การพัฒนา ศักยภาพของลูก ในด้านต่างๆ ให้เติบโตดีมีพัฒนาการสมวัย เป็นความมุ่งหวังของคุณพ่อคุณแม่ทุกๆ คน ดังนั้นพ่อแม่หลายๆ คนจึงมักมุ่งเน้นไปที่วิธีการปฏิสัมพันธ์กับลูก แบบที่เชื่อว่าจะเสริม พัฒนา ศักยภาพของลูก ในด้านต่างๆ เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้ลูกพัฒนาไปให้ดีที่สุดเท่าที่พ่อแม่สามารถจะสรรหามาให้ได้ แต่บางทีพ่อแม่ก็อาจมีหลงลืมไปเหมือนกันว่า นอกจากการพูดการปฏิบัติต่อลูกและการจัดกิจกรรมมากมายให้ลูกได้ทำแล้วนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจถูกมองข้าม
คุณพ่อ คุณแม่เคยได้เหลียวมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกดูบ้างไหมคะ ว่าเราจัดชั้นวางหนังสือให้เด็กเล็กหยิบหาหนังสือเล่มโปรดได้ง่ายแค่ไหน จัดวางกระจกให้เค้าได้สำรวจและทำความรู้จักกับตัวเองและส่วนต่างๆ ของร่างกายบ้างหรือเปล่า ได้มีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบายขนาดพอดีตัวลูกๆ และมีสีสันสดใสที่จะดึงดูดความสนใจให้เค้าลงไปนั่งเล่นอะไรง่วนๆ อยู่กับตัวเองบ้างไหม นี่ละค่ะ สิ่งแวดล้อมรอบกายของลูกก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด้านอื่นๆ เลย คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะ ว่าการจัดสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้ว ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการได้มากเลยนะคะ
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพรสวรรค์ด้านต่างๆ หรือพัฒนาเรื่องการดูแลตัวเองในด้านต่างๆ สิ่งแวดล้อมอาจมีผลมากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คาดคิด ยกตัวอย่างเช่น การฝึกเข้าห้องน้ำ สิ่งแวดล้อมอย่างการจัดเตรียมเก้าอี้ตัวเล็กไว้ในจุดที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกนั่งถอดกางเกงได้ง่ายและว่องไวรวมถึงการใส่ชุดที่ถอดใส่ได้ง่ายสำหรับเด็กเล็ก อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่เป็นตัวแปรให้การฝึกเข้าห้องน้ำด้วยตนเองสำเร็จหรือล้มเหลวเลยก็ยังได้ การที่ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเอง ถอดกางเกงได้รวดเร็วจนเข้าห้องน้ำทันได้บ่อยขึ้น จะค่อยๆ ช่วยเสริมความมั่นใจในการจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะนำมาสู่ความกระตือรือร้นที่จะฝึกจนเข้าห้องน้ำด้วยตนเองได้จนสำเร็จในที่สุด
เด็กเล็กมีกระบวนการรับรู้และมีอุปนิสัยบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น การชอบระเบียบแบบแผนในชีวิตประจำวันที่ทำให้คาดเดาได้และสร้างความอุ่นใจ ชอบให้ของอยู่ที่เดิมจุดเดิม หรือชอบทำตามเลียนแบบผู้ใหญ่ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้เมื่อมารวมกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะพัฒนาศักยภาพของลูกน้อยไปได้ไกลเลยทีเดียว จึงอยากเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่มาฝึกฝนการจัดสิ่งแวดล้อมให้เจ้าตัวน้อยในด้านต่างๆ ดังนี้ค่ะ
วางของเล่นน้อยชิ้น และเก็บข้าวของวางไว้ที่เดิมทุกวัน
