ลงโทษลูกน้อย ลงโทษอย่างไรให้ลูกหายดื้อ เป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัย เมื่อเด็ก ๆ ในบ้านทั้งดื้อและซน แต่การทำโทษอาจมีความรุนแรงมากเกินไปจนเกิดเป็นปมในจิตใจของตัวเด็กเอง อย่างไรก็ตามการทำโทษลูกนั้นยังมีวิธีที่ไม่รุนแรง และได้ผลดีที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ไว้
ลงโทษอย่างไรให้ลูกหายดื้อ เริ่มจากความเข้าใจ
เรามีความเชื่อกันมานานว่า หากอยากให้ลูกเป็นเด็กดีต้องอบรมและสั่งสอน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้พฤติกรรมของลูกอยู่ใน “กรอบ” ที่งดงาม รู้จักรักษากฎเกณฑ์ก็คือการทำโทษเมื่อลูกทำผิด ให้รู้จักสำนึกและเรียนรู้จากความผิดพลาด พ่อแม่หลายคนยังเชื่อว่าการตีลูกคือการปลูกฝังจิตสำนึกให้ลูกรู้จักกลัวเกรง เข็ดขยาด จนไม่กล้าทำความผิดเดิมซ้ำอีก และยังมีพ่อแม่หลายคนเชื่อว่าการลงโทษโดยการสร้างความเจ็บปวดให้ลูกคือสิ่งที่ควรทำ เพราะในความเจ็บปวดนั้นคือบทเรียนเพื่อเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วแบบนี้ถ้าลูกดื้อพ่อแม่ควร ลงโทษอย่างไรให้ลูกหายดื้อ
แต่สังเกตไหมว่ายิ่งเราทำโทษมากขึ้นเท่าไร ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ลูกก็จะยิ่งต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น ไม่ก้าวร้าวที่บ้านแต่ไปก้าวร้าวกับคนอื่นนอกบ้าน ในทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่า การทำโทษเด็กด้วยวิธีต่าง ๆ นอกจากทำให้ลูกเจ็บที่ร่างกายแล้วยังสร้างบาดแผลให้จิตใจด้วย เด็กจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด แต่พ่อแม่เคยถามตัวเองหรือไม่ว่าที่ทำโทษลูกนั้น เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกไม่ชอบใจของตัวเองหรือลูกทำผิดจริง ๆ เคยมองลงไปให้ชัดเจนหรือไม่ว่าการที่แสดงอาการไม่น่ารัก หมายความว่าลูกต้องการความช่วยเหลือ หรืออยากสื่อสารอะไรกับพ่อแม่กันแน่
การลงโทษเพื่อให้เกิดสิ่งที่ถูกต้อง แต่คำว่า “ความถูกต้อง” นั้นตัดสินด้วยอะไร ด้วยเหตุผลหรือความรู้สึกส่วนตัวเพราะการทำโทษคือการสร้างเงื่อนไขให้ความรัก สร้างกฎในการถูกรัก ยอมจำนนเพื่อให้เป็นที่รัก เหมือนเป็นสิ่งเตือนใจย้ำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่คือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน เมื่อถูกลงโทษ เด็กจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติว่าหากทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจพ่อแม่ ตัวเองจะถูกทำโทษ ถ้าอยากให้พ่อแม่รักต้องทำในสิ่งที่พ่อแม่ชอบเท่านั้น ยอมรับคำสั่งแต่โดยดี แต่งตัวแบบที่พ่อแม่สั่ง ทำตามที่พ่อแม่บอก ทั้ง ๆ ที่ไม่ชอบ เมื่อทำเรื่องผิดพลาดที่เกิดจากการขาดทักษะบางอย่างก็จะไม่กล้าบอกพ่อแม่
มีรายงานการวิจัยพบว่าผลกระทบจากความรู้สึกเสียใจจากการถูกทำโทษของเด็กจะค่อยบั่นทอนความรู้สึกของเด็ก ค่อย ๆ กัดกินเหมือนโรคร้าย ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง หรือตัดสินในด้วยตัวเองลดลง ฯลฯ และงานวิจัยล่าสุดยังพบว่าพ่อแม่ที่ทำโทษลูกที่มักชอบแหกกฎจะทำให้ลูกเพิ่มความรุนแรงในการทำผิดกฎมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อไม่ได้อยู่ที่บ้าน
การทำโทษส่งผลเสียระยะยาวอย่างไรต่อเด็ก
