ก่อนหน้านี้หลายบ้านอาจจะมีช่างมาช่วยทำความสะอาดแอร์ให้ที่บ้านทุกปี แต่การลองล้างแอร์ด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะนอกจากลดช่องว่างในการใกล้ชิดแล้ว ยังสามารถประหยัดค่าล้างแอร์ได้อีกด้วยค่ะ แต่ที่สำคัญที่ต้องไม่ลืมเลยก็คือ การล้างแอร์นั้นถือเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียด และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง แต่เอาเข้าจริงแล้ว วิธีล้างแอร์ด้วยตัวเอง กลับทำได้ง่ายและไม่ยากอย่างที่คิด วันนี้ theAsianparent ก็มีเทคนิคดี ๆ สำหรับคนที่ต้องการล้างแอร์ด้วยตนเองมาฝากกันค่ะ เมื่อทำความเข้าใจตามบทความนี้แล้ว เชื่อว่านอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าไฟแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานและทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แถมลดเชื้อโรคที่อาจกำลังสะสมอยู่ในเครื่องด้วย
ควรล้างแอร์บ่อยแค่ไหน
สิ่งแรกที่ควรรู้เกี่ยวกับการล้างแอร์คือ ความถี่ในการล้างแอร์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะบ้านที่ใช้แอร์หนัก ๆ ไม่ควรละเลยเรื่องการดูแลรักษาและทำความสะอาดแอร์เด็ดขาด เพราะหากใช้แอร์ไปนาน ๆ โดยไม่ได้ทำความสะอาดเลยก็จะมีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เมื่อเปิดใช้งาน แอร์จะทำงานโดยดูดอากาศภายนอกเข้าไปด้านในตัวเครื่อง เพื่อหมุนเวียนและพ่นลมเย็นออกมาแทน ดังนั้นหากมีฝุ่นเกาะตามตัวเครื่อง ย่อมทำให้สิ่งสกปรกถูกดูดเข้าไปในแอร์ด้วย สุดท้ายก็จะเข้าไปจับตัวสะสมภายในเครื่อง ทำให้แอร์ระบายความเย็นได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และตัวเครื่องต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง แถมยังกินไฟเพิ่มขึ้น
ก่อนที่สิ่งสกปรกจะสร้างปัญหาให้แอร์พัง การล้างแอร์จึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ช่างแอร์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มีการล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือนเป็นมาตรฐาน แต่บางครั้งอาจพบว่าเพิ่งล้างแอร์ไปไม่ถึง 6 เดือน แอร์ก็เริ่มจะมีอาการไม่เย็นซะแล้ว กรณีแบบนี้อาจเกิดขึ้นจากแอร์สกปรกเร็วตามปัจจัยของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละบ้านนั่นเอง บ้านไหนที่เปิดแอร์ให้เครื่องทำงานหนักอยู่แทบจะตลอดเวลา โอกาสที่จะมีสิ่งสกปรกเข้าไปสะสมอยู่ภายในเครื่องก็ย่อมต้องมีมากกว่าเป็นธรรมดา จึงไม่แปลกที่อาจจะต้องล้างแอร์บ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้ครบ 6 เดือน
สรุปแล้วในสถานการณ์ทั่วไป การล้างแอร์ควรทำอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน หากปัจจัยแวดล้อมและลักษณะการใช้งานแอร์ไม่ปกติ ก็ควรล้างแอร์ให้บ่อยขึ้นโดยไม่ต้องรอ อาจจะลองสังเกตจากด้านหลังของคอยล์ร้อนที่ติดตั้งไว้นอกตัวบ้าน หากเริ่มเห็นว่ามีฝุ่นจับมากก็ควรล้างทันที อย่าปล่อยให้เกิดการอุดตันจนอากาศไหลเวียนไม่สะดวก เพราะปัจจัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบถึงการทำงานของแอร์ในส่วนอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีปัญหาตามมาในอนาคตด้วย
เตรียมอุปกรณ์และพื้นที่ให้พร้อม
ก่อนจะเริ่มล้างแอร์ ควรรวบรวมของที่ต้องใช้ให้ครบก่อน ได้แก่ สายยางพร้อมหัวฉีด, ผ้ายางให้น้ำไหล, ถังรองน้ำ, เทปกาวเพื่อติดผ้ายางไว้กับแอร์, น้ำยาล้างจานและฟองน้ำ, บันไดสำหรับปีน, ไขควง และผ้าสะอาด เมื่อได้ของครบแล้วให้เคลียร์พื้นที่ใต้แอร์ของเราให้โล่ง และปิดสวิตช์ตรงเบรกเกอร์ให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เก็บสายไฟโต๊ะคอม ทำอย่างไรไม่ให้รก วิธีเก็บที่ใครก็ทำตามได้!
