ยาลดไข้เด็กกินกี่ cc วิธีคำนวณปริมาณยาตามน้ำหนักตัวลูกน้อย

ชวนมารู้จักยาลดไข้เด็ก ประเภทต่าง ๆ วิธีเลือกใช้ ยาลดไข้เด็กกินกี่ cc วิธีคำนวณปริมาณยา และการดูแลจัดเก็บยาให้เหมาะสม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เคยไหม ลูกมีไข้ ไม่สบายแต่ละที พ่อแม่ก็ต้องเข้ากูเกิล พิมพ์หาคำตอบว่า ควรให้ลูกกินยาลดไข้เด็ก แบบไหน ปริมาณเท่าไร เพราะแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่บ่อยครั้งก็ยังไม่แน่ใจ ว่ายาลดไข้เด็กชนิดใดเหมาะกับวัยของลูกเรา รวมถึง ยาลดไข้เด็กกินกี่ cc ในบทความนี้ เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จัก ยาลดไข้เด็ก ประเภทต่าง ๆ วิธีเลือกใช้ และการดูแลจัดเก็บยาให้เหมาะสม

 

ยาลดไข้เด็ก แต่ละประเภท

ซาร่า ไทลินอล นูโรเฟน ดูแรน ชื่อเหล่านี้เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนน่าจะคุ้นเคยอยู่บ้าง เพราะนี่คือชื่อยาลดไข้สำหรับเด็กซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา แต่รู้ไหมว่า ยาลดไข้เหล่านี้ มีตัวยาแตกต่างกันไปค่ะ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ยาลดไข้สำหรับเด็ก มีตัวยาแตกต่างกันอยู่ 2 ชนิดคือ  พาราเซตามอล (Paracetamol) และ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) โดยแต่ละตัวก็มีสรรพคุณ และข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. พาราเซตามอล

พาราเซตามอล เป็นตัวยาที่พบได้ในยาลดไข้เด็กยี่ห้อยอดนิยม อย่าง ซาร่า และ ไทลินอล อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตัวอย่างเดียวกัน แต่ก็มีข้อบ่งใช้ต่างกัน 

  • ซาร่า สำหรับเด็ก มีตัวยาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร เป็นยาน้ำเชื่อมที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด และลดไข้ในเด็ก ผลิตในรูปแบบน้ำเชื่อมใสหรือยาน้ำแขวนตะกอน 
    • โดยมีข้อบ่งใช้คือ เหมาะสำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป และน้ำหนักตัวระหว่าง 4–24 กิโลกรัม สำหรับปริมาณให้คำนวณจากน้ำหนักตัวของเด็ก และอ่านฉลากยาประกอบ 
    • ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่อง G6PD โรคตับ หรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
    • หากเด็กมีไข้สูงเกิน 39.5°C ควรรีบพาไปพบแพทย์
  • ไทลินอล สำหรับเด็ก มีตัวยาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร เป็นยาน้ำแขวนตะกอนเข้มข้นที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด ปวดกล้ามเนื้อ และช่วยลดไข้ในเด็ก ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และแอสไพริน
    • มีข้อบ่งใช้คือ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2-11 ปี 
    • ใช้ยาตามปริมาณที่ระบุบนฉลาก โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวของเด็ก
    • เว้นระยะการให้ยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 5 ครั้ง
    • ห้ามใช้ในเด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ ไต หรือภาวะพร่อง G6PD โดยไม่ปรึกษาแพทย์
    • เด็กที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
    • หากเด็กมีไข้สูงเกิน 39.5°C ควรรีบพาไปพบแพทย์
  • เทมปรา คิดส์ มีตัวยาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร เป็นน้ำเชื่อมใส ใช้สำหรับลดไข้ บรรเทาปวด
    • มีข้อบ่งใช้คือ เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัว 4–24 กิโลกรัม
    • ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน
    • ห้ามใช้ในเด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ ไต หรือภาวะพร่อง G6PD โดยไม่ปรึกษาแพทย์
    • เด็กที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเป็นโรคตับ หรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

2. ไอบูโพรเฟน

เป็นอีกตัวยาหนึ่งที่นิยมใช้เป็นยาลดไข้เด็ก โดยยี่ห้อที่ได้รับความนิยม ได้แก่ นูโรเฟน และ ดูแรน แม้จะมีตัวยาเดียวกัน แต่ก็มีข้อบ่งใช้ต่างกัน คือ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • นูโรเฟน มีตัวยาไอบูโพรเฟน 100 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร เป็นยาน้ำเชื่อมแขวนตะกอน ใช้ลดไข้เด็กจากโรคต่าง ๆ เช่น หวัดและไข้หวัดใหญ่ และช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อ ยานูโรเฟน ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 
    • มีข้อบ่งใช้คือ เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งมีน้ำหนักตัวเกิน 5 กิโลกรัม 
    • ให้ยานูโรเฟนซ้ำได้ทุก 8 ชั่วโมง 
    • ไม่ควรให้ยาขณะเด็กท้องว่าง 
    • ไม่ควรให้ยาลดไข้เด็กนี้ในเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใส มีแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคตับ โรคไต และไข้เลือดออก
  • ดูแรน มีตัวยา ไอบูโพรเฟน 100 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร  เป็นยาลดไข้เด็กจากโรคต่าง ๆ เช่น หวัดและไข้หวัดใหญ่ และช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ 
    • มีข้อบ่งใช้คือ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป จนถึงเด็กอายุ 12 ปี และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 5 กิโลกรัม
    • ให้ยาห่างกันครั้งละ 8 ชั่วโมง และควรให้พร้อมอาหารหรือนม
    • ห้ามให้ยาเกิน 30 มิลลิกรัมต่อวันต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม เช่น เด็กน้ำหนัก 5 กก. (30 x 5 = 150) ดังนั้น ปริมาณยาที่ให้ต้องไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ไม่ควรให้ยานี้ ในเด็กที่มีแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคตับ โรคไต และไข้เลือดออก

