ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills, morning-after pills) เป็นยาเม็ดฮอร์โมนขนาดสูงที่ต้องรับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสที่จะตั้งครรภ์ การคุมกำเนิดวิธีนี้จะให้ประสิทธิภาพภายใน 2 – 3 วัน โดยจะไปรบกวนการตกไข่ หรือรบกวนการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิแต่หากได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะไม่สามารถป้องกันได้
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
- หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- สตรีถูกข่มขืน (Sexual assault)
- มีการใช้การคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้อง มีโอกาสล้มเหลว เช่น ถุงยางแตก หลุด หรือใส่ไม่ถูกต้อง
- ลืมทานยาคุมกำเนิด
- ชนิดฮอร์โมนรวมตั้งแต่ 3 เม็ด
- ชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดเดี่ยวลืมทานเกินเวลา 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมที่ทานประจำ หรือเกิน 27 ชม.จากเม็ด
- ชนิด desogestrel-containing pill (0.75 mg) มากกว่า 12 ชั่วโมง จากเวลาทานปกติ หรือเกิน 36 ชม.จากเม็ดที่ทานก่อน
- เลยกำหนดฉีดยาคุม
- มากกว่า 2 อาทิตย์ ชนิด norethisterone enanthate (NET-EN)
- มากกว่า 4 อาทิตย์ ชนิด depot-medroxyprogesterone acetate (DMPA)
- มากกว่า 7 วัน ชนิด combined injectable contraceptive (CIC)
- diaphragm or cervical cap หลุด ขาด หรือแตก ก่อนเอาออก
- ล้มเหลวในวิธีการหลั่งข้างนอก เช่น หลั่งในช่องคลอด หรืออวัยวะเพศด้านนอก
- คำนวณวันเว้นมีเพศสัมพันธ์พลาด
- ห่วงคุมกำเนิดหลุด หรือยาฝังหลุด
ข้อควรรู้ก่อนกินยาคุมฉุกเฉิน
- ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อได้ ยาชนิดนี้มีประโยชน์ในการป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์ได้ หากต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้วิธีสวมถุงยางอนามัยจะดีที่สุด
- มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้งเป็นความเข้าใจที่ผิด ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น นั่นคือต้องได้ยาเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก เแต่หากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นยานี้จึงไม่ใช่ยาทำแท้ง
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีผลข้างเคียงสูงมาก ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ต่อสภาพแวดล้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงมีผลต่อฮอร์โมนและทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวผู้ใช้ เช่น มีประจำเดือนผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน และหากกินบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกได้
- ความเข้าใจว่ายาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ทารกพิการได้หากรับประทานไปโดยไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มีรายงานว่าไม่พบทารกพิการจากมารดาที่รับประทานยาโดยที่ไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
- การรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าวตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75% แต่หากเริ่มยาภายใน 24 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 85% ดังนั้นจึงควรรับประทานยาเม็ดแรกหลังการมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด
- มีความเข้าใจว่า ใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อคุมกำเนิดระยะยาวได้ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง หากสามีภรรยาที่ยังไม่พร้อมมีบุตรแต่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว มีวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากกว่าเช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด โดยรับประทานทุกวันวันละ 1 เม็ด นอกจากนี้การรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำจะพบอาการข้างเคียงสูง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย รวมทั้งพบความเสี่ยงในการเกิดอุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น
- ยาคุมฉุกเฉินไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ และไม่มีผลทำให้การตั้งครรภ์ครั้งถัดไปช้าลง
- ถ้ามีอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง ควรทานยาซ้ำ ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยวชนิดโปรเจสตินนิยมมากกว่าชนิดฮอร์โมนรวม เนื่องจากมีคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่า ยังไม่แนะนำให้ทานยาแก้อาเจียนทุกครั้งที่ทานยาคุมฉุกเฉิน
วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาคุมฉุกเฉินกินยังไง
- Ulipristal acetate (UPA) ทาน 1 เม็ดครั้งเดียว (30 mg) มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินสูงกว่า Levonorgestrel ถึงแม้จะรับประทานยาล่าช้าออกไปจนถึง 120 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ UPA ยังสามารถต้านการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วได้โดยออกฤทธิ์รบกวนการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก ในขณะที่ levonorgestrel ไม่มีผลดังกล่าว ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
- ยาเม็ดฮอร์โมนเดียวโพรเจสโตเจน (0.75 mg) 2 เม็ด ทานห่างกัน 12 ชั่วโมง เม็ดแรกทันทีหรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยี่ห้อที่มีขายในประเทศไทย เช่น Madonna, Postinor, Mary Pink หรือรับประทาน levonorgestrel 1.5 mg ครั้งเดียวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์และอาการข้างเคียงไม่แตกต่างกัน
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (100 μg of ethinyl estradiol + 0.50 mg of LNG) 2 เม็ด ทานห่างกัน 12 ชั่วโมง (Yuzpe method) เช่น ใช้ยาคุมกำเนิดยี่ห้อ Yasmin ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 30 ไมโครกรัม ต่อ 1 เม็ด เพราะฉะนั้นให้กินครั้งละ 4 เม็ด อีก 12 ชั่วโมง
- การใส่ห่วงคุมกำเนิดทองแดงไม่เกิน 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ วันหลังการร่วมเพศซึ่งช่วยการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 99 มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการป้องกันการตั้งครรภ์ของการทานฮอร์โมนlevonorgestrel 0.75 mg (LNG) กับวิธี Yuzpe โดยให้รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง เช่นกัน พบว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีตัวยา LNG เดี่ยวๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ร้อยละ 85 (74 – 93) ในขณะที่ยาคุมกำเนิดที่มีตัวยาผสมระหว่าง estrogen กับ progestin (Yuzpe method) ป้องกันได้เพียงร้อยละ 57 (39 – 71) ดังนั้นการใช้ฮอร์โมน LNG จึงเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน แต่มีการศึกษาพบว่าน้ำหนักและค่า body mass index (BMI) มีผลต่อประสิทธิภาพยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด LNG เดี่ยวๆ โดยในหญิงที่มีน้ำหนักมากกว่า 75 กิโลกรัมมีความเสี่ยงที่จะคุมกำเนิดฉุกเฉินล้มเหลวสูงกว่าคนที่น้ำหนักน้อยกว่าประมาณ 4.5 เท่า และในหญิงที่มีค่า BMI มากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ดังนั้นสตรีที่มีน้ำหนักเกินจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้ จึงควรรีบรับประทานให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกพะอืดพะอม
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง มีอาการปวดท้องคล้ายกับตอนมีประจำเดือนได้
- เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก
ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิด
- มะเร็งของอวัยวะภายในของผู้หญิง และมะเร็งเต้านม
- โรคตับเฉียบพลันหรือตับแข็ง มะเร็งตับ
- เคยหรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคลิ่มเลือดอุดตัน
- โรคลมชัก ที่รับประทานยากันชัก
- โรคเบาหวาน ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ หรือมีภาวะหลอดเลือดผิดปกติ
- อายุมากกว่า 35 ปีสูบบุหรี่จัด อ้วน มีไขมันในเลือดสูง
- เป็นไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือน (Migraine with aura)
ยาคุมฉุกเฉินอันตรายหากใช้ผิดวิธี อาจท้องนอกมดลูก หรือเสี่ยงตกเลือดตาย!
