ประเพณีของภาคกลาง มีอะไรบ้าง หลายประเพณีเราอาจเคยได้ยินกันมาจนชิน บางคนเคยไปจนเบื่อแล้ว แต่อาจจะยังมีประเพณีที่เรายังไม่รู้จัก ซึ่งส่วนมากจะเป็นของชาวบ้าน หรือคนในท้องถิ่น ที่มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องเล่าโบราณต่าง ๆ แต่ยังคงทำกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
4 ประเพณีของภาคกลาง ที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก
หากจะกล่าวถึงคนที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง คงจะมีความคิดแล่นเข้ามาทันทีว่า ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ทุกอย่างดูธรรมดา และวัฒนธรรมหลายอย่างก็ผสมผสานมาจากภาคอื่น ทำให้อาจมีความน่าสนใจไม่เท่ากับภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วยังมีหลายสิ่งที่มีความแตกต่าง จนหลายคนอาจยังไม่รู้จัก และหนึ่งในนั้นคือ “ประเพณี” วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จัก กับประเพณีที่จัดขึ้นเป็นปกติ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีอยู่ ได้แก่ ประเพณีทอดผ้าป่าโจร ประเพณีกำฟ้า ประเพณีรับบัว / โยนบัว และประเพณีกวนข้าวทิพย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ประวัติประเพณีวันสงกรานต์ หรือวัฒนธรรมของวันสงกรานต์ มีอะไรน่าสนใจบ้าง
วิดีโอจาก : ครูยุ้ย…นะคะ
ประเพณีทอดผ้าป่าโจร
พื้นที่ : บ้านสามผาน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
เป็นประเพณีที่สามารถทำได้ตลอดทั้งปี การทอดผ้าป่าโจรนั้นมีความเชื่อว่าได้บุญกุศลมากกว่าการทอดผ้าป่าแบบธรรมดาทั่วไป เพราะได้ถวายข้าวของ เครื่องใช้ที่พระสงฆ์ขาดแคลนในเวลานั้น ด้วยความศรัทธา และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ตำนานเล่าว่า ในอดีตพวกโจรสลัดได้อาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ ไม่กล้าปรากฏตัวออกมาให้พระเห็น เพราะกลัวผู้ดูแลเมือง จะมีก็แต่ประชาชนเห็น และสามารถจำหน้าได้ โจรสลัดเหล่านี้มีจิตที่บริสุทธิ์และต้องการทำบุญ จึงต้องใช้วิธีการที่ไม่ต้องแสดงตัวตน โดยใช้วิธีจุดธูปเทียน ให้สว่างข้างวัด และวางผ้าป่าไว้ เมื่อพระเห็นจะเกิดความสงสัยจนเดินออกมาดู เมื่อพระเห็นผ้าป่าก็จะนำไปชักผ้าบังสุกุล แล้วนำไปใช้ เป็นที่มาของ “ผ้าป่าโจร”
ประเพณีกำฟ้า
พื้นที่ : จ.สิงห์บุรี (ปัจจุบันพบได้ในชาวบ้านพวนทุกจังหวัดทั่วประเทศ)
เป็นประเพณีสำคัญสำหรับชาวไทยพวน ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละท้องถิ่นอาจกำหนดจัดในวันที่ต่างกันในช่วงเดือนอ้าย, เดือนยี่ และเดือนสาม บางแห่งมีประเพณีกำฟ้าร่วมกับประเพณี “บุญข้าวหลาม” ในเดือนยี่
“กำ” มีความหมายว่า “การถือ, การเคารพฟ้าหรือเทพยดา” มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า สมัยก่อนเจ้าเมืองพวนไม่ยอมขึ้นกับนครเวียงจันทน์ ทำให้เจ้านครเวียงจันทน์ตัดสินใจประหารด้วยหอก แต่บังเอิญฟ้าผ่าถูกด้ามหอกจนหัก และด้วยความเชื่อที่ว่า ศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ เจ้าเมืองพวนจึงให้กลับไปครองเมืองตามเดิม ทำให้ชาวพวนถือฟ้า หรือเคารพฟ้าจนเกิดเป็นประเพณีนี้ขึ้นมา
ประเพณีรับบัว / โยนบัว