หากจำเป็นสามารถซื้อยาลดไข้เด็กจากร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อได้ แต่ควรอ่านฉลากยา ดูวันหมดอายุ และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด 

cc กับ ml เท่ากันไหม ทำไมใช้ต่างกัน

อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย เมื่อต้องป้อนยาลูกคือ ยาลดไข้เด็กกินกี่ cc แล้วตัวอักษรย่อ cc ที่ว่าคืออะไร ปริมาณเท่ากับ ml ที่ระบุบนฉลากยาหรือเปล่า

คำตอบคือ ซีซี (cc) และ มิลลิลิตร (ml) เป็นหน่วยวัดปริมาตรที่มีค่าเท่ากัน โดย 1 ซีซี = 1 มิลลิลิตร เมื่อพูดถึงการป้อนยา มักนิยมใช้หน่วยวัดเป็น ช้อนชา และ ช้อนโต๊ะ ซึ่งสามารถเทียบปริมาตรได้ดังนี้

  • 1 ช้อนชา = 5 มิลลิลิตร (ml) = 5 ซีซี (cc)
  • 1 ช้อนโต๊ะ = 15 มิลลิลิตร (ml) = 15 ซีซี (cc) = 3 ช้อนชา

ตัวอย่างเช่น หากปริมาณยาที่แนะนำคือ 10 มิลลิลิตร ก็จะเท่ากับ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 2/3 ของช้อนโต๊ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ยาลดไข้เด็กกินกี่ cc

การคำนวณปริมาณยาลดไข้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็กและความเข้มข้นของตัวยา โดยทั่วไปปริมาณยาพาราเซตามอล ที่ควรได้รับอยู่ที่ 10-15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อครั้ง หากเด็กน้ำหนัก 10 กิโลกรัม และต้องการใช้ยาพาราเซตามอลในขนาด 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

  • ยาซาร่า (120 มก./5 มล.) จะต้องกิน = (15 × 10)/120 × 5 = 6.25 มิลลิลิตร หรือ 6 ซีซี ต่อครั้ง
  • ยาไทลินอล (160 มก./5 มล.) จะต้องกิน = (15 × 10)/160 × 5 = 4.69 มิลลิลิตร หรือ 4 ซีซี ต่อครั้ง

ปริมาณยาอาจปรับเปลี่ยนได้ตามน้ำหนักตัวของเด็ก โดยแพทย์หรือเภสัชกรมักแนะนำให้ป้อนยาทุก 4–6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ทั้งนี้ ห้ามป้อนยาเกิน 5 ครั้งต่อวัน เพื่อป้องกันการรับยามากเกินไป

สิ่งสำคัญคือ ควรอ่านฉลากยาทุกครั้งก่อนใช้ เนื่องจากยาลดไข้สำหรับเด็กแต่ละยี่ห้ออาจมีความเข้มข้นของตัวยาที่แตกต่างกัน ทำให้ปริมาณยาที่ต้องใช้ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ควรตรวจสอบน้ำหนักตัวของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพสูงสุดและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

วิธีเก็บรักษายาลดไข้เด็ก

ยาลดไข้เด็ก บ่อยครั้งเมื่อเปิดแล้วมักกินไม่หมด วิธีเก็บรักษาที่แนะนำคือ

  • เก็บยาในที่แห้งและเย็น ห่างจากแสงแดดโดยตรง
  • ยาน้ำควรเก็บในตู้เย็นหลังจากเปิดใช้ และใช้ให้หมดภายในเวลาที่ระบุบนฉลากยา เช่น 1-3 เดือนหลังเปิดขวด
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของยาเสมอ และไม่ใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันการเผลอหยิบไปใช้ผิด

ยาลดไข้เด็กเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งบ้านที่มีลูกเล็ก ควรมีไว้เป็นยาสามัญประจำบ้าน โดยควรศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่า ยาลดไข้เด็กกินกี่ cc หากรู้สึกไม่มั่นใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

นอกจากนี้ การดูแลลูกน้อยเมื่อมีไข้ไม่ใช่เพียงการให้ยาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลด้วยความเอาใจใส่ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากอาการไข้ไม่ลดลงหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

ที่มา: Podpad, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์  

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา