สิ่งที่คุณแม่ต้องรู้ ถ้าหากเกิดการ แท้งลูก ต้องทำยังไงต่อ
คงไม่มีแม่คนไหนที่อยากให้การตั้งครรภ์จบด้วยการแท้งลูก แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ต้องทำยังไงต่อ สิ่งที่คุณแม่ต้องรู้ ถ้าหากเกิดการ แท้งลูก ต้องทำยังไงต่อ
แท้ง (Miscarriage)
เป็นการสูญเสียตัวอ่อนภายในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการแท้งเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก โดย 50-75 เปอร์เซ็นต์แท้งในช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะหยุดไปหรือยังไม่ทันที่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ ทั้งนี้การแท้งเป็นเรื่องปกติที่หลายคนสามารถเผชิญได้ เพียงแต่สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่นั้นก็อาจยากที่จะทำใจยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น
การแท้งบุตรเกิดขึ้นได้ในฉับพลันหรืออาจกินเวลานานหลายชั่วโมง อาการที่มักพบได้เมื่อแท้งบุตรคือมีเลือดออกหรือร่างกายขับลิ่มเลือดขนาดใหญ่ออกมา อาจมีการปวดเกร็งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ หากสงสัยว่าแท้งบุตร ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
และเมื่อคุณรู้ว่าได้แท้งลูกแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือทำใจยอมรับ ตั้งสติให้ดี อย่าโทษตัวเองหรือโทษใคร และไปพบแพทย์
อาการแท้ง
สัญญาณของการแท้งบุตรที่พบได้บ่อยคือมีเลือดออกทางช่องคลอด โดยอาจไหลออกมาเพียงเล็กน้อยเป็นหยด ๆ สีน้ำตาลหรือสีแดงสด ซึ่งอาการเลือดออกนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายวัน
อย่างไรก็ตาม การมีเลือดไหลทางช่องคลอดยังเป็นอาการที่พบได้ทั่วไประหว่างการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก การมีเลือดออกจึงไม่ได้หมายความว่ามีการแท้งเกิดขึ้นเสมอไป ทั้งนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการที่อาจแสดงถึงการแท้งต่อไปนี้เกิดขึ้น
- มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยจากที่ออกแต่น้อยจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น
- มีเนื้อเยื่อถูกขับออกมาทางช่องคลอด
- มีเมือกขาวอมชมพูออกจากช่องคลอด
- เกิดตะคริวอย่างรุนแรง
- ปวดเกร็งช่องท้องส่วนล่าง
- ปวดหลัง
- อ่อนล้า ไม่มีแรง
- มีไข้
- ไม่มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือเต้านมฟกช้ำอีกต่อไป
สาเหตุการแท้ง
การแท้งในช่วงไตรมาสแรก
โครโมโซมทารกผิดปกติ เป็นสาเหตุของการแท้งในช่วง 3 เดือนแรกที่พบได้บ่อยที่สุด โดยโครโมโซมนี้เป็นการจัดเรียงตัวกันของดีเอ็นเอ ซึ่งจะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่พัฒนาการของเซลล์ในร่างกาย หรือแม้แต่สีตาของทารก
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเป็นการมีจำนวนโครโมโซมมากเกินปกติหรือมีจำนวนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทารกไม่สามารถพัฒนาได้อย่างปกติและมีการแท้งเกิดขึ้นได้ในที่สุด ซึ่งการแท้งจากโครโมโซมที่ผิดปกติในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้มีอัตราถึง 2 ใน 3 แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดการแท้งจากสาเหตุนี้ขึ้นอีกครั้ง ส่วนสาเหตุความผิดปกติของโครโมโซมที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด และส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัญหาในโครโมโซมของบิดาหรือมารดาแต่อย่างใด
ปัญหาจากรก รกมีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างมารดากับทารกเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ดังนั้นปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาของรกจึงสามารถนำไปสู่การแท้งบุตรได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงจากมารดา
- โรคอ้วน
- การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในชา 1 แก้วจะมีคาเฟอีนประมาณ 75 มิลลิกรัม ส่วนในกาแฟสำเร็จรูปมักมีคาเฟอีน 100 มิลลิกรัมต่อแก้ว นอกจากนี้คาเฟอีนยังพบได้ในในเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีรสซ่า รวมถึงช็อกโกแล็ตแท่งได้เช่นกัน
- การใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
- อายุที่มากเกินขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ที่ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ โดยหญิงตั้งครรภ์อายุ 40 ปี มีความเสี่ยงกว่าหญิงอายุ 20 ปีเป็น 2 เท่า และความเสี่ยงนี้ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
- มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน หญิงที่เคยแท้งตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรอีกครั้ง
การแท้งมีหลายแบบดังนี้
1. แท้งคุกคาม คือการแท้งที่เด็กอาจจะเสียชีวิตแล้วหรือยังไม่เสียชีวิตก็ได้ แต่ยังไม่ออกจากมดลูก คุณแม่จะมีเลือดไหลจากโพรงมดลูก ถ้ารักษาทันท่วงทีอาจตั้งครรภ์ต่อไปได้
2. แท้งออกมาชนิดครบ คือ ทุกส่วนทั้งเด็กทารกและเนื้อรกหลุดออกมา คุณแม่จะมีเลือดออกพร้อมกับปวดท้องน้อย
3. แท้งออกมาชนิดไม่ครบ คือ อาจะมีเนื้อรกหลงเหลืออยู่หรือเด็กทารกออกมาไม่ครบ คุณแม่จะมีเลือดจะออกมาเรื่อย ๆ ปวดท้องน้อยเป็นพัก ๆ ผู้ที่แท้งอาจจะเสียเลือดมาก และต้องรักษาด้วยการขูดมดลูก