หลายครั้งที่พ่อแม่เผลอโมโหที่ลูกน้อยไม่ยอมเก็บของเล่นเข้าที่ หรือร้องไห้โยเยหาของเล่นชิ้นโปรดไม่เจอ จริงๆ แล้ว ปัญหาประจำบ้านแบบนี้แก้ไขได้ง่ายเพียงแค่คุณพ่อคุณแม่จัดมุมเล่นของเด็กให้เป็นระเบียบ มีของเล่นน้อยชิ้นให้ไม่รกรุงรัง แม้อาจจะมีวนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันบ้างเพื่อไม่ให้เบื่อ แต่เมื่อนำออกมา ในช่วงนั้นๆ ควรเก็บของเล่นไว้เป็นที่ ชิ้นไหนอยู่ตรงไหนก็พยามเก็บคืนตรงนั้นค่ะ เมื่อลูกเคยชินกับระเบียบตรงนี้แล้ว เด็กจะมีความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อไม่ได้เก็บของเป็นที่เป็นทาง คุณพ่อคุณแม่จะแปลกใจเมื่อลูกน้อยเริ่มมีนิสัยเก็บของเข้าที่เองโดยไม่ต้องเรียกไม่ต้องบอกกล่าวกันอีกต่อไป แถมเวลาอยากเล่นอะไรก็จะหาเองได้ไม่ต้องเสียน้ำตา
กำหนดสถานที่ที่จะทำกิจกรรมต่างๆ
เคยไหมคะ ที่กว่าลูกจะทำอะไรได้สักอย่าง คุณพ่อคุณแม่ต้องเสียเวลายื้อยุดกันไปมาอยู่นาน จริงๆ แล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ลองกำหนดสถานที่ ที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ ให้เป็นระบบระเบียบเลยตั้งแต่ต้น เด็กๆ จะรู้สึกอุ่นใจและคุ้นชิน อันจะทำให้การทำกิจกรรมนั้นๆ เป็นไปอย่างธรรมชาติ เช่น หากมีมุมเปลี่ยนผ้าอ้อม แทนที่เปลี่ยนผ้าอ้อมแต่ละครั้ง คุณพ่อคุณแม่จะต้องวิ่งไล่จับกันไปมาเพื่อให้ลูกอยู่นิ่งพอที่จะเปลี่ยน หากมีมุมสงบที่พาลูกไปเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้ง ลูกก็จะคุ้นชินจนพอบอกว่าจะเปลี่ยนผ้าอ้อมปุ๊บ ลูกแทบจะเดินเข้ามุมนั้นไปด้วยตัวเองเสียด้วยซ้ำไป
การเก็บข้าวของไว้ที่เดิมกับการกำหนดสถานที่นั้น หลักการคล้ายๆ กันค่ะ คือจะช่วยทำให้เด็กจัดระเบียบความคิดและการกระทำได้ง่ายขึ้น และทำบ่อยจนสุดท้ายติดเป็นนิสัยไปนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กหลายๆ คนอยู่บ้านอาจจะเป็นแบบหนึ่งแต่พอได้ไปเข้าโรงเรียนก็สามารถเก็บของเป็นระเบียบหรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามคุณครูได้ดี เพราะที่โรงเรียนมักจะมีการจัดวางข้าวของและทำกิจกรรมในสถานที่ที่เป็นระเบียบซ้ำเดิมเสมอ
ให้เด็กสัมผัสกับของจริงเสมอ
ส่วนหนึ่งของการจัดสิ่งแวดล้อมก็คือการสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาแวดล้อมตัวเด็กให้เด็กได้สงสัย สำรวจ และเรียนรู้ แน่นอนว่าสมุดภาพและนิทาน เป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะเปิดโลกกว้างให้หนูน้อยได้รู้จักกับสิ่งต่างๆ ได้เรียนรู้ชื่อเรียก สีสัน รูปร่าง แต่หากเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่ก็น่าจะหาโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสกับของจริงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพากันออกไปเก็บใบไม้ใบหญ้าในสวน ให้ลูกได้จับต้องเพื่อพัฒนาประสาทสัมผัส และให้ได้รับรู้ถึงความขรุขระของพื้นผิว สีสันที่แตกต่างกันไปหลายเฉดสี ไปจนถึงขนาดและรูปร่างของใบไม้แต่ละใบ ที่ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะไปหมดเสียทีเดียว หรือหากมีเวลาก็น่าที่จะลองพาลูกไปสวนสัตว์เพื่อให้ได้เห็นกับของจริง ได้กลิ่น ได้ยินเสียงร้องของสัตว์ชนิดต่างๆ หรือลองพาลูกไปดูการแสดงบนเวที ที่มีความแตกต่างไปจากการดูสิ่งเหล่านี้ผ่านจอ เป็นการเพิ่มประสาทสัมผัสทางสุนทรียะ
