คณะนักวิจัยจากสภาวิจัยทางการแพทย์ (MRC) ระบุว่าการเชื่อมโยงพฤติกรรมไม่ดีกับการดูโทรทัศน์เป็นความคิดที่ผิด หลังจากศึกษาพฤติกรรมนักเรียนระดับประถมศึกษากว่า 11,000 คน
แม้จะพบว่าทั้งพฤติกรรมไม่ดีและการดูโทรทัศน์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกันเพียงเล็กน้อย แต่คณะนักวิจัยกล่าวว่าอิทธิพลอื่น เช่น รูปแบบการเลี้ยงดูลูก น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด
ทว่านักวิจัยยังคงพูดถึง “การจำกัดเวลาดูทีวีและเล่นเกมคอมพิวเตอร์”
ทั้งนี้เนื่องจากการใช้เวลาอยู่หน้าทีวีมาก ๆ ทุกวันอาจจะลดเวลาที่เด็กควรจะใช้ทำกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ เช่น เล่นกับเพื่อนและทำการบ้านลง
งานวิจัยจากอเมริการะบุว่า การให้ลูกดูทีวีตั้งแต่ยังเล็กอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสมาธิได้เมื่ออายุเจ็ดปี
การศึกษาของ MRC นี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ Archives of Diseases in Childhood โดยดร.อลิสัน พาร์คส์พร้อมคณะทำงานได้สัมภาษณ์คุณแม่ชาวสหราชอาณาจักรทุกกลุ่มสถานะและอาชีพถึงนิสัยการดูทีวีและพฤติกรรมทั่วไปของลูก ๆ
“จากปัญหาทางพฤติกรรมและทางสังคมที่เรากำหนดในการศึกษา เราพบว่าเวลาที่ใช้ในการดูทีวีไม่มีผลต่อปัญหาส่วนใหญ่ จะมีผลบ้างเล็กน้อยที่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น การชกต่อยหรือการข่มเหงรังแกผู้อื่น” ดร.อลิสัน พาร์คส์ หัวหน้าคณะนักวิจัยกล่าว
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา คู่มือแนวทางการดูแลเด็กจากกุมารแพทย์ระบุไว้ว่า เวลาสำหรับการดูทีวีไม่ควรเกินวันละสองชั่วโมง โดยเป็นรายการเกี่ยวกับการศึกษาและปราศจากความรุนแรง
ที่มา: บีบีซี