รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้
ภูมิแพ้ คือการที่กระบวนการตอบสนองของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ได้ไวผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ เชื้อรา รังแค หรือสิ่งกระตุ้นในอาหารต่าง ๆ เช่น นมวัว ถั่วเหลือง ไข่ แป้งสาลี นอกจากนั้นภูมิแพ้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ในครอบครัว ถ้าพ่อ แม่ หรือพี่น้องเคยมีประวัติเป็นภูมิแพ้ ทารกที่เกิดมาก็เสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้เช่นกัน
อาการของภูมิแพ้มีหลายแบบ เช่น การไอ จาม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นหวัด การหอบและมีเสียงวื้ด ๆ ขณะหายใจ หายใจลำบาก คันตา น้ำมูกหรือน้ำตาไหล ผิวแห้งเป็นขุย มีผื่นแดง ผื่นคัน หรือผื่นพุพองบริเวณแขน ขา ข้อพับ และอวัยวะอื่น ๆ อาการแพ้เหล่านี้มีทั้งแบบเฉียบพลัน คือเกิดขึ้นและหายไปเองในระยะหนึ่งถึงสองวัน หรืออาจเป็นอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันนานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป
ภูมิแพ้ที่พบบ่อยในคนไทยคือภูมิแพ้อากาศ พบได้ประมาณ 30% – 40% ของผู้ป่วยภูมิแพ้ทั้งหมด รองลงมาคือโรคหอบหืด โรคผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง และการแพ้อาหาร ซึ่งกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่าสามขวบมักมีอาการแพ้อาหารมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งนี้ ภูมิแพ้บางประเภทเมื่อเป็นแล้วสามารถหายเองได้ เช่น 70% ของเด็กเล็กที่แพ้นมวัว เมื่ออายุเกินสามขวบไปแล้วจะหายและสามารถดื่มนมวัวได้เป็นปกติ หรือ 50% ของเด็กเล็กที่แพ้ไข่ขาวสามารถกลับมากินไข่ขาวได้เมื่ออายุเกินสามขวบ
อย่างไรก็ตาม ภูมิแพ้บางอย่างไม่สามารถรักษาให้หายขาด เช่น ภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืด หากสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรืออากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล อาการก็อาจกำเริบได้ แต่ถ้าดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ก็อาจควบคุมอาการแพ้ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
ถ้าอยากรู้ว่าลูกเป็นภูมิแพ้หรือไม่ สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) รวมทั้งเจาะเลือดหาระดับ IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด หรือเช็คว่าลูกมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้มากแค่ไหนได้ที่ https://www.allergyrisktracker.com/th/
เนื้อหานี้มาจากบทสัมภาษณ์ผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการแพ้ในเด็ก และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล