เด็กพลังเยอะ อยู่ไม่นิ่ง เลี้ยงยังไง ผิดปกติไหม หรือเป็นพฤติกรรมตามวัย

undefined

เด็กพลังเยอะ มักเล่นวิ่งไปมาตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง มาทำความเข้าใจ วิธีเลี้ยงเด็กพลังงานเยอะ และวิธีสังเกตเด็กซนแบบไหนผิดปกติ เสี่ยงสมาธิสั้น

เด็กๆ มักมีพลังงานล้นเหลือ จึงสามารถเล่นได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เด็กแต่ละคนอาจแสดงพลังไม่เหมือนกัน เด็กบางคนมีพลังงานเยอะ นั่งเฉยไม่ได้ บางคนอาจไม่ยุกยิกเท่าเด็กคนอื่นๆ เด็กพลังเยอะ มักเล่นวิ่งไปมา และบางครั้งก็เล่นแรงจนทำให้พ่อแม่หรือคนรอบข้างกังวล พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่มีพลังงานเยอะ มักรู้สึกว่าการเลี้ยงดูเด็กพลังเยอะเป็นเรื่องยาก เด็กๆ อาจถูกตีตราว่า เด็กดื้อ เด็กซน แต่หากเข้าใจที่มาของพลังงานที่ล้นเหลือเหล่านี้ และรับมือกับพวกเขาอย่างถูกต้องเหมาะสม เด็กพลังงานเยอะ ก็เป็นเด็กน่ารักคนหนึ่ง บทความนี้ชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง มาทำความเข้าใจเด็กซนเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

เข้าใจที่มาของ เด็กพลังเยอะ สาเหตุที่ทำให้ลูกอยู่ไม่นิ่ง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเด็กๆ ก็มีความกังวลเหมือนกับผู้ใหญ่ แต่ปัญหาที่เด็กๆ กังวลนั้นอาจไม่ต้องใช้พลังงานในการแก้ปัญหาเท่ากับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเด็กๆ จึงมีพลังงานเหลือเฟือที่จะใช้ในแต่ละวัน ในฐานะพ่อแม่ เรามักกังวลเรื่องการดูแลลูกให้ปลอดภัย สุขภาพดี และมีความสุข ท่ามกลางความวุ่นวายของชีวิตประจำวัน ทั้งงาน และความรับผิดชอบในบ้านที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ขณะที่ผู้ใหญ่หมดแรง เด็กๆ บางคนกลับเก็บพลังงานไว้เพื่อสำรวจโลกกว้างรอบตัวพวกเขา ลองมาดูกันว่า สาเหตุที่ทำให้ลูกอยู่ไม่นิ่ง มีพลังงานล้นเหลือมาจากอะไรบ้าง

