ห่อตัวลูกนอน จำเป็นไหม ลูกติดห่อตัว ไม่ห่อ ไม่ยอมนอน แก้ยังไง?

undefined

ห่อตัวลูกนอน จำเป็นไหม เราควรห่อตัวลูกไปจนถึงเมื่อไหร่ และหากลูกติดการห่อตัว ไม่ห่อ ไม่ยอมนอน จะมีวิธีปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เป็นไปอย่างนุ่มนวล

การห่อตัวทารกแรกเกิดเป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยม ด้วยเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และนอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้น แต่คำถามที่ตามมาคือ ห่อตัวลูกนอน จำเป็นไหม เราควรห่อตัวลูกไปจนถึงเมื่อไหร่ และหากลูกยังติดการห่อตัว ไม่ห่อ ไม่ยอมนอน จะมีวิธีปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เป็นไปอย่างนุ่มนวล ไม่เป็นการฝืนใจลูกจนเกินไป

 

การห่อตัวคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ?

การห่อตัวทารก คือ การห่อตัวลูกน้อยอย่างกระชับด้วยผ้าเนื้อนุ่ม เพื่อให้ทารกรู้สึกเหมือนถูกโอบกอด ซึ่งเลียนแบบความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยขณะอยู่ในครรภ์แม่ วิธีนี้มีประโยชน์สำหรับทารกแรกเกิดในการช่วยลดอาการผวาที่ทำให้ทารกสะดุ้งตื่น นอกจากนี้ การห่อตัวยังช่วยสร้างความสงบและอาจช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย

 

ห่อตัวลูกนอน จำเป็นไหม ?

ความจำเป็นของการห่อตัวทารกนั้น ไม่ได้จำเป็นสำหรับทารกทุกคน และไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำไปตลอดค่ะ ทารกบางคนอาจไม่ชอบการห่อตัวเลย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้อยเป็นหลัก

ในช่วงแรกเกิดถึงประมาณ 2-3 เดือน การห่อตัวลูกนอนอาจจำเป็น เพื่อช่วยให้สงบและนอนหลับได้ดีขึ้น หากทารกมีอาการต่อไปนี้

  • มีอาการผวา (Moro reflex): การห่อตัวช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของแขน ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและไม่ตื่นตกใจง่าย
  • รู้สึกไม่สบายตัวหรือร้องกวนมาก: การห่อตัวอาจช่วยให้ทารกรู้สึกเหมือนถูกโอบกอด ทำให้สงบและผ่อนคลาย
  • นอนหลับยาก: การห่อตัวอาจช่วยให้ทารกนอนหลับได้นานขึ้นและหลับได้สนิทขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นของการห่อตัวจะลดลงเมื่อทารกเริ่มมีพัฒนาการที่สำคัญ เช่น

  • เริ่มพลิกคว่ำเองได้: เมื่อทารกสามารถพลิกตัวได้แล้ว การห่อตัวจะกลายเป็นอันตราย เพราะหากพลิกคว่ำแล้วไม่สามารถพลิกกลับมาได้ อาจเสี่ยงต่อการหายใจไม่ออก
  • เริ่มแสดงสัญญาณว่าไม่ชอบการถูกห่อตัว: ทารกบางคนอาจดิ้นรน พยายามแกะผ้าห่อตัว หรือร้องไห้เมื่อถูกห่อ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าพวกเขาไม่ต้องการการห่อตัวอีกต่อไป

ห่อตัวลูกนอน จำเป็นไหม

เมื่อลูกน้อยเริ่มขยับ…ข้อจำกัดและความเสี่ยงของการ “ห่อตัว” ที่ต้องระวัง

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามพลิกตัว หรือขยับแขนขาอย่างคล่องแคล่ว การห่อตัวอาจเริ่มส่งผลเสียมากกว่าผลดี ดังนี้

  • จำกัดอิสระและการพัฒนากล้ามเนื้อ: การห่อตัวจะจำกัดการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของลูก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนากล้ามเนื้อและการเรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกาย
  • เพิ่มความเสี่ยงภาวะสะโพกหลุด (Hip Dysplasia): หากห่อตัวโดยให้ขาทั้งสองข้างเหยียดตรงและชิดกัน จะเป็นการขัดขวางพัฒนาการตามธรรมชาติของข้อต่อสะโพก และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสะโพกหลุดได้ การห่อตัวที่ถูกต้องคือต้องปล่อยให้ขามีอิสระในการงอและกางออกเล็กน้อยคล้ายท่ากบ
  • ขัดขวางการฝึกนอนหลับด้วยตนเอง: ในวัยที่ลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะปลอบตัวเองและนอนหลับได้ด้วยตนเอง การถูกห่อตัวอาจเป็นอุปสรรค เพราะเขาจะไม่สามารถขยับหาท่าที่สบาย หรือใช้มือและเท้าในการปลอบประโลมตัวเองได้

 

ลูกติดการห่อตัว ไม่ห่อ ไม่ยอมนอน แก้ยังไง ?

