ดูลูกให้ดี!เด็กจมน้ำ ช่วงสงกรานต์สูงสุด ชี้ชัดจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี
เด็กจมน้ำ ช่วงสงกรานต์สูงสุด ชี้ชัดจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี : จากสถิติ 10 ปี โดยกรมควบคุมโรค พบเด็กจมน้ำช่วงสงกรานต์ 160 ราย เฉลี่ย 5 ราย มากกว่าปกติ 2 เท่าตัว โดยวันที่เกิดเหตุสูงสุดคือ ว้นที่ 14 เมษายน ของแต่ละปี แหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ คลองชลประทาน และอ่างเก็บน้ำ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดมาจากการที่ครอบครัวกินเลี้ยงสังสรรค์กันในช่วงวันหยุด แล้วปล่อยให้เด็กๆ เล่นน้ำกันเอง แนะสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องกำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย ส่วนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อ หรือสระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์ เพราะอาจลื่น และพลัดตกลงน้ำได้
กรมควบคุมโรค ระบุข้อมูลย้อนหลังจากกองยุทธศาสตร์ และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน ระหว่าง 13-15 เมษายน ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 160 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย มากกว่าช่วงวันปกติ 2 เท่าตัว โดยในวันที่ 14 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 6 ราย ส่วนข้อมูลเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 84 ราย เฉพาะช่วงสงกรานต์เพียง 3 วัน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 5 ราย อายุ 5-9 ปี วันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่มีเด็กจมน้ำสูงที่สุด ในวันเดียวถึง 5 คน โดยแหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุด คือคลองชลประทานและอ่างเก็บน้ำ
ทั้งนี้ขอแนะนำประชาชนเล่นน้ำให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ดังนี้
1.พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ และสระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์ เพราะอาจพลัดตก ลื่นลงน้ำได้
2.การเล่นน้ำให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่า 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายแล่งติดตัวไปด้วย หากหมดแรงให้นำมากอดแนบหน้าอก และลอยตัวไว้
3.ชุมชนร่วมกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในพื้นที่ และจัดการให้เกิดความปลอดภัย โดยให้มีการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ไม้ และนกหวีด
4.แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก ทะเล อ่างเก็บน้ำ สวนน้ำ เป็นต้น ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้สวมใส่ทุกครั้งที่เดินทาง หรือทำกิจกรรมทางน้ำ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เข้าถึงได้ง่าย ติดป้ายแจ้งเตือน และป้ายบอกความลึกของน้ำ
5.สระว่ายน้ำ ต้องมีเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อผู้รับบริการ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ป้ายบอกความลึกของน้ำ ป้ายบอกกฎระเบียบความปลอดภัยทางน้ำ และมีรั้วล้อมรอบสระว่ายน้ำทั้ง 4 ด้าน
6.ใช้หลัก “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ ได้แก่ ตะโกน เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยนอุปกรณ์ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา : thebangkokinsight
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ประสบการณ์ลูกจมน้ำ วิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ แบบไหนที่ห้ามทำเด็ดขาด
โรคที่มากับหน้าร้อน โรคฮิตสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกป่วย
5 กิจกรรมที่ทุกครอบครัวต้องทำ เมื่อวันหยุดยาวสงกรานต์มาถึง