ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง อาหาร 6 อย่าง บรรเทาอาการทารกท้องเสีย
ทารกมักท้องเสียง่ายเป็นเรื่องปกติ แต่อาการท้องเสียอาจเป็นเรื่องใหญ่ได้ถ้าร่างกายขาดน้ำก็อาจเป็นอันตรายได้ คุณแม่หลายคนมักแยกอาการท้องเสียกับอุจจาระนิ่มจากการกินนมแม่ไม่ออก ดังนั้น จึงต้องอาศัยการสังเกตและจดจำลักษณะของอุจจาระลูกน้อย วันนี้ theAsianparent จะพาคุณแม่มาดูกันว่า ภาวะท้องเสียในทารกเกิดจากอะไร และหาก ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง ไปติดตามกันค่ะ
โรคท้องเสียในทารก คืออะไร
โรคท้องเสียในทารก คือ ภาวะที่ลูกถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ และไวรัส จากการรับประทานอาหารต่าง ๆ ที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ด้วย หากลูกถ่ายอุจจาระติดต่อกันหลายครั้ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ และภาวะขาดสารอาหารตามมา ซึ่งเด็กที่มีภาวะขาดน้ำจะมีอาการงอแง กระหายน้ำ เซื่องซึม ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหม่อมบุ๋ม ผิวแห้ง และมีปัสสาวะน้อยลง
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกท้องเสีย
คุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่าในช่วงเวลาปกตินั้น อุจจาระของเจ้าตัวน้อยมีสี กลิ่น และมีลักษณะอย่างไร ซึ่งโดยปกติแล้วทารกแรกเกิดมักขับถ่ายหลังดื่มนมแม่และอุจจาระจะมีลักษณะค่อนข้างนิ่ม หากทารกสามารถรับประทานอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ได้แล้ว ส่วนบนของอุจจาระอาจมีลักษณะต่างกันไปตามอาหารที่รับประทาน และอุจจาระมักมีลักษณะเป็นก้อนมากขึ้น ซึ่งสัญญาณท้องเสียของทารกลูกอาจมีอาการปวดท้อง มีแก๊สในท้อง หรือมีอาการท้องอืดก่อน
ส่วนอาการท้องเสียของทารกอาจสังเกตได้ยาก แต่หากพบว่าลูกน้อยขับถ่ายมากกว่าปกติและอุจจาระมีลักษณะเหลวผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าทารกมีอาการท้องเสียนอกจากนั้น อาจพบว่าอุจจาระมีมูกหรือเลือดปนออกมา หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติด้วย ซึ่งแม้อาการท้องเสียในทารกจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และไม่น่ากังวลเท่าใดนัก แต่หากทารกท้องเสียต่อเนื่องเป็นเวลา 1-2 วัน ก็อาจทำให้ร่างกายเด็กสูญเสียของเหลวและเกลือแร่จำนวนมากจนอาจเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารก
สาเหตุที่ทำให้ทารกท้องเสีย
อาการท้องเสียของทารกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรตา ไวรัสอะดิโน ไวรัสโนโร ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น และปวดเมื่อยตามร่างกายได้
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา ชิเกลลา สแตฟิโลค็อกคัส แคมปีโลแบคเตอร์ อีโคไล เป็นต้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อาจเป็นเหตุให้ทารกท้องเสียอย่างรุนแรง และอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน และมีไข้ร่วมด้วย
- การติดเชื้อที่หู อาจเกิดขึ้นได้จากทั้งเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ทารกมีอาการท้องเสียร่วมกับคลื่นไส้ เบื่ออาหาร เป็นหวัด และอาจสังเกตเห็นว่าทารกจับหรือดึงหูของตนเองบ่อยครั้ง
- การติดเชื้อปรสิต เชื้อไกอาเดียที่อาศัยอยู่ในลำไส้อาจทำให้ทารกท้องเสีย อุจจาระเป็นไข ท้องอืด หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร
- การใช้ยาปฏิชีวนะ เกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่ทารกต้องรับประทานยาเองหรือคุณแม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะในช่วงให้นมบุตร ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกมีอาการท้องเสียในช่วงระหว่างที่รับประทานยาหรือหลังจากใช้ยาจนครบตามที่แพทย์กำหนดแล้ว โดยอาจเป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยตรง หรือเกิดจากฤทธิ์ของยาที่ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อลำไส้ถูกกำจัดออกไปด้วย หากคาดว่าทารกท้องเสียเนื่องจากสาเหตุนี้ คุณแม่หรือทารกไม่ควรหยุดใช้ยาเอง แต่ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
