เชื่อว่าหลายบ้านอาจจะต้องมีปัญหานี้แน่นอนค่ะ กับการที่อาหารล้นตู้จนกลายเป็นตู้เย็นไม่สะอาดเหมือนก่อน เจอเข้าแบบนี้เปิดตู้เย็นมาทีคงหายหิวกันเป็นแถบเลยว่าไหมคะ แถมการล้างตู้เย็น ทำความสะอาดตู้เย็นให้เหมือนใหม่ ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเป็นวัน สูญเสียพลังงานในการจัดเก็บ คัดแยกอาหาร พร้อมทำความสะอาดเชื้อราให้สิ้นซาก แต่ต่อไปนี้การล้างตู้เย็นจะกลายเป็นเรื่องง่าย วันนี้ theAsianparent มีเทคนิค วิธีล้างตู้เย็น ให้หมดจดทุกตารางนิ้ว ถ้าทนไม่ไหวกับสภาพตู้เย็นสุดยี้กันแล้วเริ่มกันเลยค่ะ
วิธีล้างตู้เย็น ให้สะอาดหมดจด
1. ตู้เย็นต้องโล่ง
การทำความสะอาดตู้เย็น สิ่งแรกที่ต้องทำเลยก็คือ การทำให้ตู้เย็นมีความโล่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหลาย ๆ คน ก็คงจะมีอาการเดียวกันคือโรคเสียดายของ ที่ไม่ว่าจะซื้ออะไรมาไว้ในบ้าน ก็มักจะเอาเก็บไว้ในตู้เย็นเสมอ บางอย่างก็หมดอายุหรือหากเป็นของสดก็แทบจะเน่าคาตู้ ทำให้อาหารชนิดอื่น ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของกลิ่นที่สะสม
เพราะฉะนั้นต้องกำจัดของที่ควรทิ้งให้เรียบร้อย โดยเฉพาะของกินที่เก็บมานานให้ทิ้งได้เลย ไม่ต้องเสียดาย ไม่อย่างนั้นอาจจะเน่าคาตู้ได้ แนะนำว่าให้หาถุงขยะสำหรับใส่เศษอาหารมาใช้โดยเฉพาะ เพื่อแยกขยะออกจากกันและง่ายต่อการทิ้ง หากเป็นอาหารที่มีน้ำก็อาจจะต้องซ้อนถุงเพิ่มอีก 1 ชั้น ป้องกันการรั่วของเศษขยะค่ะ!
2. คัดของใช้และของทิ้ง
ถึงแม้ว่าจะเคลียร์อาหารหรือของกินที่อยู่ในตู้ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเรียบร้อยดี เนื่องจากวิธีทำความสะอาดตู้เย็นที่ครบครันจริง ๆ ต้องตรวจเช็กสิ่งของอื่นที่อยู่ในตู้นอกเหนือจากอาหารด้วย ว่ามีอะไรที่ควรจะทิ้งเพิ่มเติมอีกบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
- เครื่องปรุงรส : ให้เช็กปริมาณว่าเหลือมากน้อยแค่ไหน หมดอายุแล้วหรือไม่ ในกรณีที่เหลือไม่มาก แนะนำว่าให้ทิ้งได้เลย
- ซอสชนิดต่าง ๆ : เช่น ซอสมะเขือเทศ ไม่ควรจะเก็บไว้นานเกินไป ไม่เหมาะกับการเก็บในตู้เย็น การแช่ตู้เย็นทำให้เนื้อสัมผัสหนืดและข้นมากขึ้น
- เครื่องเทศ : เป็นการเก็บรักษาที่ผิดวิธี แช่ตู้จะทำให้ดูดซับความชื้น ก่อให้เกิดเชื้อรา เพราะฉะนั้นหากแช่เครื่องเทศไว้ในตู้เย็น ควรทิ้งทันที ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อ
- สมุนไพร : การแช่ตู้เย็นจะทำให้สมุนไพรเกิดการคายน้ำ ใบเหี่ยวเฉา ส่งผลให้สรรพคุณลดลง ให้เอาออกและอย่าแช่ตู้เด็ดขาด
บทความที่เกี่ยวข้อง : บ้านรก บ้านสกปรก จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพและความร่ำรวย แก้ไขได้แค่จัดระเบียบบ้าน ทำได้ไม่ยาก!
3. ถอดปลั๊กตู้เย็นก่อนทำความสะอาด
ก่อนจะเข้าสู่วิธีการล้างตู้เย็น แนะนำให้ดึงปลั๊กไฟออกก่อนให้เรียบร้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการสิ้นเปลืองพลังงานขณะที่ทำความสะอาด และเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากที่เก็บกวาดอาหารในตู้เย็นที่ไม่สามารถกินได้ออกหมดแล้ว จากนั้น ถอดชิ้นส่วนที่ถอดออกได้ทั้งหมดจากตู้เย็น เช่น ชั้นวางและลิ้นชัก แล้ววางลงบนโต๊ะอย่างระมัดระวัง – อย่าให้ชิ้นส่วนเหล่านี้แตกหรือบิ่น
ข้อดีของการดึงปลั๊กไฟก่อนล้างตู้เย็น ไม่ใช่แค่ช่วยป้องกันการโดนไฟดูดและเพื่อความปลอดภัยในการทำความสะอาดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้น้ำแข็งในช่องฟรีซละลายได้เร็ว โดยเฉพาะบ้านที่อาจจะไม่ได้ทำการละลายน้ำแข็งเป็นประจำ จนทำให้น้ำแข็งมีความหนา
4. แยกชิ้นส่วน เพื่อทำความสะอาด
เมื่อทำการเคลียร์ตู้เย็น รวมถึงแยกของเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้แยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตู้เย็นออกจากกัน เพื่อนำมาทำความสะอาด โดยเฉพาะบางอย่างที่อาจเปื้อนไปด้วยคราบสกปรก การแยกชิ้นส่วนจะทำให้ทำความสะอาดตู้เย็นได้ทั่วถึง และง่ายมากกว่าการเช็ดโดยที่ไม่แยกชิ้นส่วน ซึ่งตู้เย็นแต่ละประเภทก็จะมีชิ้นส่วนที่ต้องทำความสะอาดมากน้อยไม่เหมือนกัน
สำหรับการล้างชิ้นส่วนบางอย่างของตู้เย็น เช่น ถาดรอง ถาดรองน้ำแข็ง เมื่อถอดออกมาแล้วสามารถล้างโดยการใช้ฟองน้ำและน้ำยาล้างจานได้เลย และเมื่อล้างเรียบร้อยแล้วก็ให้เอาไปผึ่งให้แห้ง เพื่อเตรียมนำมาประกอบเข้าตู้เย็นใหม่อีกครั้ง บางชิ้นส่วนอาจจะล้างด้วยน้ำยาล้างจานได้ก็จริง แต่ให้ตรวจสอบกับคู่มือก่อนเสมอ
5. ล้างตู้เย็นด้วยฟองน้ำ
ขั้นตอนของการทำความสะอาดบริเวณภายในตู้ ให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำยาล้างจาน แล้วเช็ดทำความสะอาดได้เลย แนะนำว่าให้เช็ดทุกซอกทุกมุมอย่างละเอียด หลังจากเช็ดคราบเสร็จแล้ว ก็ให้เอาฟองน้ำไปชุบน้ำเปล่าแล้วมาเช็ดตามให้เรียบร้อย จนกว่าฟองจากน้ำยาล้างจานจะหมด ในกรณีคราบที่อยู่ในตู้ฝังแน่น แนะนำให้เอาแอมโมเนียผสมกับน้ำอุ่น เอาไปแต้มบริเวณคราบหรือแช่ไว้ 3 – 5 นาที หลังจากนั้นให้ขัดด้วยฟองน้ำตามปกติได้เลย
การทำความสะอาดภายนอก ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่กัดกร่อน และฟองน้ำหรือผ้าที่นุ่มเพื่อเช็ดด้านหน้าและด้านข้างของตู้เย็น หากเครื่องของคุณมีผิวเป็นสเตนเลสสตีล ให้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการทำความสะอาด ใช้ผ้าแห้งเช็ดพื้นผิวอีกครั้งเพื่อช่วยให้แห้งเร็วยิ่งขึ้น
คอยล์คอนเด็นเซอร์จะอยู่ด้านหลังของตู้เย็นใกล้กับพื้น เมื่อเวลาผ่านไปอาจเป็นที่สะสมของฝุ่นจำนวนมากหากไม่มีการทำความสะอาด ดังนั้นจึงควรดึงตู้เย็นออกจากผนังด้านหลัง ดูที่คอยล์คอนเด็นเซอร์แล้วใช้มือหยิบเศษฝุ่นและผงออก คุณสามารถใช้เครื่องดูดฝุ่นที่ปรับแรงดูดต่ำเพื่อทำความสะอาดได้
6. กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์
ถึงแม้ว่าจะทำความสะอาดเรียบร้อยดีแล้ว แต่จะสังเกตได้ว่า ตู้เย็นยังคงมีกลิ่นหลงเหลืออยู่บ้าง ให้ทำการดับกลิ่นภายในตู้เย็นก่อนที่จะประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ กลับเข้าที่เดิม โดยใช้น้ำร้อนผสมกับเบกกิ้งโซดา หลังจากนั้นนำมาล้างตู้เย็นอีกรอบเพื่อดับกลิ่น นอกจากนี้ เบกกิ้งโซดายังช่วยกำจัดแบคทีเรียและเชื้อราได้ดีอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำแอร์หยด อันตรายไหม ปัญหาจุกจิกที่ป้องกันได้ รวมข้อควรรู้แก้น้ำแอร์หยดอย่างตรงจุด