  • วัยอยากรู้อยากเห็น สำหรับเด็กๆ โลกทั้งใบเต็มไปด้วยความตื่นเต้นที่รอให้ค้นพบ ทุกสิ่งรอบตัวดูแปลกใหม่ น่าสนใจ และอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้วสัมผัส ทั้งเสียง รสชาติ สัมผัส ภาพ และกลิ่นที่ไม่คุ้นเคย เด็กๆ มักอยากทำความรู้จักสิ่งรอบตัวทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ความตื่นเต้นนี้อาจทำให้เด็กๆ แสดงออกมาเกินไป จนผู้ใหญ่มองว่าเด็กซน แต่จริงๆ แล้วพวกเขาก็แค่เรียนรู้และสำรวจโลกใบใหม่เท่านั้น 
  • สำรวจโลกกว้าง เมื่อมีอะไรที่น่าสนใจ เด็กๆ อาจวิ่งสำรวจอย่างไม่หยุดหย่อนเด็กเล็กมักขาดการควบคุมตัวเองและความสามารถทางสมองที่จะหยุดทำสิ่งที่พวกเขาชอบ เช่น ไม่ว่าจะเล่นซ่อนแอบไปกี่รอบแล้ว พวกเขาก็พร้อมเล่นอีกโดยไม่เหนื่อยง่ายๆ เพราะพวกเขารู้ว่าชอบอะไร และสนุกกับสิ่งนั้นจริงๆ หากพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่านี่เป็นพฤติกรรมตามวัยของเด็ก ก็จะช่วยลดความรู้สึกเหนื่อยล้า หรือความกังวลใจที่กลัวว่าลูกจะไม่ปกติไปได้
  • อาการสมาธิสั้น หรือไฮเปอร์แอคทีฟ บางกรณีเด็กที่มีพลังงานเหลือเฟืออาจเป็นเพราะพวกเขามีภาวะบางอย่าง เช่น ออทิสติก สเปกตรัม ความล่าช้าด้านพัฒนาการ หรือสมาธิสั้น (ADHD)
  • พันธุกรรมและการเลี้ยงดู เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กบางคนมีพลังงานเหลือเฟือและกระตือรือร้นมากกว่าเด็กคนอื่นๆ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมหรือครอบครัวบางแบบก็สนับสนุนและยอมรับพฤติกรรมที่แอคทีฟมากกว่า เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่ชอบผจญภัย ก็อาจมีลูกที่ชื่นชอบการปีนป่าย อยู่ไม่เฉย ทั้งหมดนี้พันธุกรรมและการเลี้ยงดูก็มีผลไม่น้อย 

เด็กพลังเยอะ

เด็กพลังเยอะ แบบนี้ปกติหรือเปล่า?

แม้ว่าพฤติกรรมพลังเยอะ จะเป็นธรรมชาติของเด็กๆ แต่บางกรณีการที่เด็กๆ มีพฤติกรรมล้นเหลือ อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น  (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) 

ซึ่งโรคสมาธิสั้น จะพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุ 3–7 ปี อาการเด่นชัดของโรคนี้คือ ขาดสมาธิ ซุกซนเกินวัย วอกแวกง่าย ไม่อยู่นิ่ง ขาดความรับผิดชอบ และไม่ตั้งใจฟังเวลามีคนพูดด้วย โดยเด็กที่มีอาการไม่รุนแรงอาจเริ่มแสดงออกชัดเจนในช่วงวัยเรียน ซึ่งต้องรับมือกับงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคุณครู สาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจน แต่พบว่าสมองส่วนหน้าที่ควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ

ข้อมูลต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ประเมินเบื้องต้นได้ว่า ลูกเป็นเด็กพลังงานเยอะตามธรรมชาติ หรือว่ามีสาเหตุมาจากโรคสมาธิสั้นกันแน่ 

(A) อาการขาดสมาธิ (Inattention)

หากเด็กมีอาการต่างๆ ต่อไปนี้ 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการขาดสมาธิ (Inattention) 

  • ไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียดหรือไม่รอบคอบเวลาทำงานที่โรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น
  • ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
  • ดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนอยู่
  • ทำตามคำสั่งได้ไม่ครบ ทำให้งานที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ (โดยไม่ใช่เพราะต่อต้านหรือไม่เข้าใจ)
  • มีปัญหาในการจัดระบบงานหรือกิจกรรม ทำงานไม่เป็นระเบียบ
  • เลี่ยงไม่ชอบหรือไม่เต็มใจในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด (เช่น การทำการบ้านหรือทำงานที่โรงเรียน)
  • ทำของที่จำเป็นในการเรียนหรือการทำกิจกรรมหายบ่อย ๆ (เช่น อุปกรณ์การเรียน)
  • วอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย
  • หลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ

(B) อาการอยู่ไม่นิ่ง – หุนหันพลันแล่น

หากเด็กมีอาการต่างๆ ต่อไปนี้ 6 ข้อ (หรือมากกว่า) นานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าลูกมีอาการอยู่ไม่นิ่ง – หุนหันพลันแล่น 

  • อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
  • หยุกหยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้
  • ลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในสถานการณ์อื่นที่เด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่
  • วิ่งไปมาหรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ ในที่ ๆ ไม่สมควรกระทำ
  • ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้
  • พร้อมวิ่งตลอดเวลาหรือทำเหมือนเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา
  • พูดเยอะ พูดไม่หยุด
  • อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
  • โพล่งคำตอบโดยที่ฟังคำถามไม่จบ
  • ไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย
  • ขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่น (ระหว่างการสนทนาหรือการเล่น)

โดยอาการทั้งหมดเหล่านี้ มักพบก่อนที่ลูกจะอายุ 7 ปี และมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระทบการใช้ชีวิตทั้งที่บ้านและโรงเรียน หากสงสัยว่าลูกซน อยู่ไม่นิ่งเป็นเพราะอาการสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลรักษาได้ถูกวิธี

เด็กพลังเยอะ

แค่พลังเยอะทั่วไป พ่อแม่รับมือยังไงดี

สำหรับเด็กๆ ที่พ่อแม่มั่นใจแล้วว่าไม่ได้มีอาการสมาธิสั้นหรือเจ็บป่วย เพียงแต่เป็นเด็กมีพลังเยอะชอบสำรวจโลกกว้างใหญ่ ตื่นใจกับสิ่งที่ได้พบเจอ จนทำให้พ่อแม่วิ่งตามจนเหนื่อย อาจใช้วิธีต่อไปนี้ รับมือกับพลังงานเหลือเฟือของลูก

  • สร้างกฏเกณฑ์ เด็กที่มีพลังงานเหลือเฟือ อาจเข้าข่ายเด็กเลี้ยงยาก เพราะพวกเขาพร้อมที่จะวิ่งออกไปตลอดเวลา จนไม่ได้สนใจสิ่งที่พ่อแม่พร่ำบอก อย่างไรก็ตาม แม้ลูกจะอยู่ไม่เฉย พ่อแม่ก็ควรพูดกับลูกอย่างช้าๆ และใจเย็น เพื่อบอกกฎเกณฑ์สิ่งที่เขาทำได้และไม่ได้ 
  • สื่อสารชัดเจน บางครั้งความตื่นเต้นก็มักทำให้ลูกแสดงพลังออกมามากเกินไป พ่อแม่ช่วยได้ด้วยการบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าเขากำลังจะเจอกับอะไรบ้าง เช่น ก่อนไปกินข้าว บอกลูกว่าที่ร้านอาหารจะมีโซนเด็กเล่น ลูกจะเล่นได้ต่อเมื่อกินข้าวหมดก่อน โดยพ่อแม่ให้เวลาเล่น 1 ชั่วโมง ความชัดเจนของพ่อแม่ ช่วยให้ลูกจัดการตัวเองได้ง่ายขึ้น 
  • เล่นแบบ Free Play หาสถานที่กว้างๆ และปลอดภัย เช่น สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะที่มีพื้นที่โล่งกว้าง ปล่อยให้ลูกได้ใช้พลังงานอย่างเต็มที่ 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยให้พวกเขาได้ปลดปล่อยพลังงาน ไม่ว่าจะเรียนว่ายน้ำ ร่วมทีมฟุตบอล เต้น ฯลฯ การวิ่งกระโดด การเล่นกระโดดเชือก หรือการปีนต้นไม้ ช่วยให้เด็กสามารถจดจ่อได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้พวกเขาเผาผลาญพลังงานส่วนเกินด้วย

ที่มา : Parents, โรงพยาบาลกรุงเทพ 

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รวม 100+ นิทานเสริมพัฒนาการ ของลูกน้อย จัดเต็มทั้งหนังสือและคลิป

สอนลูกชายให้เป็นสุภาพบุรุษ ยุค 2025 ทำอย่างไร? 20 สิ่งที่ควรสอน

7 คำพูดที่ลูกอยากได้ยินจากพ่อแม่ คำพูดฮีลใจ พูดให้ลูกฟังบ่อยๆ นะ

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!