- การดื่มน้ำผลไม้ปริมาณมาก โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสสูงหรือประกอบด้วยน้ำตาลซอร์บิทอล รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและอาจมีอาการท้องเสียตามมาได้
- การแพ้โปรตีนจากนมวัว ทารกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี ไม่ควรดื่มนมวัว นมผง หรืออาหารเด็กที่ทำจากนมวัว นอกจากนี้ ในบางครั้งหากคุณแม่ดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวก็อาจทำให้ทารกที่ดื่มนมแม่เกิดอาการแพ้โปรตีนจากนมวัวได้เช่นกัน โดยอาจส่งผลให้ทารกท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน หรือมีผื่นขึ้นตามร่างกาย
- การแพ้อาหาร เช่น ไข่ ถั่ว ถั่วเหลือง ธัญพืช ปลา หอย อาหารทะเล เป็นต้น โดยอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นในทันทีหรือหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปสักพักแล้ว เป็นเหตุให้มีอาการท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง และมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจมีผื่นคันขึ้นตามร่างกายหรือหายใจลำบาก นอกจากนี้ ทารกบางรายอาจมีอาการแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) อย่างการแพ้น้ำตาลแล็กโทส ซึ่งพบได้ไม่บ่อยในทารก และมักมีอาการบ่งชี้ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
- การได้รับสารพิษ รวมถึงสารเคมี สารจากพืช ยา หรือของเล่นต่าง ๆ ที่ไม่ควรนำเข้าปาก ซึ่งอาจทำให้ทารกท้องเสีย คลื่นไส้ หายใจไม่ออก ชัก หรือหมดสติได้
- ระบบย่อยอาหารของลูกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถย่อยโปรตีนบางชนิดได้ ส่งผลให้ลูกเกิดอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียตามมา
ลูกท้องเสียรับมืออย่างไร
โดยปกติแล้ว อาการท้องเสียในทารกคุณแม่สามารถรับมือได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีการดูแลเบื้องต้น สิ่งสำคัญคือการให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายและป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งวิธีการดูแลเมื่อลูกท้องเสีย มีดังนี้
- หมั่นให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยุดถ่าย เพราะอาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้
- สำหรับเด็กที่กินนมแม่ สามารถดื่มได้ตามปกติ เพราะนมแม่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกได้
- สำหรับเด็กที่เริ่มรับประทานอาหารแล้ว ควรให้ลูกกินอาหารอ่อน ๆ และป้อนทีละน้อย เพื่อให้ลำไส้ลูกสามารถย่อยอาหารง่ายขึ้น
- หากดื่มนมผสมควรชงนมสัดส่วนเท่าเดิม และเพิ่มจำนวนมื้อให้นมมากขึ้น แต่ควรลดปริมาณดื่มแต่ละมื้อให้น้อยลงเพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน
- เลือกสารอาหารที่ย่อยง่าย ช่วยในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหาร เช่น ข้าวบด หรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีใยอาหารสูง
- หากลูกอาการไม่ดีขึ้นหลัง 3 วัน ควรเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส ดื่มต่อเนื่องกันประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากร่างกายดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาดื่มนมแบบปกติ
ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง
ทารกมักท้องเสียง่ายเป็นเรื่องปกติ แต่อาการท้องเสียอาจเป็นเรื่องใหญ่ได้ถ้าร่างกายขาดน้ำ ลองมาดูอาหาร 5 อย่าง ที่ช่วยบรรเทาอาการทารกท้องเสียในทารกกันค่ะ
1. น้ำ
หมั่นให้ลูกดื่มน้ำบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำเด็ดขาด ให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่โออาร์เอสบ่อย ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไปค่ะ ไม่ควรให้ลูกกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ไม่ถูกขับออกมา และอาจทำให้เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ค่ะ
- นมแม่ ให้ลูกดื่มนมแม่ดีที่สุด เพราะไม่เพียงเติมน้ำให้ร่างกาย ยังเติมสารอาหารให้ลูกอีกด้วย
- น้ำเปล่า อย่าลืมจิบน้ำบ่อย ๆ ตลอดเวลา