4. การแท้งค้าง หรือตายคลอด (Stillbirth) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ไปแล้ว คือ การที่เด็กทารกเสียชีวิตแล้ว แต่ไม่หลุดออกมา คุณแม่อาจไม่มีเลือดออก ต้องคอยสังเกตการขยับตัวของลูก ถ้าลูกเริ่มดิ้น หากเมื่อไหร่เป็นช่วงที่ปกติลูกต้องดิ้นแล้วลูกหยุดดิ้น นั่นเป็นสัญญาณที่ควรระวังมาก ๆ คุณจำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันที
ทางที่ดี เมื่ออายุครรภ์มากแล้ว เด็กเริ่มดิ้นแล้ว ให้คุณแม่พยายามนับจำนวนครั้งที่ลูกเตะต่อชั่วโมงในช่วงเวลาที่ลูกคุณชอบเตะ หากวันไหนจำนวนเตะน้อยลงไปเยอะ คุณควรจะรีบไปพบแพทย์ เพื่อเช็คความแข็งแรงของลูก และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการตายคลอด
สามีคู่ชีวิตคือคนที่สำคัญ
ไม่ว่าการแท้งจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด อย่าโทษกัน อย่าผลักสามีออกไป ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่คุณต้องการเค้ามากที่สุด จำไว้ว่า ลูกก็คือลูกของสามีคุณเช่นกัน ต้องให้กำลังใจกันและกัน
ทำไมต้องไปพบแพทย์
ถึงแม้ว่าคุณจะยังไม่อยากมีลูกอีกคนหลังจากที่แท้ง ก็ควรไปพบแพทย์อยู่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอะไรหลงเหลือและร่างกายของคุณแม่สมบูรณ์ หากมีปัญหาเกิดขึ้นจะได้แก้ได้ทันท่วงที
การรักษาการแท้ง
หญิงตั้งครรภ์ที่แท้งบุตรและเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์ถูกขับออกไปหมดแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องรับการรักษาอีก แต่สำหรับรายที่ยังมีเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์อยู่ภายในมดลูก แพทย์จะมีวิธีการรักษาต่อไปนี้
- การเฝ้าระวังดูอาการ แพทย์อาจรอให้การแท้งดำเนินไปโดยธรรมชาติ ซึ่งมักจะใช้เวลาภายใน 2 สัปดาห์จึงจะรู้ได้ว่าตัวอ่อนยังอยู่หรือไม่ หรือเป็นไปได้ว่าจะใช้เวลานานถึง 3-4 สัปดาห์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์จึงอาจเป็นช่วงเวลายากลำบากและส่งผลต่อจิตใจ ทั้งนี้ครรภ์ที่แท้งและไม่สามารถขับออกมาได้เอง แพทย์จะใช้ยาหรือกระบวนการทางแพทย์เข้าช่วย
- การใช้ยารักษา เมื่อวินิจฉัยพบแน่แล้วว่ามีการแท้งเกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจได้รับยาเพื่อช่วยขับเอาเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์และรกออกมาได้เร็วยิ่งขึ้น โดยมีทั้งยาชนิดรับประทานหรือยาสอดเข้าไปที่ช่องคลอด ทั้งนี้แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแบบสอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและยังเป็นการลดผลข้างเคียงอย่างอาการคลื่นไส้และท้องเสียไปในตัว การรักษาชนิดนี้จะช่วยขับเนื้อเยื่อออกมาได้ภายใน 24 ชั่วโมง และใช้ได้ผลกับหญิงแท้งบุตรถึงประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์
- กระบวนการทางการแพทย์ เป็นการดูดหรือขูดมดลูกที่จะใช้ในกรณีที่เกิดการแท้งร่วมกับมีเลือดออกมากหรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เริ่มจากการขยายปากมดลูกให้กว้างออกและนำเอาเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกมา การรักษาวิธีนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือความเสียหายต่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่บริเวณปากมดลูกหรือผนังมดลูก แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก
ส่วนการพักฟื้นตัวจากการแท้งมักใช้เวลาภายในเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่เกิน 2 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากผู้ป่วยมีเลือดออกมาก เป็นไข้ หรือรู้สึกปวดผิดปกติควรต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
หลังจากนั้นร่างกายของผู้ป่วยจะสามารถผลิตไข่ออกมาใหม่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ทำให้กลับมามีประจำเดือนตามปกติได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ และผู้ป่วยจะคุมกำเนิดด้วยวิธีการใด ๆ ได้ทันทีหลังการแท้งบุตร อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสอดสิ่งของใด ๆ เข้าภายในช่องคลอด เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
หญิงที่แท้งบุตรจะสามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้งทันที แต่คู่สามีภรรยาที่จะพยายามมีบุตรอีกครั้ง ควรมีการเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ หรืออาจพูดคุยปรึกษากับแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์อีกครั้งเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม การแท้งมักมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หญิงที่เคยแท้งบุตรมาแล้วจึงยังสามารถตั้งครรภ์และคลอดได้สำเร็จในครั้งต่อไป และมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่แท้งบุตรติดต่อกัน 2 ครั้ง ส่วนการแท้งอย่างต่อเนื่อง 3 ครั้งขึ้นไปนั้นมีอัตราการเกิดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุของการแท้งอย่างต่อเนื่องก็อย่าเพิ่งหมดหวังในการมีบุตร เพราะประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของหญิงที่เผชิญปัญหานี้สามารถตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้ในที่สุด
ที่มา : 1
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