พื้นที่ : วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ประเพณีรับบัวเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว มีถิ่นกำเนิดมาจากชาว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ งานจะจัดทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เมื่อโบราณที่แห่งนี้มีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 3 กลุ่ม ได้แก่ คนไทย, คนลาว และคนรามัญ โดยทุกกลุ่มนั้น ต่างมีชีวิตทำมาหากิน และอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตรต่อกันเสมอมา ประเพณีนี้จึงเกิดขึ้นจากความมีน้ำใจต่อกันระหว่างคนท้องถิ่นกับคนรามัญ ซึ่งทำนาอยู่ที่ ต.บางแก้ว โดยช่วงออกพรรษานั้น จะกลับไปทำบุญที่ อ.พระประแดง ก็จะเก็บดอกบัว เพื่อนำไปบูชาพระ หรือถวายพระสงฆ์ รวมถึงนำไปฝากเพื่อนบ้านด้วย จนในปีต่อมา ชาวบ้านใน อ.เมือง และ อ.พระประแดง ได้ช่วยกันพายเรือมาเก็บดอกบัว ณ อ.บางพลี และได้นมัสการองค์หลวงพ่อโต ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกล ทำให้เกิดการร้องรำทำเพลงมาตลอดเส้นทาง เพื่อคลายเบื่อนั่นเอง
ในส่วนของการแห่หลวงพ่อโตทางน้ำทุกวันนี้ มาจากช่วง พ.ศ. 2467 นางจั่นกับชาวบางพลี ร่วมกันสร้างองค์ปฐมเจดีย์ที่วัดบางพลีใหญ่ใน และมีงานเฉลิมฉลองแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมากลายเป็นแห่องค์หลวงพ่อโตจำลองไปตามลำคลองสำโรง ให้คนพื้นที่ได้กราบไหว้ด้วยดอกบัว
ประเพณีกวนข้าวทิพย์
พื้นที่ : หมู่บ้านวัดกุฎีทอง บ้านโภคาภิวัฒน์ วัดอุตมะพิชัย อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี (ปัจจุบันพบได้ทุกภาคของประเทศไทย)
เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ในเมืองพุทธ เป็นพระราชพิธีเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 และหายไปอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ต่อมาก็ได้รับการฟื้นฟูในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ ปัจจุบันพบได้ในทุกภาคของประเทศไทยแล้ว โดยภาคกลางนิยมจัดในวันวิสาขบูชา
ที่มานั้นมาจากที่นางสุชาดาปรุงข้าวมธุปายาส เพื่อนำไปถวายพระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ จึงนับว่าอาหารชนิดนี้เป็นของวิเศษ ต่อมาจึงถูกเรียกว่า “ข้าวทิพย์” พบได้มากในเทศกาลออกพรรษา โดยชาวบ้านจะนำมาถวายพระสงฆ์ เป็นอาหารที่นิยม เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคล การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยทั้งแรงศรัทธา และแรงใจ รวมถึงความสามัคคีจากชาวบ้าน เพื่อถวายสักการบูชา และรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่การจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีประเพณีอื่น ๆ ของชาวบ้านอีกมากมายที่เราอาจไม่ได้หยิบยกขึ้นมา แต่เพียงเท่านี้เราก็คงจะได้เห็นแล้วว่า สำหรับภาคกลางนั้นก็มีเอกลักษณ์ไม่แพ้ภาคอื่น ๆ ในไทยเลย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พิธีทำขวัญทารก ต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน
คำอธิษฐานเวลาทำบุญ ต้องทำยังไง? จึงจะเห็นผลเร็วที่สุด
พาลูกไหว้พระ 9 วัดติดแม่น้ำเจ้าพระยา สายบุญอย่างเราไม่ควรพลาด