ถ้าคุณเป็นเหมือนพ่อแม่ผู้ปกครองในเอเชียส่วนใหญ่ คุณอาจจะมองการสอนลูกเรื่องเงินว่าเป็นหน้าที่สำคัญ เพื่อจะให้ลูกพร้อมสำหรับชีวิตในอนาคต ที่จริงแล้ว ข้อมูลจากการสำรวจเกี่ยวกับการสอนลูกเรื่องเงินในเอเชียที่จัดทำโดยอีสต์สปริง อินเวสต์เมนต์ส พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองในเอเชียมากกว่า 95% จัดให้การสอนลูกเรื่องเงิน เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับครอบครัวเลยทีเดียว
เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในเอเชีย แต่ในวิธีที่ใช้สอนลูกเรื่องเงินกลับเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ จะทำยังไงล่ะ แล้วสอนเรื่องไหนดีที่เหมาะกับช่วงอายุ
หัวใจหลักของการสอนลูกเรื่องเงินก็คือ การสังเกตว่าลูกพร้อมจะเรียนรู้ในเรื่องไหน เด็กบางคนหยอดกระปุกได้อย่างไม่ยากเย็น เด็กอีกคนอาจจะมีปัญหาในเรื่องเดียวกัน ไม่เข้าใจว่าเงินเป็นสิ่งที่มีจำกัด สิ่งสำคัญก็คือสอนในสิ่งที่เห็นได้จริง เรียบง่าย ไม่เป็นเรื่องการเงินที่ซับซ้อน สอนสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันของครอบครัว
เด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ในช่วงอายุหนึ่ง ก็มีเรื่องที่เหมาะจะเรียนรู้และทำความเข้าใจ นี่เป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการสอนลูกเรื่องเงิน จำแนกตามช่วงอายุของลูก
อายุ 3 ถึง 6 ขวบ ให้แนะนำแนวคิดเรื่องเงิน
ในช่วงอายุนี้ เป็นช่วงที่เด็กทำความเข้าใจโลก วัยทารกและอนุบาลต้องเรียนรู้ขั้นพื้นฐานว่าเงินคืออะไรและใช้ทำอะไร เราจะทำอะไรได้บ้าง ทำให้ลูกคุ้นเคยกับเงิน ให้ลูกเล่นกับเหรียญ และธนบัตร ด้วยการให้ดูรูป และหน่วยเงินบนเหรียญ และธนบัตร ยังสอนลูกว่าพ่อกับแม่ทำงานแล้วได้เงิน ซึ่งเงินนี้จะเข้าธนาคาร จากนั้นก็พาลูกไปที่ตู้เอทีเอ็มด้วย อาจจะให้ลูกลองกดปุ่มเล่นดูสักหน่อยก็ได้ ที่สำคัญที่สุด สอนลูกว่าเราใช้เงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งต่าง ๆ พาลูกไปชอปปิงกับคุณให้ลูกได้เห็นกับตา ตอนที่คุณจ่ายเงินที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหาร ก็ให้ลูกช่วยหยิบธนบัตรหรือเหรียญจากกระเป๋าเงินให้ครบตามจำนวน หรือหยิบเงินให้ลูกจ่ายแคชเชียร์แล้วให้ลูกรับเงินทอน
ช่วงอายุ 7 ถึง 9 ขวบ สอนให้ลูกรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ
พอได้เข้าเรียนโรงเรียนประถม ลูกของคุณก็เรียนรู้เกี่ยวกับโลกมากขึ้นในแต่ละวัน นี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะสอนให้ลูกรู้เกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ แล้วคุณจะทำยังไงล่ะ
คุณเริ่มจากติดป้ายราคาสำหรับทุกสิ่งเลย จริง ๆ แล้วก็ไม่ต้องทุกอย่างหรอกนะ แต่แน่นอนว่าในช่วงวัยนี้ ลูกของคุณพร้อมแล้วที่จะเข้าใจว่า ของบางอย่างมีคุณค่ามากกว่าอันอื่น ๆ ลองพาลูกไปซื้อของด้วย แล้วให้ลูกดูราคา ให้ลูกเลือกว่าในงบเท่านี้ ซื้อซีเรียลอันไหนดี ระหว่างคอร์นเฟลกสองกล่อง หรือแบบผสมมาร์ชแมลโลว์ที่ราคาแพงกว่าและซื้อได้กล่องเดียว
มีอีกเรื่องหนึ่งแต่ว่าต่อเนื่องกัน ก็คือบทเรียนเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างคุณค่ากับราคา ตัวอย่างเช่น ในช่วงปิดเทอม ลองสอนลูกว่าถ้ามีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง ลูกสามารถเอาไปซื้ออาหารขยะหรือแซนด์วิชที่มีคุณค่าทางอาหารก็ได้ ราคาของทั้งสองอย่างอาจจะเท่ากัน แต่ว่าแซนด์วิชคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปและให้สารอาหารที่มากกว่ามีทรัพยากรบนอินเทอร์เน็ตมากมายที่ช่วยสอนเด็กช่วงอายุนี้เรื่องเงิน และชา-ชิง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสอนลูก ชา-ชิงเป็นการร่วมมือกันระหว่างการ์ตูนเน็ตเวิร์กและพรูเด็นเชียล ในนั้นมีสื่อวิดีโอออนไลน์ดี ๆ เกี่ยวกับการสอนลูกเรื่องเงินมากมาย
อย่างเช่นวิดีโอนี้ ลองดูวงดนตรีชา-ชิงเรียนรู้เรื่องคุณค่า
