ภาคเหนือโดดเด่นไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรมต่าง ๆ แม้แต่ ประเพณีของภาคเหนือ ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่าภาคอื่น ๆ เลย ทั้งหมดเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี หากใครกำลังมองหางานประเพณีที่น่าสนใจ เพื่อพาลูก ๆ ไปเที่ยวชมเราก็มีมาแนะนำให้ด้วยเช่นกัน
4 ประเพณีของภาคเหนือ ที่น่าสนใจ สืบทอดกันมาอย่างช้านาน
สำหรับภาคเหนือนั้น ถือว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทย ที่ทั้งคนไทยเองหรือชาวต่างชาติ ชอบเดินทางไปท่องเที่ยวกันอยู่บ่อย ๆ ประกอบไปด้วยภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงราย, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดน่าน, จังหวัดพะเยา, จังหวัดแพร่, จังหวัดแม่ฮ่องสอน, จังหวัดลำปาง, จังหวัดลำพูน และจังหวัดอุตรดิตถ์ อีกส่วนคือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตาก, จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดพิจิตร, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี โดยจังหวัดเหล่านี้ล้วนมีประเพณีที่น่าสนใจอยู่แล้ว ทั้งที่เราเห็นกันตามทีวี หรือประเพณีทางภาคเหนือ ที่ถูกจัดกันมานานแสนนาน แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ก็มี วันนี้เราจะเอาประเพณีภาคเหนือที่ไหนมาให้เรียนรู้กันบ้าง ติดตามบทความนี้ได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดประวัติ 4 ประเพณีของภาคกลาง ที่หลายคนต้องเอ๊ะมีด้วยเหรอนี่
วิดีโอจาก : ผอ.หนุ่ม ครับ
ประเพณีการฟ้อนผีปู่ย่า
สถานที่ : จังหวัดลำปาง
ประเพณีการฟ้อนผีปู่ย่า (การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ) มีองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ ดนตรีสำหรับผี หรือเจ้าได้เสพอาหาร และม่วนฟ้อนรำกัน พิธีกรรมนี้จะทำในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงช่วงเข้าฤดูฝน การนับถือผีปู่ย่าของชาวเหนือนั้นมีแพร่หลายอยู่ทั่วทุกจังหวัด ปัจจุบันได้หายไปไม่น้อย แต่พิธีกรรมความเชื่อแบบนี้ยังมีอยู่ในจังหวัดลำปางมากพอสมควร จนอาจกล่าวได้ว่ามีมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ จะหาดูได้ตามเขตเมืองเก่า และตามชานเมืองทั่วไป
ประเพณีฟ้อนผีนั้นค่อนข้างเป็นปริศนา อาจมีมานานแค่ไหนยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่อาจมาจากความเชื่อแบบดั้งเดิม ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเผยแพร่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ผีปู่ย่าที่นับถือกันนี้มี 2 ชนิด คือ ผีมด และผีเม็ง อาจมีการแต่งงานจากกลุ่มคนที่นับถือต่างกัน เป็นการผสมผสานความเชื่อขึ้นใหม่ เรียกว่า “ตระกูลผีมดซอนเม็ง” โดยจะมีโครงสร้างหน้าที่ในตระกูลด้วย ดังนี้
- เจ้าที่ : เป็นหัวหน้าเรียกว่า “เค้าผี” มีหอผีในบริเวณบ้าน และยังมีเจ้าอื่น ๆ อีกที่มีความแตกต่างกันออกไปด้วย
ผี (เจ้ารับเชิญ) : ผีส่วนมากนี้จะเคยฟ้อนร่วมกันมานาน หรือมีความสนิทกัน เช่น ญาติพี่น้อง เป็นต้น
ประเพณีปอยส่างลอง (งานบวชลูกแก้ว)
สถานที่ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเพณีปอยส่างลอง (งานบวชลูกแก้ว) จัดขึ้นเพื่อทำการบรรพชาสามเณร พบได้ในภาคเหนือ และเห็นได้มากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนมากผู้เข้าร่วมจะมีเชื้อสายไทใหญ่ ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่มีการสร้างแปลนเมืองแม่ฮ่องสอนแล้ว ถือเป็นงานใหญ่ของปี จนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยภัยของสงครามทำให้ประเพณีปอยส่างลองถูกงด และเลิกไปในที่สุด จนใน พ.ศ. 2525 ช่วงฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ประเพณีปอยส่างลองขึ้นก็ถูกนำมาจัดอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน และได้แผ่ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง
ตำนานนั้นมีอยู่หลากหลายแบบแล้วแต่ความเชื่อ โดยเราจะยกตัวอย่างมา 1 ตำนาน นั่นคือ เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ขึ้นไปโปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอถึงคราวเสด็จกลับโลกมนุษย์ ได้มีเทพทั้ง 4 เป็นเทวดา 2 และนางฟ้า 2 ตามลงมาด้วย เหตุเพราะอยากเห็นเมืองมนุษย์ เพราะคิดว่าจะต้องมีความสนุกสนานจากการต้อนรับพระมารดาของพระพุทธเจ้า เทพทั้ง 4 จึงแต่งกายสวยงามสวมชฎา และเข้าร่วมฟ้อนรำกับมนุษย์ ประเพณีจึงให้ส่างลองแต่งกายให้สวยงาม และสวมชฎาให้กับผู้บวชตามตำนานนั่นเอง
ประเพณียี่เป็ง
สถานที่ : จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณียี่เป็ง (ประเพณีเดือนยี่) มีความหมายว่า “วันเพ็ญเดือนยี่” ถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานของชาวล้านนาแต่โบราณในช่วงฤดูปลายฝนถึงช่วงต้นของฤดูหนาว เป็นช่วงที่ทุ่งนาข้าวออกรวง หรืออยู่ในระหว่างการเก็บเกี่ยว อากาศปลอดโปร่ง ทำให้เด็ก ๆ ชอบเล่นว่าวตามท้องนา และเมื่อใกล้วันเพ็ญสิบห้าค่ำ เดือนยี่ จะได้ยินเสียงประทัดของชาวล้านนา พระ และเณรจะช่วยกันทำโคมลอยปล่อยขึ้นท้องฟ้า
ในคืนยี่เป็งชาวล้านนาในหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยแสงจากการจุดบูชาทั้งบันได, ยุ้งข้าว และหน้าต่าง หรือแม้แต่การแขวนโคมไฟก็มี ที่วัดเองก็มีการเทศนาบรรยายธรรม และมีการทำซุ้มประตูป่า, จำลองเขาวงกต และมีการประดับตกแต่ง ลานวัดมีดอกไม้ไฟ สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า5 พระองค์ คือ พระกกุสันธะพุทธเจ้า, พระโกนาคมะพุทธเจ้า, พระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า, พระศากยมุนีโคตมะพุทธเจ้า และพระกัสสปะพุทธเจ้า
ประเพณีแห่ครัวตาน (ทาน)
สถานที่ : จังหวัดลำปาง
ประเพณีแห่ครัวตานจัดขึ้นเมื่อหมู่บ้านนั้น ๆ มีเทศกาลที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น งานฉลองโบสถ์ วิหาร หรือศาลา งานตานสลากภัตร ไปจนถึงงานใด ๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับคนในหมู่บ้าน เป็นต้น โดยการแห่ครัวตานชาวบ้านจะนำสิ่งของเครื่องใช้ หรือจตุปัจจัยไทยทาน ไปถวายวัดในหมู่บ้าน ครัวตานมีหลายแบบตามแนวคิดชาวบ้าน เช่น รูปสัตว์ในนิทานชาดก, รูปจำลองโบราณสถาน, ของใช้ที่จำเป็น และพืชผักในท้องถิ่น เป็นต้น เมื่อตกลงหาของได้แล้ว จะมีสล่า (ผู้มีความชำนาญเฉพาะทางของชาวล้านนา) ออกแบบให้ และ ชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่ง โดยรูปแบบครัวตาน ต้องสื่อความหมายถึงผู้คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และทุกคนต้องมีความเข้าใจร่วมกัน
ในวันแห่จะมีการจัดรูปขบวน มีป้ายชื่อหมู่บ้าน ขบวนพานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน, ขบวนกลองยาว และขบวนฟ้อนรำนำหน้าขบวนทั้งหมด ส่วนขบวนครัวตานของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อเข้าวัด จะมีโฆษกคอยอธิบายความหมายของครัวตานแต่ละอัน แล้วนำไปถวายพระสงฆ์ ต่อด้วยการรับศีลก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีในภาคเหนือที่หลากหลาย มักทำกันมาอย่างช้านาน และยังคงทำเรื่อยไป ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ตาม เพราะส่วนมากจะมีความเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ หากเด็ก ๆ ได้มีโอกาสได้เห็นประเพณีเหล่านี้ แน่นอนว่าจะต้องเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน ทำยังไง? ให้ได้เจอกันอีกในชาติหน้า
6 ช่องการทางทำบุญ ทำบุญวันเกิดที่ไหนดี พร้อมรายละเอียดติดต่อ
ลิเกวัยเด็กหัวใสรับเต้นงานบวช หลังโควิดทำพิษไม่มีงานลิเกให้แสดง
ที่มาข้อมูล : 1 sanook. kapook