ต่อมทอนซิลโต ปัญหาของบ้านน้องแอล โดยคุณแม่พาน้องแอล อายุ 4 ขวบ มาปรึกษาหมอด้วยปัญหาที่ว่ามีก้อนในคอโต เรื้อรังเป็นมาหลายเดือนไม่ยุบลงสักที หมอได้สอบถามประวัติอาการก็พบว่าน้องแอลมีอาการจาม คัน และคัดจมูก น้ำมูกไหลช่วงกลางคืนบ่อยๆ ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และมีอาการไข้ เจ็บคอ ทุก 1-2 เดือน จึงสงสัยว่าน้องแอลจะมีอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นๆ หายๆ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของต่อมทอนซิลโตเรื้อรังได้ค่ะ ต่อมทอนซิลโต มาหาคำตอบไปด้วยกัน
ต่อมทอนซิลโตเป็นอย่างไร ต่อมทอนซิลเกิดจากอะไร ?
ต่อมทอนซิล คือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในลำคอ มี 2 ข้าง มีหน้าที่หลักคือ การดักจับและทำลายเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย และ สร้างภูมิคุ้มกัน ต่อมทอนซิลจะมีขนาดโต เนื่องจากเซลล์ในต่อมถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวน
หากต่อมทอนซิลโตเพียงชั่วคราวแล้วหายไป มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งต่อมทอนซิลจะค่อยๆยุบลงเมื่อเชื้อโรคถูกกำจัดจากร่างกาย แต่ถ้าต่อมทอนซิลโตเรื้อรัง ไม่ค่อยจะยุบเป็นปกติ มักเกิดจากมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งต้องมองหาสาเหตุต่อไป ต่อมทอนซิลโตพบมากที่สุดในเด็กอายุก่อน 10 ปี เพราะหลังจากนั้นมันจะทำงานน้อยลงและมีขนาดเล็กลงไปเอง
ต่อมทอนซิลโต มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?
สาเหตุที่ต่อมทอนซิลโตเรื้อรัง พบบ่อยๆ ได้จากสาเหตุต่อไปนี้ค่ะ
– การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ
– โรคจมูกอักเสบ ทั้งจากภูมิแพ้และไม่ใช่ภูมิแพ้
– โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่พบไม่บ่อย เช่น มะเร็งที่ต่อมทอนซิล ซึ่งผู้ป่วยจะมีต่อมทอนซิลโตเพียงข้างเดียว พบในผู้ใหญ่อายุเลยวัยกลางคนขึ้นไปที่ปกติไม่ควรมีต่อมทอนซิลโตแล้ว
อาการของต่อมทอนซิลโตเป็นอย่างไร
เด็กที่มีต่อมทอนซิลโตและอักเสบระหว่างมีการติดเชื้อนั้นจะมีอาการไข้ เจ็บคอ กลืนลำบาก จนอาจมีน้ำลายไหล อาเจียนหลังทานอาหาร แต่หากต่อมทอนซิลโตเรื้อรังหลังจากหายติดเชื้อแล้ว อาจไม่มีอาการดังกล่าว แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการนอนกรน และ/หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ หรือมีความผิดปกติของหัวใจและไตหลังจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสที่ต่อมทอนซิล
การรักษาต่อมทอนซิลโตทำได้อย่างไร?
การรักษาทอนซิลโตจากการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันทำได้โดยการใช้ยาปฎิชีวนะร่วมกับการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ยาลดไข้ การให้ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารอ่อนๆ
ส่วนการรักษาต่อมทอนซิลโตเรื้อรัง จะรักษาที่สาเหตุ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานและยาพ่นจมูกสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ รักษาการติดเชื้อที่ไซนัสในผู้ป่วยที่มีไซนัสอักเสบ
บางครั้งคุณหมออาจแนะนำให้ตัดต่อมทอนซิลออก หากมีข้อบ่งชี้คือมีการอักเสบติดเชื้อของต่อมทอนซิลบ่อยมาก เช่น มีอาการเกิน 7 ครั้งใน 1 ปี หรือว่าเกิน 5 ครั้งติดกัน 2 ปี หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือสงสัยมะเร็งในต่อมทอนซิล ซึ่งการผ่าตัดต่อมทอนซิลสามารถแก้ไขอาการดังกล่าว ทั้งนี้ต่อมทอนซิลที่โตเรื้อรังจะเป็นต่อมที่ไม่ทำงานแล้ว และเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค จึงควรต้องตัดทิ้ง โดยไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียภูมิต้านทานไปจนผิดปกติ เพราะยังมีต่อมน้ำเหลืองในลำคออื่นๆทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้
เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีต่อมทอนซิลโตเรื้อรัง มีการอักเสบติดเชื้อของต่อมทอนซิลบ่อยๆ หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ ก็ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องนะคะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ดูคลิป หนูน้อยเป่ามนต์ให้เพื่อนหายเจ็บ โอมเพี้ยง !
โรคเฮอร์แปงไจน่า: โรคระบาดน่ากลัว กลุ่มเดียวกับโรค มือ เท้า ปาก