https://chaching.cartoonnetworkasia.com/en/music-episode-7
มีเกมแบบอินเทอร์แอกทีฟ (ลองเล่นเกมทางเลือกชา-ชิง) และยังมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเครื่องมือให้คุณดาวน์โหลด เพื่อเสริมความรู้ในการสอนลูกเรื่องเงินอีกด้วย
ช่วงอายุ 10 ถึง 12 ขวบ
การทดลองมาร์ชแมลโลว์ทำให้เราเห็นความสามารถอันน่าทึ่งของเด็กในการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ช่วงอายุเท่านี้ ถึงเวลาที่ต้องเอาบทเรียนเรื่องการทดสอบมาร์ชแมลโลว์มาใช้จริงแล้ว เด็กอายุสิบถึงสิบสองขวบมีศักยภาพในการควบคุมตัวเองอยู่ประมาณหนึ่ง ทำให้นี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสอนเรื่องการออมและการใช้จ่าย
ควรแนะนำลูกอย่างไร
ค่าขนมของลูกคือสิ่งสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับการออมและการใช้จ่าย อธิบายเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูก ควรเก็บเงินเท่าไหร่ (ถ้ามี) และอธิบายความสำคัญของเรื่องพวกนี้ คอยดูความคืบหน้าของลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกตระหนักถึงทักษะทางการเงินของตัวเองมากขึ้น
คุณยังสามารถให้ลูกมีอิสระในแบบของตัวเองได้ด้วย อย่างเช่นให้ลูกออกไปซื้อของเอง คุณแค่เตรียมเงินและรายการสิ่งของที่้ต้องซื้อให้พร้อมก็พอ การทำแบบนี้จะทำให้ลูกต้องตัดสินใจเลือกซื้อ โดยดูจากงบที่คุณให้ไป
อยากหาอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกไหม ลองดูกิจกรรมของชา-ชิงที่คุณสามารถทำไปพร้อม ๆ กับลูก เพื่อให้เข้าใจการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน และเข้าใจการตัดสินใจเลือกซื้อ https://chaching.cartoonnetworkasia.com/en/parents-home-activity-inner-08
อายุ 13 ขึ้นไป สอนให้พึ่งพาตนเอง
ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่เรียนรู้ไปสู่การพึ่งพาตนเองทางการเงิน และอย่าคิดว่าสายเกินไปสำหรับการสอนลูกเรื่องเงินนะ คุณต้องให้เครื่องมือที่เหมาะสมกับลูก เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จ เครื่องมือที่ว่านั้นรวมไปถึงวิธีการจัดการงบใช้จ่าย สอนให้รู้ทันโฆษณา และให้รู้จักดอกเบี้ยทบต้นที่ทรงพลัง
สอนลูกเรื่องเงินได้อย่างไร
เริ่มจากการย้ำเตือนให้รู้ว่ามีหลายวิธีมากที่ทำให้โฆษณาเจาะจงพุ่งตรงมาที่เรา โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ทุกการคลิก ทุกการกดถูกใจ และทุกการค้นหา ถูกจับตามองโดยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อยิงโฆษณาให้ตรงเป้าหมาย ลูกคุณสังเกตไหมว่าโฆษณาจะเด้งขึ้นมาในหน้าฟีดของสื่อสังคมออนไลน์ ทุกครั้งที่ค้นหาสิ่งคล้าย ๆ กันนั้นในกูเกิล
สอนลูกให้รู้ว่าการตลาดสามารถส่งผลชี้นำพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ อย่างเช่นในการศึกษาชิ้นหนึ่ง พบว่ายิ่งเด็กดูโทรทัศน์และโฆษณาทางหน้าจอโทรทัศน์ เด็กก็ยิ่งขอพ่อแม่ซื้อของที่ร้านค้าหลายอย่างมากขึ้นเช่นเดียวกัน
การสอนลูกเรื่องเงินและเลี้ยงดูให้ลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะทางการเงินนั้น ต้องทุ่มเทอย่างหนัก แต่มันเป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดชิ้นหนึ่ง ที่พ่อแม่ผู้ปกครองอย่างคุณสามารถให้ลูกได้ สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมว่าจะคุยเรื่องเงินกับลูกยังไง ลองอ่านเกี่ยวกับบทเรียนเรื่องเงินที่นำไปใช้ได้ตลอดชีวิตอันนี้ดู
ท้ายที่สุดแล้ว นี่ก็เป็นแค่คำแนะนำอันหนึ่ง ขอให้จำไว้ว่าเด็กทุกคนล้วนแตกต่างกันออกไป ดังนั้นให้คุณค่อย ๆ สอนลูกในระดับที่ลูกรับไหว ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณรู้ดีว่ามันเป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่สำคัญ พอคุณได้สอนลูกเกี่ยวกับพื้นฐานในการจัดการเงิน ลูกก็จะพัฒนาต่อไปได้ด้วยประสบการณ์ของตนเอง สิ่งนี้ทำให้คุณรู้เลยว่า คุณทำหน้าที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้ดีแล้ว