พ่อแม่ต่างก็อยากให้ลูกตัวเองมีความสุข เห็นใจคนอื่น เชื่อมั่นในตนเอง มีความเชื่อมั่นและเคารพในตนเองสูง และเก่งในเรื่องต่าง ๆ ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ความมั่นใจเป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดสำหรับข้ออื่น ๆ ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ “คุณจะเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจได้อย่างไร?”
การเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจในตนเอง
ที่มาของความมั่นใจมาจากการเชื่อในตนเอง และการที่จะสร้างความมั่นใจในตัวลูก เราต้องเข้าใจก่อนว่าความเชื่อของเขามีผลต่อพฤติกรรมเขาอย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว ความเชื่อคือสิ่งที่เรายอมรับว่าเป็นความจริง นี่รวมไปถึงการคิดไปเอง สรุปเอง และการคาดเดาเอง กุญแจสำคัญของความเชื่อคือเป็นสิ่งที่เติมเต็มในตัวเอง ความเชื่อทำให้เกิดความคาดหวัง ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้ในการเรียนรู้และรับประสบการณ์ในโลกที่เป็นอยู่ นายเฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ดมอเตอร์ เคยกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า “ทำได้หรือทำไม่ได้ เริ่มต้นจากความเชื่อของคุณ” เมื่อเด็กเชื่อว่าเขาสามารถทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้ เขามีแนวโน้มที่จะทำมันสำเร็จ และถ้าเขาล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น เขาจะพยายามทำหลายครั้งจนกว่าเขาจะทำมันสำเร็จ แต่ถ้าเด็กเชื่อว่าเขาทำไม่ได้ เขามีแนวโน้มที่จะไม่ลองทำมันด้วยซ้ำ และถ้าเขาลงมือทำและล้มเหลว เขาจะคิดว่าความล้มเหลวนั้นเป็นสิ่งยืนยันความคิดของเขาว่าเขาทำไม่ได้
สร้างความมั่นใจ
การปลูกฝังความมั่นใจในเด็กเป็นการทำไปทีละขั้น นั่นหมายความว่า คุณจำเป็นต้องช่วยลูกสร้างความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งความพยายามออกเป็นแต่ละขั้น เพราะวิธีนี้จะทำให้ง่าย และจากนั้นค่อย ๆ สร้างแรงผลักดันจากการประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ คุณจะพบว่าบางครั้งลูกคุณจะสร้างแรงผลักดันด้วยตัวของเขาเอง ฉันจำได้ว่าฉันเคยนั่งดูลูกชายอายุ 6 ขวบแสดงบทบาทแบบโลดโผนโดยการกระโดดจากชั้นบนของเตียงสองชั้นลงสู่พื้นห้อง ใจหนึ่งฉันอยากจะหยุดลูกไม่ให้ทำสิ่งที่อันตรายเช่นนั้น แต่อีกใจก็อดสงสัยไม่ได้ว่าลูกจะวางแผนกระบวนการนี้อย่างไร ลูกเริ่มจากการกระโดดจากขั้นบันไดตรงกลางและไต่ขึ้นไปบนบันไดอย่างต่อเนื่องจนถึงเตียงนอนชั้นบน ในระหว่างนั้น ฉันได้ยินลูกบอกกับตัวเองว่า “ฉันทำได้ ฉันทำได้” และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในที่สุดเขาก็ทำได้
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีการเคารพและเชื่อมั่นในตัวเองน้อยลงนั้นคือ “ความกลัว” และแน่นนอน ความกลัวมีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า “ฉันทำไม่ได้หรอก” และความเชื่อเช่นนี้มาจากประสบการณ์ในอดีต เด็กที่เคยบาดเจ็บจากการหัดขี่จักรยานเป็นครั้งแรกอาจจะกลัวที่จะลองขี่อีกครั้ง ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ หน้าที่ของเราคือช่วยทำให้ลูกรับรู้ว่าแท้จริงแล้วความกลัวที่เขามีคืออะไร จากนั้นก็แนะนำให้ลูกลองบอกคุณว่า พวกเขาจะจัดการกับความกลัวนี้อย่างไร มีหลายครั้งที่เราพบว่าเด็ก ๆ กลัวเพื่อนหัวเราะเยาะที่ตกจากจักรยานมากกว่ากลัวเจ็บตัวด้วยซ้ำ ปัญหาแรกเราอาจแก้ไขโดยการเปลี่ยนไปหัดในสถานที่ที่เป็นส่วนตัวกว่า และอีกปัญหาหนึ่งคุณอาจช่วยประคองลูกจนกว่าลูกจะพร้อมที่จะขี่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องให้กำลังใจลูกและอยู่เคียงข้างลูกเพื่อช่วยเหลือในสิ่งเหล่านี้ และที่สำคัญ พยายามอย่าให้ลูกมีความเชื่อในตนเองในทางลบ ผู้ใหญ่บางคนไม่สามารถที่จะเอาความกลัวที่เกิดในวัยเด็กออกไปได้ และความกลัวนี้ก็จะอยู่กับพวกเขาไปตลอด
ลูกขี้ขลาด ก็คงต้องโทษคุณนั่นแหละ!
