กรมแพทย์เตือนภัย 4 โรคหน้าร้อน พบบ่อยใน "เด็ก" โรคหน้าร้อนในเด็ก

อากาศเปลี่ยนแปลง ร้อนเกิน ร้อนจัดในปีนี้ จนกรมแพทย์เตือนภัย 4 โรคหน้าร้อน พบบ่อยใน "เด็ก" โรคหน้าร้อนในเด็ก มีอะไรบ้างมาดูเลย

เมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง เรื่องของสุขภาพร่างกายก็เป็นอะไรที่น่ากังวลมาก ๆ โดยเฉพาะอากาศร้อน และยิ่งประเทศไทย เป็นประเทศที่ร้อนมาก ๆ จนขนาดกรมแพทย์ออกมาเตือนโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงนี้ กรมแพทย์เตือนภัย 4 โรคหน้าร้อน พบบ่อยใน "เด็ก" โรคหน้าร้อนในเด็ก

กรมแพทย์เตือนภัย 4 โรคหน้าร้อน พบบ่อยใน เด็ก  โรคหน้าร้อนในเด็ก

 

กรมการแพทย์ ได้เตือนผู้ปกครองระวังโรคหน้าร้อนในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก และฮีทสโตรก โดยช่วงนี้แนะนำให้หลายบ้านปรุงอาหารสุกใหม่ รักษาความสะอาดร่างกาย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศร้อนจัดไม่ถ่ายเท

โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์  เผยว่าในช่วงต้นเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิที่สูง เชื้อโรคต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะมาปะปนกับอาาหาร และน้ำดื่ม แนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะเด็กมีภูมิต้านทานร่างกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เล่าต่อว่า โรคหน้าร้อนที่พบบ่อยในเด็กมีมากมาย โดยจะมาทั้งหมด 4 ประเภทดังนี้

กรมแพทย์เตือนภัย 4 โรคหน้าร้อน พบบ่อยใน "เด็ก" โรคหน้าร้อนในเด็ก

1.โรคท้องร่วง

โรคท้องร่วงเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว พยาธิ โดยสามารถติดจากการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคเข้าไป โดยจะพบอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ติดเชื้อในเลือดและเสี่ยงต่อชีวิตได้

2.โรคอาหารเป็นพิษ 

โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อต่าง ๆ ที่มาจากพิษแบคทีเรีย เชื้อรา สารเคมีที่เข้ามาปนเปื้อน โดยส่วนใหญ่พบจากอาหารที่ไม่สุกสะอาด ทำให้เกิดอาการมีไข้ ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ และถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง

 

กรมแพทย์เตือนภัย 4 โรคหน้าร้อน พบบ่อยใน เด็ก  โรคหน้าร้อนในเด็ก

 

3.โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก 

โรคภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่พบบ่อยในหน้าร้อน อากาศร้อน โดยอาการของโรคคือผิวหนังจะแห้ง คัน และไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ซึ่งก่อให้เกิดผื่นขึ้นเป็นลักษณะ เป็น ๆ หาย ๆ สามารถป้องกันโดย เลือกสวมเสื้อผ้าเนื้อนุ่ม ใช้สบู่อ่อน และใช้ครีมบำรุงผิวเป็นประจำ

4.โรคลมแดดหรือฮีตสโตรก

อากาศที่ร้อนเกินไปทำให้ร่างกายปรับสมดุลอุณหภูมิไม่ได้ จนทำให้เกิดอาการฮีตสโตรก โดยอาการที่พบได้แก่ ปวดศรีษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจจะช็อกจนเสียชีวิตได้

ผู้ปกครอง พ่อแม่ ควรระมัดระวังในเรื่องสุขภาพ และความสะอาดให้แก่เด็ก ๆ โดยมีหลักสำคัญคือ ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดในร่างกาย หลีกเลี่ยงอากาศร้อน หากร้อนควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลมให้ลูก และพยายามให้เด็กอยู่ในอากาศที่ถ่ายเทได้ดี ดื่มน้ำให้มากในวันอากาศร้อนจัดเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และดูแลสุขอนามัยเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคในหน้าร้อน

นอกจาก 4 โรคหน้าร้อนที่กรมแพทย์ออกมาเตือน ก็ยังมีโรคหน้าร้อนสำหรับเด็กที่ควรระมัดระวังเพิ่มเติมได้แก่
  • เลือดกำเดาไหล