นอกจากนี้ การให้สัมผัสของจริง ยังรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม เมื่อเด็กเริ่มมีกล้ามเนื้อนิ้วมือที่แข็งแรงพอที่จะหยิบจับได้โดยไม่ตกแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจลองเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านี้จากพลาสติกเป็นของจริง แม้เด็กเล็กๆ ก็สามารถเข้าใจคำว่า แตกได้ หรือแตกไม่ได้ พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกถือประคองถ้วยจานอย่างระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้ การให้ใช้ของจริงต้องอาศัยความเชื่อใจของพ่อแม่สูง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยในการสอนเด็กให้รับรู้ถึงความเชื่อมั่นของพ่อแม่ที่มีในตัวเขาและช่วยเสริมสร้างความมั่นใจได้อีกด้วย โดยการเลือกอุปกรณ์ของจริง ควรคำนึงถึง ขนาด น้ำหนัก ความง่ายในการจับใช้และแตกหัก ซึ่งเครื่องใช้ที่เหมาะสม ขนาดเหมาะมือ รูปร่างกะทัดรัด น้ำหนักพอดีมือ ไม่หนักจนเกินไป จะช่วยให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ได้ชำนาญเร็วขึ้นด้วยค่ะ
ตระหนักไว้เสมอว่าผู้ใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม
ถึงจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาลองโฟกัสที่สิ่งแวดล้อมแต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดก็คือว่าผู้ใหญ่เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เด็กๆ มีนิสัยชอบทำตามอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ใหญ่เองก็ต้องระมัดระวังการกระทำของตนเองว่าได้เป็นแบบอย่างที่ดี และทำสิ่งต่างๆ ตามที่สอนลูกให้ทำด้วยหรือไม่ อย่างการเก็บของเข้าที่ให้เป็นระเบียบพ่อแม่เองได้ทำทุกวันหรือเปล่า หากอยากให้ลูกพูดจาไพเราะ พ่อแม่เองพูดคำหยาบต่อหน้าลูกหรือเปล่า พูดกระทบกระเทียบคนอื่นให้ลูกได้ยินบ่อยๆ หรือเปล่าและความที่ผู้ใหญ่รอบตัวเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากของเด็ก ที่บ้านเองก็ควรพูดคุยกันอยู่เสมอเพื่อมีข้อตกลงในการเลี้ยงเด็กไปในทิศทางเดียวกัน เด็กจะได้ไม่สับสนและเติบโตได้อย่างมั่นใจค่ะ
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ลูกน้อยก็จะได้ฝึกความมั่นใจในการทำอะไรด้วยตัวเอง ฝึกระเบียบวินัยโดยไม่ต้องขู่บังคับ และมีระบบระเบียบในการเรียนรู้โลกรอบตัว เพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งแวดล้อมก็จะมีส่วนช่วยให้เด็กๆ พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ และมีพัฒนาการที่สมวัย คุณพ่อคุณแม่ลองนำสิ่งเหล่านี้ไปลองปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รับรองจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
เรียบเรียงจาก หนังสือ หนูทำได้สไตล์มอนเตสซอรี เขียนโดย คันนาริ มิกิ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาสมองลูก ด้วย 21 วิธี ช่วยให้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ theAsianparent.com
อาหารเด็ก 2 ขวบ ของหวาน เมนูเด็ก รสชาติอร่อย เพิ่มพัฒนาการ!
วิธีเล่นแบบไหนช่วยเสริมพัฒนาการลูก