคุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกข้างไหนบ่อย ๆ ลูกอาจจะใช้มือข้างที่สะดวกบ่อย ๆ เช่นเดียวกัน และเมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็เป็นไปได้ ที่ลูกจะถนัดและชินกับการใช้มือข้างนั้น ๆ ไปโดยปริยาย ถึงแม้จะเคยมีความถนัดข้างอื่นมาก่อน
จึงสามารถพูดได้ว่า ปัจจัยภายนอก อย่างคุณพ่อคุณแม่ และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้ลูกถนัดในมือข้างซ้าย หรือขวาก็ได้ค่ะ แต่ทั้งนี้หากลูกใช้มือทั้งสองข้างได้ดีเหมือน ๆ กัน หรือพอ ๆ กัน จะส่งผลให้ลูกน้อยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้นานยิ่งขึ้น เพราะเวลาที่ลูกเมื่อย เขาก็แค่สลับไปใช้มืออีกข้าง เมื่อเทียบกับเด็กที่ถนัดแค่มือข้างเดียวเท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 13 สิงหา วันคนถนัดซ้ายสากล กับความจริงที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
ลูกถนัดซ้ายแปลกไหม ต้องฝึกขวาหรือเปล่า ?
จากสถิติพบว่าทั่วโลกมีคนถนัดขวาประมาณ 90 % ขณะที่มีคนถนัดซ้ายประมาณ 10 % โดย ศ.คลินิกพญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ กุมารแพทย์ แพทย์จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับในหลายประเทศนั้นมีบริการ และการรองรับสำหรับผู้ที่มีความถนัดมือซ้าย หลายประเทศจึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนไทยอาจมีความกังวลถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ และความแตกต่างจุดนี้อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตหรือไม่ จนบางครอบครัว อาจตัดสินใจที่จะหาวิธีฝึกให้ลูกที่ถนัดมือซ้ายให้หันมาใช้มือขวาแทน แต่การทำแบบนี้อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด และเราเชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนอาจยังไม่รู้
เนื่องด้วยสมองจะแบ่งการทำงานกันระหว่างซีกซ้าย และซีกขวา ซึ่งสมองที่ควบคุมการทำงานของมือจะทำการควบคุมการพูดด้วย ดังนั้นเมื่อมีการฝึกลูกให้เปลี่ยนความถนัดของมือในภายหลัง จะส่งผลให้สมองจำเป็นต้องทำงานสลับกัน สุดท้ายเด็กอาจมีปัญหาในเรื่องของการพูด การสื่อสาร หรือหยุดพูดไประยะเวลาหนึ่งได้ ดังนั้นหากผู้ปกครองมีความต้องการจะฝึกใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความถนัดให้ดี หากลูกน้อยมีความเคยชินกับมือซ้ายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้
หากจะฝึกลูกควรทำอย่างนุ่มนวล
หากคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจแล้วว่าอยากจะฝึกให้ลูกถนัดมือขวาแทนการใช้มือซ้าย ก็ควรฝึกจากการใช้ชีวิตประจำวันง่าย ๆ เน้นการแนะนำ ไม่ใช่การบังคับ หรือการกดดันเด็ก เช่น
- ฝึกให้ลูกรับสิ่งของที่เรายื่นให้ด้วยมือขวาแทน
- ให้ลองทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ลูกชอบเช่น ให้ลูกฝึกวาดรูปด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด
- ห้ามจับผิด หรือว่าลูก เมื่อลูกใช้มือซ้าย ขณะที่กำลังฝึก
- อาจใช้ของรางวัลมาเป็นแรงจูงใจ ให้ลูกเกิดความกระตือรือร้นในการฝึกมากขึ้น
- เน้นการฝึกบ่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ไม่ใช้เน้นไปที่การฝืนฝึกนาน ๆ ใน 1 ครั้ง
ลูกจะถนัดซ้ายหรือขวา ความจริงแล้วไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวของลูกดั่งที่คุณพ่อคุณแม่บางท่านกังวล หากลูกมีความถนัด ใช้มือซ้าย หรือมือขวาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แบบคัดลายมือ วิธีสอนลูกเขียนหนังสือต้องทำอย่างไร ? เริ่มตรงไหน ?
แบบฝึกหัดคัดวัน และเดือน แจกฟรีแบบฝึกหัดให้ลูกฝึกเขียน ดาวน์โหลดเลย !
5 เคล็ดลับเลือก “ดินสอ” ให้เหมาะกับลูก เพราะดินสอเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มาข้อมูล : babyscience samitivejhospitals