วิธีล้างแอร์ด้วยตัวเอง
การล้างแอร์ด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพียงทำตามขั้นตอนดังนี้
- ให้เปิดฝาหน้าเครื่องออกแล้วถอดฟิลเตอร์กรองอากาศไปล้าง
- ขันสกรูตัวรับสัญญาณรีโมตออกจากหน้ากาก
- ขันสกรูและค่อย ๆ ถอดหน้ากากและฝาครอบกลางออก
- ขันสกรูถาดน้ำทิ้งออก ถอดมอเตอร์สวิงออก แล้วถอดถาดน้ำทิ้งออกมาล้างตามลำดับ
- ถอดแผ่นกระจายลมออก หาพลาสติกปิดวงจรไฟฟ้าไว้ไม่ให้โดนน้ำ
- ติดผ้ายางเข้ากับเครื่อง เพื่อให้น้ำที่ฉีดล้างลงไปยังถังที่เตรียมไว้
- ฉีดน้ำล้างแผงคอยล์ให้สะอาด อย่าให้โดนวงจรไฟฟ้า จากนั้นน้ำชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ถอดออกไปทำความสะอาด
- หาเครื่องเป่าลมใส่คอยล์หรือทิ้งไว้ให้แห้ง
- ประกอบชิ้นส่วนกลับเข้าที่ตามลำดับ
- ระหว่างที่รอให้คอยล์เย็นแห้งสนิท นำสายยางไปฉีดทำความสะอาดคอยล์ร้อนด้านนอกบ้านด้วย (ไม่ต้องถอดชิ้นส่วน)
- เมื่อชิ้นส่วนแห้งดีแล้วให้ทดลองเปิดแอร์ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที
วิธีล้างแอร์ตามประเภทอุปกรณ์
1. วิธีล้างแอร์ด้วยแปรงทำความสะอาด
เป็นวิธีล้างแอร์เบื้องต้นที่ค่อนข้างสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการล้างแอร์ด้วยวิธีอื่น เหมาะกับคนที่ติดตั้งแอร์ในตำแหน่งที่ไม่สะดวกต่อการล้างแอร์ด้วยน้ำบ่อย ๆ เช่น ติดตั้งแอร์ในพื้นที่เหนือชั้น ตู้บิวท์อิน พื้นที่ที่มีการจัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ โดยการเลือกใช้แปรงทำความสะอาดนั้น แนะนำให้ใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่มหรือแปรงสีฟันก็ได้ ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อทำความสะอาดเสร็จ ต้องไม่ลืมที่จะทำความสะอาดรอบ ๆ ห้องด้วย
- หาผ้าคลุมเฟอร์นิเจอร์เพื่อป้องกันฝุ่น จากนั้นให้เปิดหน้ากากแอร์ออก
- ใช้แปรงที่เตรียมไว้ ปัดทำความสะอาดตามแนวแผงอะลูมิเนียมเบา ๆ
- สอดมือเข้าไปปัดทำความสะอาดบริเวณพัดลมกรงกระรอกด้านใน
- ปัดทำความสะอาดแผงคอยล์ร้อนคอมเพรสเซอร์ด้านนอก
- พัดลมเป่า หรือใช้พัดให้เศษฝุ่นหลุดออกไปจนหมด
2. วิธีล้างแอร์ด้วยการล้างน้ำ