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา พ.ต.ต.อรัณ ไตรตานนท์ นายแพทย์ สบ 2 กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ “ภัยจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน” ยาคุมฉุกเฉินอันตรายถ้าใช้ผิดวิธี ผ่านเฟซบุ๊ก อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน โดยระบุข้อความว่า จากประสบการณ์การดูแลคนไข้ บ่อยครั้งได้ดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตราย และในคนไข้บางรายอาจโชคร้าย ความรุนแรงจากการเสียเลือดอาจนำไปสู่การเสียชีวิต
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างเคสหนึ่งเป็นคนไข้อายุราว 20 ปี เพิ่งรู้จักกับเพื่อนชายคนสนิทไม่ถึง 6 เดือน นานๆ จะมีความสัมพันธ์กัน จึงไม่ได้คุมกำเนิดแบบจริงจัง และฝ่ายชายไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย สรุปว่าไปปรึกษาเพื่อนๆ จึงแนะนำให้รู้จัก “ยาคุมฉุกเฉิน” คนไข้เล่าว่าใช้ทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ เมื่อผมถามว่าใช้อย่างไร คำตอบที่ได้มาเป็นที่น่าพอใจครับ คนไข้ใช้อย่างถูกต้อง
คำตอบที่คนไข้บอกผมให้สามผ่านเลยครับ แสดงว่าศึกษามาอย่างดี แต่สิ่งที่คนไข้รายนี้ตกใจหนักมากคือ ภัยของมัน ซึ่งเพื่อนไม่ได้บอก ในคนไข้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นประจำ เช่น ใช้เดือนละ 2 กล่อง จะมีผลเสียเกิดขึ้นกับรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูก ในจำนวนนี้ ร้อยละ 2 จะเกิดการ “ตั้งครรภ์นอกมดลูก”
เนื่องจากยาคุมฉุกเฉิน มีผลทำให้การบีบตัวของท่อนำไข่ และเส้นขนเล็กๆ ภายในท่อนำไข่ทำงานผิดปกติ ตัวอ่อนจึงเคลื่อนที่ไปยังโพรงมดลูกได้ช้ากว่าปกติ และการฝังตัวของตัวอ่อนมีเวลาที่จำกัด เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายกำหนดต้องฝังตัวทันที ถ้าเคลื่อนที่ช้าตัวอ่อนจะไปไม่ถึงโพรงมดลูกตามธรรมชาติ ทำให้เมื่อถึงเวลาต้องฝังตัว ตัวอ่อนฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกติ พูดง่ายๆ ว่าฝังตัวก่อนไปถึงที่หมาย
ทารกจะไม่สามารถเติบโตแบบทารกปกติทั่วไปได้ เนื่องจากตำแหน่งที่ตัวอ่อนไปฝังตัวผิดที่ผิดทาง อวัยวะนั้นจะมีความบอบบาง ไม่สามารถขยายขนาดสำหรับการเติบโตของทารกได้ จึงมักเกิดการแตกหรือ การฉีกขาดของอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัว จนทำให้คนไข้ตกเลือดในช่องท้องอย่างมาก ดังนั้น เมื่อสุภาพสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วเกิดการขาดประจำเดือนและสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ จึงควรตรวจการตั้งครรภ์โดยเร็ว
“ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้เล่าให้ฟังว่า การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แนะนำให้ใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เช่น เหยื่อจากการข่มขืน, การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เป็นต้น ไม่แนะนำให้คนไข้ใช้ยานี้เป็นประจำนะครับ ถ้าเกิดตั้งครรภ์นอกมดลูกขึ้นมา อันตรายครับ”
อย่างไรก็ตาม การคุมกำเนิดนั้นมีหลายรูปแบบที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่ ยาเม็ด ยาฉีด การใส่ห่วงอนามัย ยาฝังใต้ผิวหนัง ถุงยางอนามัย แผ่นแปะคุมกำเนิด การหลั่งข้างนอก และการนับระยะปลอดภัย เป็นต้น.
ถึงแม้ยาคุมฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้าทานเม็ดแรกทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิดปกติ แม้ยาจะปลอดภัยก็ตาม เพราะขนาดของฮอร์โมนที่สูง ผลข้างเคียงของยา ตลอดจนความผิดปกติของรอบเดือนที่เกิดขึ้น อาการปวดเกร็งช่องท้องน้อย รวมทั้งไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้นควรเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และหลังการใช้หากประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดประจำเดือน เลือดออกไม่หยุด หรือปวดท้องไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์
ที่มา : www.ram-hosp.co.th , www.thairath.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 30 ลืมกินยาคุมกำเนิด 3 วัน ควรทำอย่างไร ?
ผลข้างเคียงที่เกิดจาก การกินยาคุมกำเนิด
ยาคุมฉุกเฉิน ใช้อย่างไร วิธีกินที่ถูกต้อง ยาคุมฉุกเฉินป้องกันการท้องได้จริงหรือ?