ไม่ว่าลูกคุณจะทำอะไรก็ตาม การสร้างความมั่นใจมักเกี่ยวเนื่องกับการให้คำแนะนำลูกให้ทำต่อไป จากจุดเริ่มต้นให้ไปถึงระดับกลาง หรือระดับสูง มันขึ้นอยู่กับคุณว่าคุณจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูกของคุณได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนสอนการเล่นสเก็ตส่วนใหญ่เราจะได้ยินครูฝึกบอกกับนักเรียนว่าให้โน้มตัวไปข้างหน้า หากนักเรียนคิดว่าตัวเองเสียการทรงตัว ถ้าหากครูฝึกบอกว่า “อย่าล้มนะ” หรือ “ให้ระวังเข้าไว้” สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรเลย การที่ครูฝึกบอกให้โน้มตัวไปข้างหน้านั้นเป็นการเพิ่มความปกป้องให้นักเรียน และสอนวิธีการล้มที่จะไม่ทำให้นักเรียนเกิดความกลัว และเมื่อเด็ก “ล้มด้วยความมั่นใจ” เขาจะไม่กลัวที่จะล้ม และนี่จะทำให้เขามีสมาธิในการเรียนรู้ทักษะหรือเทคนิคที่ท้าทายหรือซับซ้อนในการเรียนสเก็ตมากขึ้น
รูปแบบการให้กำลังใจที่ดีที่สุดคือการแสดงความเชื่อในความสามารถลูกอย่างเปิดเผย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความมั่นใจให้ลูก คือคุณรับรู้ในสิ่งที่ลูกทำถูกต้อง และแสดงออกถึงการรับรู้นั้นในเวลาอันเหมาะสม คุณอาจพูดบางประโยค เช่น “ถูกแล้วลูก” หรือ “ลูกทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” เพราะคำพูดเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยยืนยันกับลูกว่าเขาทำได้ดี สิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งเหล่านี้คือการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อมั่นในตนเองของลูกได้ดีที่สุด
บทสรุป: ต่อไปนี้เป็นกุญแจสำคัญในการเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจในตนเอง
- ส่งเสริมให้ลูกเชื่อในตัวเอง พยายามให้ลูกพูดกับตัวเองว่า “ใช่ ฉันทำได้”
- แยกขั้นตอนเพื่อความสำเร็จ แบ่งแยกระยะการผลักดันลูกเป็นทีละขั้นตอน
- สร้างแรงผลักดันให้กับลูกจากการประสบความสำเร็จแรก ๆ
- แนะนำให้ลูกรับรู้ความกลัวของตัวเองและกระตุ้นให้เขาท้าทายกับความกลัวที่เขามี
- สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่
- แสดงออกถึงการรับรู้ในทันทีเมื่อลูกทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- ไม่วิจารณ์ลูก
- ทำเป็นตัวอย่างในการสร้างความมั่นใจในตนเอง