วิธีการล้างจมูกเด็ก
การล้างจมูกคืออะไร
การล้างจมูกคือ การทำความสะอาดโพรงจมูก โดยการใส่หรือหยอดน้ำเข้าไปในจมูก การล้างจมูกจะช่วยชะล้างมูก คราบมูก หรือหนองบริเวณโพรงจมูก และหลังโพรงจมูกออก ทำให้โพรงจมูกสะอาด น้ำที่ใช้แนะนำให้ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูกและทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต
การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร
· ช่วยล้างมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูกสะอาด
· อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้น
· การระบายหนองจากไซนัสดีขึ้น
· ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด
· ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค ของเสีย สารก่อภูมิแพ้ และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้
· ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
· บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ทำให้หายใจโล่งขึ้น
· บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก
· การล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่นจมูก จะทำให้ยาพ่นจมูกมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ควรล้างจมูกเมื่อไหร่
· เมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก
· ก่อนใช้ยาพ่นจมูก
การล้างจมูกทำอย่างไร
1. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
1.1 น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 %ซึ่งหาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยา แนะนำให้ใช้ขวดละ 100 ซีซี(น้ำเกลือที่ใช้เหลือให้เททิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม)
1.2 ถ้วยสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ
1.3 – กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) หรือขวดยาหยอดตา สำหรับเด็กขวบปีแรก
– กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 2-5 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) สำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี
1.4 ลูกยางแดงสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะสำหรับเด็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
– ลูกยางแดงเบอร์ 0-2 สำหรับเด็กขวบปีแรก
– ลูกยางแดงเบอร์ 2-4 สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี
1.5 ภาชนะใส่น้ำล้างจมูก และกระดาษทิชชู่
2. วิธีล้างจมูก
สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
2.1 ล้างมือผู้ที่จะทำการล้างจมูกให้สะอาด
2.2 เทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา หรือใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม
2.3 ให้ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวลและไม่เกิดการบาดเจ็บ
2.4 ให้เด็กนอนในท่าศีรษะสูงพอควรเพื่อป้องกันกันสำลัก
2.5 จับหน้าให้นิ่ง ค่อยๆหยดน้ำเกลือครั้งละ 2-3 หยด หรือค่อยๆสอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้าง โดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนขอบรูจมูก ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 ซีซี
2.6 ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อยๆสอดเข้าไปในรูจมูก ลึกประมาณ 1-1.5 ซ.ม. ค่อยๆปล่อยมือที่บีบออกช้าๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางแดง บีบน้ำมูกในลูกยางแดงทิ้งในกระดาษทิชชู่
2.7 ทำซ้ำหลายๆครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
2.8 ในกรณีที่รู้สึกว่ามีเสมหะในลำคอ ให้สอดลูกยางแดงเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในคอออก ถ้าต้องการให้เด็กไอเอาเสมหะออก ให้สอดลูกยางแดงลึกถึงประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นไอ และทำการดูดเสมหะเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น (ระหว่างดูดเสมหะให้จับหน้าเด็กหันไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก)
ในกรณีเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้
1.ให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย ค่อยๆสอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น
2.ค่อยๆฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5-1 ซีซี หรือเท่าที่เด็กทนได้ พร้อมกับสั่งให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง
3.สั่งน้ำมูกพร้อมๆกันทั้ง 2 ข้าง (ไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง)
4.ทำซ้ำหลายๆครั้งในรูจมูกแต่ละข้าง จนไม่มีน้ำมูก
วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
ให้ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้ทุกครั้งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณโดย
o กระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลืให้ล้างน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ล้างด้วยน้ำประปาจนหมดน้ำสบู่ ผึ่งให้แห้ง
o ล้างลูกยางแดงด้วยน้ำสบู่ทั้งภายนอกและภายใน ล้างตามด้วยน้ำประปาจนสะอาด โดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง ควรนำไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้ง โดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกยางแดงต้มประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วบีบน้ำที่ค้างในลูกยางออกจนหมด วางคว่ำในภาชนะที่สะอาดโดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง
ควรล้างจมูกบ่อยแค่ไหน
อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมากแน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก แนะนำให้ทำในช่วงท้องว่าง เพราะจะได้ไม่เกิดอาการอาเจียน
การล้างจมูกมีอันตรายหรือไม่
ถ้าทำได้ถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม ไม่น่าจะมีอันตราย อาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้เช่น การสำลัก การนำเชื้อเข้าไปในโพรงไซนัส ปัญหาการสำลักจะไม่เกิดขึ้น ถ้าได้เรียนรู้วิธีการล้างจมูกที่ถูกต้อง และควรล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียน หรือสำลัก
ข้อควรระวัง
น้ำเกลือและอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำเกลือไม่ควรใช้ขวดใหญ่ เพราะการเปิดทิ้งไว้และใช้ต่อเนื่องนานกว่าจะหมด จะทำให้มีเชื้อโรคสะสมอยู่ได้ โดยทั่วไปใช้ขวดละ 100 ซีซี เพื่อให้หมดเร็ว จะได้ไม่เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ควรล้างจมูกเมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก (ถ้าน้ำมูกใสและมีจำนวนเล็กน้อยให้สั่งออกมา) หลังฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก ให้สั่งน้ำมูกออกทันที ไม่ควรกลั้นหายใจเพื่อกักน้ำเกลือให้ค้างในจมูกนาน เพราะน้ำเกลืออาจจะไหลย้อนไปในไซนัส และการสั่งน้ำมูกให้สั่งเบาๆและไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการป่วยของเด็กที่ดูแลอาการที่บ้านได้
ทำไมคุณแม่ถึงไม่ควรใช้น้ำเปล่า ล้างจมูก ให้ลูก?
เช็คRSV อาการ เป็นอย่างไร ต่างกับหวัดอย่างไร? มาดูไปพร้อมกันนะคะ