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น แต่ยังนอนเองไม่ได้ ยังคงติดการห่อตัวนอน คุณแม่อาจใช้วิธีการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

1. เริ่มต้นที่เวลางีบกลางวัน

ลองให้ลูกงีบหลับในช่วงสั้นๆ ของวันโดยไม่ห่อตัว เพื่อให้ลูกค่อยๆ คุ้นเคยกับการนอนโดยไม่มีผ้าห่อตัว

2. ค่อยๆ คลายผ้าห่อตัว

ลองห่อตัวลูกให้หลวมขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดความรู้สึกถูกจำกัด ค่อยๆ ปล่อยแขนข้างหนึ่งของลูกออกมาจากผ้าห่อตัว สังเกตปฏิกิริยาของลูก เมื่อลูกปรับตัวได้ดีกับแขนข้างเดียวที่เป็นอิสระแล้ว ค่อยๆ ปล่อยแขนอีกข้าง

3. สร้างบรรยากาศการนอนหลับที่ผ่อนคลาย

จัดห้องนอนให้มืดสนิท เงียบสงบ และมีอุณหภูมิที่สบาย เพื่อช่วยส่งเสริมการนอนหลับที่ดี

4. สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่สม่ำเสมอ

การทำกิจกรรมเดิมๆ ก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น นวดตัวเบาๆ หรืออ่านนิทาน และวางลูกนอนในเวลาเดิมทุกวัน แม้ในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อสร้างวงจรการนอนหลับที่เป็นปกติ และช่วยให้ลูกรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว

5. ใช้เสียง White Noise

เสียงกล่อมที่ต่อเนื่อง เช่น เสียงพัดลม เสียงเครื่องดูดฝุ่นเบาๆ หรือแอปพลิเคชัน White Noise จะช่วยกลบเสียงรบกวนรอบข้าง สร้างบรรยากาศที่สงบ และเลียนแบบเสียงที่ลูกเคยได้ยินในครรภ์แม่ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัย

6. อ้อมกอดโยกเบาๆ

การกอดและโยกเบาๆ อย่างอ่อนโยนจนลูกเริ่มง่วง จะช่วยให้เขารู้สึกถึงความรักและความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกเริ่มคลายความตื่นตัวและง่วงแล้ว ค่อยๆ วางลงบนที่นอนอย่างนุ่มนวล

 

ห่อตัวลูกนอน จำเป็นไหม

 

7. ใช้ถุงนอนเด็ก (Sleep Sack) เป็นตัวช่วย

ให้ความอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัยคล้ายการห่อตัว แต่ไม่จำกัดการเคลื่อนไหวของแขนและขา

8. ตุ๊กตาเน่าเพื่อนซี้

การให้ลูกมีตุ๊กตาเน่าตัวโปรดที่นุ่มนิ่มและคุ้นเคย อาจช่วยให้เขารู้สึกมีเพื่อนอยู่เคียงข้างและลดความกังวลเมื่อต้องนอนคนเดียว

9. ผ้าห่มผืนโปรด

ผ้าห่มเนื้อนุ่มผืนเล็กๆ ที่มีกลิ่นคุ้นเคยของคุณแม่ อาจช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย (ควรเลือกผ้าห่มที่ไม่หนาหรือไม่ยาวเกินไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการหายใจไม่ออก)

10. ให้ความมั่นใจและปลอบโยนอย่างนุ่มนวล

หากลูกตื่นกลางดึกและดูเหมือนต้องการการห่อตัว อย่าเพิ่งรีบอุ้ม ลองใช้วิธีตบเบาๆ ที่หลังหรือพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนเพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัย

11. สังเกตและปรับเปลี่ยนตามลูก

หมั่นสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้อย หากลูกมีอาการไม่สบายตัว ตื่นบ่อย หรือร้องไห้มาก คุณแม่อาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้ช้าลง หรือลองวิธีอื่นที่เหมาะกับลูกมากกว่า

12. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อไม่แน่ใจ

หากคุณแม่มีความกังวลหรือรู้สึกว่าการปรับเปลี่ยนเป็นไปได้ยาก ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับของเด็กเพื่อขอคำแนะนำ


การเลิกห่อตัวอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าลูกจะปรับตัวได้เต็มที่ หากลูกร้องไห้อย่างหนักและดูเหมือนไม่สบายใจจริงๆ สามารถกลับไปห่อตัวหลวมๆ ชั่วคราว แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในวันถัดไป คุณแม่อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะ ให้โอกาสลูกน้อยค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวไปทีละน้อย

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกนอนผวา ร้องไห้ เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจ และรับมืออย่างเหมาะสม

ทารกง่วงแต่ไม่ยอมนอน ทำไงดี? แนะวิธีแก้ ก่อนกระทบพัฒนาการลูกน้อย!

7 วิธีสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก เริ่มตั้งแต่แรกเกิด นำทางลูกไปตลอดชีวิต

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!