- น้ำเกลือแร่ ORS จะซื้อผงเกลือแร่แบบสำเร็จรูป หรือทำเองที่บ้านก็ได้ตามสูตรนี้ ใส่น้ำตาล 8 ช้อนชา เกลือ 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 ลิตร
- น้ำผลไม้ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำมะนาว เพื่อคืนความสดชื่นหลังสูญเสียสารอาหารไป
2. ข้าว
ข้าวอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต จึงช่วยเพิ่มพลังงานให้ลูกน้อยได้ นอกจากนี้ ข้าวยังช่วยดูดซึมน้ำได้ดี ทำให้อึจับตัวเป็นก้อน
3. กล้วย
ลูกที่เริ่มกินอาหารเสริมในบางมื้อแล้ว ควรให้กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย โดยแต่ละมื้อควรป้อนทีละน้อย เพื่อให้ลำไส้ลูกค่อย ๆ ย่อยและดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ควรงดน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากไปก่อนนะคะ กล้วยมีโพแทสเซียม แร่ธาตุสำคัญที่สูญเสียไปขณะท้องเสีย
4. ทับทิม
ทับทิมมีสารช่วยบรรเทาอาการอักเสบ จึงช่วยแก้ท้องเสียได้ดี ลองคั้นน้ำทับทิมสดให้ลูกจิบเรื่อย ๆ ระหว่างวันดูนะคะ
5. ขนมปัง
เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบกินขนมปังและของกรุบกรอบอยู่แล้ว เพราะเคี้ยวมัน แถมแก้อาการมันเขี้ยวได้ดี แน่นอนว่าขนมปังก็มีคาร์โบไฮเดรต ซึ่งช่วยเติมพลังงานให้ร่างกายได้
ทั้งนี้ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่าสามารถป้อนอาหารเหล่านี้ให้ลูกน้อยได้หรือไม่ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ถ้าลูกเกิดท้องเสียรุนแรงและเริ่มแสดงอาการขาดน้ำ คุณแม่ต้องรีบพาไปหาคุณหมอทันที
6. โภชนาการย่อยง่าย
นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด อีกทั้งยังมีสารอาหารสำคัญอย่าง MFGM และ DHA ซึ่งช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย กรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้และมีความจำเป็นต้องให้นมผง คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่ย่อยง่ายให้กับลูกน้อย โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่ย่อยง่าย สามารถดูดซึมได้ดี เหมาะสมกับระบบย่อยอาหารของลูกน้อย
ทั้งนี้ หากอาการท้องเสียของทารกเกิดจากการแพ้นมวัว ซึ่งในกรณีนี้ คุณแม่มักจะพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่นขึ้น ถ่ายเป็นมูกเลือด มีอาการหอบ เป็นต้น คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง กรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ แพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยอย่างละเอียดที่มีคุณสมบัติ Hypoallergenic และเสริมด้วยโพรไบโอติกส์ อย่างเช่น แลคโตบาซิลัส รามโนซัส จีจี (LGG)
เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์
นอกจากอาหารท้องเสียรุนแรงและอาหารขาดน้ำแล้ว หากลูกมีอาการท้องเสียหลายวัน หรือเริ่มมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
- อ่อนเพลีย เซื่องซึม
- เบื่ออาหาร กินข้าวน้อยลง
- ท้องเสียตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป
- มีมูกเลือดปนออกมากับอุจจาระ
- มีอาการท้องเสียและมีไข้ร่วมด้วย
- ทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือนและมีอาการท้องเสีย
- มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กินนมน้อยลง กระหม่อมบุ๋ม หรือปัสสาวะน้อยลง เป็นต้น
คราวนี้คุณแม่ก็รู้กันแล้วใช่ไหมคะว่า ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง เพราะโรคท้องเสียในทารกนั้น เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา คุณแม่จึงต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยของลูกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน หากคุณแม่มีข้อสงสัยและต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะท้องเสียในทารก สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 ประโยชน์ที่ยกให้ “นมแม่” ชนะเลิศ
4 วิตามินพื้นฐานที่สำคัญต่อลูกน้อย เสริมอย่างไรไม่ให้ลูกป่วยบ่อย
10 อาหารบำรุงสมองใน 1,000 วันแรก ให้ลูกกินอะไร แล้วลูกฉลาด พัฒนาการสมองไว
ที่มา :nestle ,nakornthon , bpksamutprakan