เป็นวิธีล้างแอร์ที่ต้องอาศัยความละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ต่อตัวแอร์และบริเวณรอบ ๆ โดยสิ่งที่ต้องเตรียมคือกระบอกฉีดน้ำ หากมีเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน ข้อควรระวังขณะทำความสะอาดคือ ตัวมอเตอร์ของใบพัดคอมเพรสเซอร์ ต้องไม่มีรูระบายอากาศให้น้ำเข้าได้ เพราะหากมอเตอร์โดนน้ำก็อาจทำให้อุปกรณ์เสียหาย ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบข้อมูลจากตัวแทนขายหรือผู้ผลิตแอร์รุ่นนั้น ๆ ให้แน่ชัดก่อนลงมือล้างแอร์ด้วยน้ำ
- นำถุงพลาสติกใบใหญ่ ๆ มาคลุมรองใต้ตัวเครื่อง
- จากนั้นฉีดน้ำด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมไว้
- ค่อย ๆ พรมน้ำไปตามแผงอะลูมิเนียมและบริเวณพัดลมกรงกระรอกให้ชุ่ม ทิ้งไว้แบบนั้น 10-15 นาทีโดยประมาณ
- หากอยากให้คราบสกปรกหลุดง่ายขึ้น สามารถผสมน้ำยาล้างจานกับน้ำสะอาดมาฉีดแทนได้ หลังจากทิ้งไว้จนครบเวลา
- ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างจนคราบสกปรกหลุด ทิ้งให้น้ำค่อย ๆ ระบายออกจนเริ่มหมาด
- ใช้ลมเป่าทุกส่วนจนแห้งสนิท
- ทำความสะอาดแผงคอยล์ร้อนกับใบพัดคอมเพรสเซอร์ด้วยวิธีการเดียวกัน
3. วิธีล้างแอร์ ด้วยโฟมหรือสเปรย์โฟม
ถือเป็นวิธีล้างแอร์ด้วยตัวเองที่ใครก็ทำได้ และเป็นวิธีล้างแอร์ที่ให้ผลลัพธ์สะอาดหมดจดเหมือนมืออาชีพที่สุด เพราะสเปรย์โฟมสำหรับล้างแอร์ส่วนใหญ่ มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคได้มากกว่า 90% ขึ้นไป แถมยังมีกลิ่นหอมให้เลือกหลายกลิ่นตามความชอบ และสามารถหาซื้อได้ง่าย ส่วนวิธีล้างแอร์ใช้วิธีเดียวกันกับการล้างแอร์ด้วยน้ำ เพียงแค่เปลี่ยนจากการใช้น้ำสะอาดมาเป็นการใช้โฟมแทน ซึ่งสิ่งสำคัญคือหลังจากฉีดล้างทำความสะอาดและเป่าจนแห้งแล้ว ให้เปิดพัดลมแอร์ไว้เพื่อช่วยไล่ความชื้นออกมาสักพักจนเครื่องแห้งสนิทเท่านี้ก็เรียบร้อย
การล้างแอร์ด้วยตนเองอาจฟังดูยุ่งยาก แต่เชื่อเถอะว่าถ้าลองทำจริง ๆ แล้ว ขั้นตอนไม่ซับซ้อนเลย จุดสำคัญคืออย่าให้น้ำกระเด็นโดนแผงวงจร ซึ่งอาจจะทำให้เครื่องเสียหายได้ นอกจากนี้อาจจะใช้โฟมสำหรับล้างแอร์หรือน้ำยาทำความสะอาดร่วมด้วยก็ได้ โดยปกติแล้วควรล้างแอร์ทุก 6 เดือน เพื่อประสิทธิภาพการทำงานและเป็นการยืดอายุของแอร์ไปในตัวด้วย ใครที่อยากลองทำเองก็นำวิธีการนี้ไปใช้ได้เลย ไม่ต้องง้อให้ช่างมาช่วยและประหยัดเงินไปได้หลายร้อยเลยทีเดียว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีซักหมอนยังไงให้สะอาด ไม่มีคราบสกปรก
โดนไฟดูด โดนไฟช็อต อันตรายใกล้ตัว ที่ควรรู้วิธีป้องกันรับมือ
เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านแบบไหน เป็นมิตรและปลอดภัยสำหรับเด็ก