7. เก็บของเข้าตู้เย็น พร้อมจัดระเบียบใหม่
หลังจากที่เสร็จสิ้นการล้างตู้เย็นพร้อมดับกลิ่นแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนให้เข้าที่ ระหว่างนี้อย่าลืมเช็กความสะอาดอีกรอบ เมื่อประกอบทุกอย่างครบให้ทยอยเก็บของเข้าตู้เย็น พร้อมจัดวางของที่จะเก็บให้เรียบร้อย แยกโซนออกจากกันอย่างชัดเจน
การคัดแยกอาหารเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ลำดับอาหารภายในตู้ เช่น ของที่เก็บได้นานควรจะเก็บไว้ด้านใน ของสดให้ไว้ด้านนอก นอกจากนี้จัดระเบียบด้วยการใช้กล่องจัดระเบียบ หรือใช้กล่องอาหารพลาสติกทั่ว ๆ ไป เพราะนอกจากจะทำให้ตู้เย็นมีระเบียบ ยังช่วยให้หยิบจับมาใช้สอยได้ง่าย รวดเร็ว
สุดท้ายดันตู้เย็นกลับเข้าที่ แล้วเสียบปลั๊ก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าชิ้นส่วนทั้งหมดแห้งดีก่อนใส่กลับเข้าที่ แล้วปล่อยให้เครื่องทำงานประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมงเพื่อให้อุณหภูมิเป็นปกติก่อนใส่อาหารกลับเข้าไป
8. เพิ่มกลิ่นหอมให้ตู้เย็น วางกับดักกลิ่นเหม็น
ถึงแม้จะรู้วิธีทำความสะอาดตู้เย็นแบบจัดเต็ม รวมถึงเทคนิคการจัดระเบียบตู้เย็นใหม่ไปแล้ว แนะนำว่าให้เพิ่มอีก 1 วิธี คือ เพิ่มกลิ่นหอมให้กับตู้เย็นพร้อมกับวางกับดักดับกลิ่น เพื่อป้องกันปัญหากลิ่นอาหารสะสมจนทำให้ต้องมานั่งรื้อตู้เย็นอีกหลายรอบไม่รู้จบ
- เพิ่มความหอมด้วยน้ำมันหอมระเหย
เทคนิคแรกของการเพิ่มความหอม คือ การใช้สำลีชุบกับน้ำมันหอมระเหย ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นวานิลลา กลิ่นเลมอน กลิ่นส้ม หรืออื่น ๆ ตามความชอบ แล้วเอาไปวางไว้ในตู้เย็น อาจจะวางไว้มุมใดมุมหนึ่งก็ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความหอมและความสดชื่นให้กับตู้เย็นตัวโปรด เมื่อกลิ่นเริ่มจางก็ให้เปลี่ยนสำลีใหม่ได้เลย
- ถ่านดับกลิ่นและผงกาแฟช่วยได้
หนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้ตู้เย็นของคุณไม่เหม็นหืน ก็คือ การใช้ถ่านดับกลิ่นไปวางไว้ในตู้เย็น บางบ้านอาจจะเลือกใช้ผงกาแฟสดก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ สามารถนำเบกกิ้งโซดาใส่แก้วเล็ก ๆ แล้ววางไว้ในตู้เพื่อดับกลิ่นแทนก็ได้
- ดูดซับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์
สำหรับช่องใส่ผักสด แนะนำว่าให้ดักกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรืออาจจะใช้กระดาษถุงสีน้ำตาลก็ได้ โดยให้นำมาขยำแล้วเอาไปวางไว้ในช่องที่ใส่ผักสดด้านล่าง ข้อดีของการใช้กระดาษคือ ช่วยดูดซับกลิ่นภายในตู้ ทั้งยังช่วยเพิ่มความสดใหม่ให้กับผักได้นานกว่าเดิม
สำหรับใครที่เพิ่งซื้อบ้านหรือซื้อคอนโด แต่ตู้เย็นเจ้ากรรมในบ้านกำลังกลายเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อโรคและขยะ อันยากต่อการทำความสะอาด สามารถนำ 8 ขั้นตอนการทำความสะอาดตู้เย็นข้างต้น ไปช่วยเนรมิตให้ตู้เย็นกลับมาสะอาดดังเดิมได้ ประหนึ่งเหมือนซื้อตู้เย็นใหม่เข้าบ้าน จัดการทำความสะอาดตู้เย็นให้หมดจดเหมือนใหม่และเข้าที่เข้าทางแล้ว คราวนี้ก็เสียบปลั๊กตู้เย็นให้ทำงานได้ตามปกติแล้วจ้า
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เก็บสายไฟโต๊ะคอม ทำอย่างไรไม่ให้รก วิธีเก็บที่ใครก็ทำตามได้!
วิธีล้างแอร์ด้วยตัวเอง เคล็ดลับเข้าใจง่าย ผู้หญิงก็ทำเองได้ ไม่ต้องง้อช่าง!
วิธีทำความสะอาดไมโครเวฟ เคล็ด(ไม่)ลับ กำจัดคราบสกปรก เก่าแค่ไหนก็เหมือนใหม่!
ที่มา : homepro.co.th