จากการศึกษาและเก็บของมูลของจิตแพทย์ทำให้พบว่าการทำโทษทางร่างกายมีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมเชิงลบต่าง ๆ รวมไปถึง ทำให้กลายเป็นเด็กก้าวราว และต่อต้านสังคม และยังพบว่าเด็กที่ถูกทำโทษด้วยการตีบ่อย ๆ จะมีเนื้อส่วนสีเทาในเปลือกของกลีบสมองส่วนหน้าผากน้อยกว่าคนทั่วไป ทำให้มีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้า ติดยา และความผิดปรกติทางจิตได้มากกว่า
พ่อแม่หลายคนอาจบอกว่าไม่เคยทำโทษลูกด้วยการตี แต่หันมาใช้เทคนิคการลงโทษแบบสมัยใหม่ทั้งติดสินบน Time outs หรือการลงโทษแบบให้รับผลกรรม (Conseeuences) แทน แต่การทำโทษเหล่านี้คือการทำร้ายจิตใจ และบทสรุปสุดท้ายที่ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการตีก็คือ เด็กถูกควบคุม และบังคับขืนใจนั่นเอง ทำให้เด็กรู้สึกถูกทอดทิ้งโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องการความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัยจากพ่อแม่ที่สุด กลับถูกผลักไสให้สำนึกผิดเพียงลำพัง ถูกบังคับให้หาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ทำให้กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ เกิดความรู้สึกไม่พอใจพ่อแม่ และจะค่อย ๆก่อตัวขึ้นในหัวใจดวงน้อย ๆ จนทำให้ลูกเริ่มต่อต้าน บ่มเพาะจนกลายเป็นความเกลียดชังในสุด เมื่อถึงจุดหนึ่งลูกจะเลิกทำในสิ่งที่คุณอยากให้ทำ และไปเชื่อฟังคำพูดของคนอื่นอย่างเช่น เพื่อน หรือแฟนแทน
บทความที่น่าสนใจ : ตีลูกดีไหม ลงโทษลูกอย่างไร ให้ลูกได้บทเรียน แต่แม่ไม่ปวดใจ
แล้วพ่อแม่ต้องทำอย่างไร
สิ่งที่พ่อแม่สมควรทำเพื่อลูกน้อยเป็นอย่างยิ่งคือ ต้องเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของลูก และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น แสดงให้เห็นว่าคุณรักเขาในแบบที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่รักในสิ่งที่คุณบังคับให้ลูกเป็น เมื่อลูกทำผิด ควรหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะลูกอาจขาดทักษะด้านไหน หรือมียังมีอะไรไม่เข้าใจหรือไม่ และค่อย ๆ อธิบายสอนด้วยเหตุผล ใช้ความใจเย็น และทำให้ลูกรู้ว่าเขาหวังพึ่งพาคุณได้เสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร คุณพร้อมจะอยู่ข้าง ๆ ทุกเวลา และไม่ว่าความต้องการของลูกคืออะไรคุณก็พร้อมสนับสนุนทุกทาง เฝ้ามองลูกเติบโตด้วยตัวเองไม่ต้องเข้าไปคอยบงการ รักลูกในสิ่งที่เขาเป็น ยอมรับในสิ่งที่ลูกทำ คุณอาจไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นแค่พ่อแม่ที่เข้าใจลูกที่สุด ก็พอแล้วค่ะ
วิธีการลงโทษลูกด้วยการไม่ตี
- Time out : เป็นวิธีการแยกเด็ก ให้เด็กได้อยู่ตามลำพัง ปกติแล้วมักจะถูกใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 2-10 ปี เมื่อลูกมีความผิดจะต้องชี้แจงลูกว่าเขาทำความผิดอะไร จากนั้นให้ลูกไปนั่งที่มุมห้อง หรือบนเก้าอี้คนเดียว โดยบริเวณดังกล่าวต้องไม่มีของเล่น หรือกิจกรรมใด ๆ ให้เด็กทำ หากเด็กไม่ยอมไปนั่งสามารถพาเด็กไปนั่งได้เองเลย เด็กควรนั่งนิ่ง ๆ ตรงจุดนั้นไม่เกิน 10 นาที ในระหว่างเวลานั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่สนใจเด็ก และปล่อยให้เขาได้อยู่กับตัวเอง แต่เมื่อครบเวลาให้เข้าไปหาเด็กเพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทันที โดยต้องระวังคำพูดที่สื่อออกไป เพราะอาจทำให้เด็กกลับมาโกรธอีกครั้ง อาจกลายเป็นภาวะต่อต้านได้