คุณแม่อาจตกใจที่จู่ๆ ก็มีเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูกของลูกเมื่ออากาศร้อนจัด ในกรณีที่ลูกเป็นภูมิแพ้นั้น เลือดกำเดาไหลมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ซึ่งคุณแม่ควรเตรียมการรับมือเอาไว้

อากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล

อาจารย์นายแพทย์อนัญญ์ เพฑวณิช ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลเมื่ออากาศร้อนไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก คือจมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น โดยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ชอบขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู หูอื้อ รวมถึงเลือดกำเดาไหลบ่อยด้วย

วิธีดูแลเมื่อลูกเลือดกำเดาไหล

ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน  ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะวิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกน้อยเลือดกำเดาไหล ดังนี้

  1. ให้ลูกก้มหน้าลง ใช้ใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5–10 นาที ระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน
  2. หลังเลือดกำเดาไหล 24-48 ชั่วโมงแรก ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูก การออกแรงมากๆ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
  3. เมื่อเลือดหยุดแล้วควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ ประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ
  4. ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที

 

  • ไข้หวัดแดด

นพ.ศักดา อาจองค์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไข้หวัดแดดเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น เมื่ออยู่ในบ้านอากาศเย็นแล้วออกนอกบ้านเจอกับอากาศร้อนในทันที หรืออยู่นอกบ้านอากาศร้อนแล้วเข้าห้างเจอแอร์เย็นๆ ทันที นอกจากนี้การดื่มน้ำเย็นจัดในขณะที่อากาศร้อนจัด ก็มีผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อร่างกายปรับตัวไม่ทันก็ทำให้มีอาการเหมือนเป็นไข้ขึ้นมาได้

ไข้หวัดแดดมีอาการอย่างไร

อาการของไข้หวัดแดดไม่ต่างจากหวัดในฤดูกาลอื่น คือจะมีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมีอาการไอ จาม เสมหะ น้ำมูก และอาจตามมาด้วยอาการเจ็บคอ ฯลฯ ส่วนความรุนแรงจะต่างกันไปอยู่ที่การรับเชื้อและสุขภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน

วิธีการดูแลเมื่อลูกเป็นไข้หวัดแดด

หากลูกเป็นไข้ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ทานอาหารร้อน ๆ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ทานยาลดไข้ และนอนพักผ่อน หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

วิธีป้องกันไข้หวัดแดด

  • หลีกเลี่ยงแดดร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงสถานที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ตลาด เพื่อป้องกันการรับเชื้อไวรัส
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นล้างมือให้สะอาด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

  • ลมแดด

เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล อธิบายเกี่ยวกับโรคลมแดดไว้ว่า โรคลมแดดเกิดจากอุณหภูมิรอบๆ ตัวสูงจัด ทำให้อุณภูมิในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการเต้นของหัวใจ และระบบหลอดเลือด ทำให้มีอาการตั้งแต่เป็นผื่นแดงๆ ตามร่างกาย ไปจนถึงเป็น ลมหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่เกิดได้ง่ายในเด็ก  เพราะร่างกายของเด็กมีการเผาผลาญพลังงานที่สูงกว่าวัยอื่นๆ แต่ระบบระบายความร้อนในร่างกายเด็กยังมีขนาดเล็ก

สังเกตอาการเมื่อลูกเป็นลมแดด

ลูกจะมีอาการตัวจะเริ่มร้อน ชีพจรเต้นเร็วแรง หิวน้ำบ่อยๆ และหายใจกระชั้นถี่ เหมือนคนพึ่งออกกำลังกายเสร็จ

วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นลมแดด

ควรรีบพาลูกเข้าไปในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อออกเพื่อให้ความร้อนระบาย ให้ลูกนอนหงาย ขายกสูงเพื่อให้ระบบการไหลเวียนของเลือดคล่องตัวมากขึ้น หาผ้าขนหนูก็ชุบน้ำมาเช็ดตัวจะช่วยให้อุณหภูมิเย็นลงเร็วขึ้น

วิธีป้องกันโรคลมแดด

ในวันที่อากาศร้อนจัด พยายามให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ ประมาณ 8-10 แก้ว ใส่เสื้อผ้าบางๆ หากออกนอกบ้านควรใส่หมวก ไม่ควรให้ลูกเล่นกลางแดดจัดๆ หรือจำกัดเวลาการเล่นกลางแจ้ง

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!