- ลดความสนใจ : เมื่อเด็กทำผิดขึ้นมา และมีอาการร้องไห้โวยวาย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตามใจเด็ก ควรปล่อยให้เด็กร้องไห้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ต้องไม่รบกวนบุคคลอื่นด้วย พยายามไม่สนใจเด็ก แต่ต้องให้เด็กอยู่ใกล้กับตน ไม่ควรหายไปจากเด็ก ไม่นานเด็กจะหยุดร้องไปเอง เพราะเขาจะรับรู้ได้ว่าไม่มีใครสนใจเวลาที่ตนเองโวยวาย หลังจากเด็กหยุดร้องไห้ผู้ปกครองเข้าไปพูดคุยกับเด็กอีกครั้งแต่ไม่ควรเข้าไปโอ๋เด็ก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าครั้งต่อไปเขาจะได้รับการโอ๋อีกครั้ง ควรพูดคุยถึงปัญหา และชี้แจงให้ลูกฟังว่าทำไมจึงไม่มีใครสนใจ
- ยกเลิกกิจกรรม : เด็กบางคนอาจมีกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างกัน แต่สำหรับเด็กแน่นอนว่าต้องมีเรื่องเล่นเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น อ่านการ์ตูน หรือดูการ์ตูนหลังทำการบ้าน หรือหลังอาบน้ำ, สามารถฟังนิทานได้หลังเก็บของเล่นที่เล่นทิ้งไว้เสร็จแล้ว เป็นต้น หากลูกไม่ยอมทำตามที่ตกลงกันไว้ แล้วมีอาการงอแง หรือโวยวายร้องไห้เสียงดัง ให้คุณพ่อคุณแม่งดการทำกิจกรรมนั้น ๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจในความรับผิดชอบของตนเอง
- ให้ลูกรับผิดชอบ : เมื่อเด็กทำผิดในบางอย่างอาจไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงแต่การปล่อยไว้อาจทำให้ลูกติดเป็นนิสัยได้ การลงโทษจึงสามารถทำได้ด้วยการให้เด็กรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ เช่น ทำของหล่นบนพื้นก็ต้องให้เขาเป็นคนเก็บเอง เป็นต้น วิธีการนี้จะทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าความผิดที่ตัวของเขาทำ เขาต้องมีความรับผิดชอบแทนการร้องไห้โวยวาย หรือการโทษผู้อื่น
- งดรางวัล : เด็กอาจตื่นเต้นกับกิจกรรมบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น และกำลังเฝ้ารอ เช่น การได้ไปเที่ยว, การได้ของเล่นใหม่ ๆ หรือการได้กินขนมในร้านโปรด แต่เมื่อเขาปฏิบัติตัวไม่น่ารัก และไม่ยอมฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถนำรางวัลที่กล่าวไปข้างต้นไปต่อรอง พร้อมกับสอนลูกด้วยว่าทำไมการกระทำแบบนี้ถึงส่งผลไม่ดีต่อผู้อื่น และทำไมต้องงดรางวัลที่ลูกควรได้ด้วย
การลงโทษเด็กอาจเป็นสิ่งที่ลำบากใจของพ่อแม่ เนื่องจากอาจทนไม่ได้กับการเห็นลูกเสียใจ หรือไม่อยากให้ลูกเจ็บ แต่หากเลือกวิธีทำโทษลูกได้อย่างถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
หยุดเปรียบเทียบลูก ถ้าไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อต่อต้าน-ขี้อิจฉา
พ่อแม่รู้ไหม…ส่งลูกเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปอาจทำให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น !
ลักษณะนิสัยของพ่อแม่ที่ทำร้ายลูก ทำให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว คุณเป็นแบบนี้ไหม!
ที่มา : parentsone , raisedgood , mamastory