ผ่านร่างกฎหมาย "พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก" ลงโทษลูก โดยไม่ตี ทำยังไง?
การลงโทษเด็กด้วยการตีเป็นวิธีที่ล้าสมัยและไม่ได้ผล เผยวิธีลงโทษลูกโดยไม่ต้องตี ทำยังไงให้ผลดี เมื่อการตีลูกเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก
ปัจจุบัน กฎหมายไทยยังคงให้สิทธิพ่อแม่ในการลงโทษบุตรตามสมควร แต่ช่องว่างนี้กลับถูกนำไปใช้ในการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้มีการผลักดันให้แก้ไขกม.ดังกล่าว หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก ล่าสุดความหวังใกล้เป็นจริงแล้วค่ะ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านร่างกฎหมายห้ามตีเด็กวาระสาม เตรียมส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นี้
สารบัญ
เปิดไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2478 เคยให้สิทธิพ่อแม่ในการลงโทษบุตร “ตามสมควร” เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่าการลงโทษ “ตามสมควร” นั้นหมายถึงอะไร ทำให้พ่อแม่สามารถตีหรือทำร้ายร่างกายลูกได้โดยไม่ผิดกฎหมายตราบเท่าที่ตนเองคิดว่าเป็นการลงโทษที่เหมาะสม
- แม้ในปีพ.ศ. 2519 ได้มีการชำระปรับปรุง แต่ก็ไม่มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว
- ต่อมา 4 ตุลาคม 2566 เวลาผ่านไปถึง 88 ปีกว่าจะมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองเด็กและสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อแก้ไข มาตรา 1567 (2) พ่อแม่ยังคงมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควรได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษด้วยวิธีด้อยค่า
- ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกนำเข้าสภา และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายถึงความสำคัญของการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษเด็ก โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบทางลบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ดังนี้
ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การตีหรือทำร้ายร่างกายเด็กส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก และการควบคุมตนเอง การถูกทำร้ายบ่อยครั้งจะทำให้เด็กมีความเครียดเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า และพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต
“เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงมักจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการเลี้ยงลูกของเรา การอบรมสั่งสอนลูกควรทำด้วยความรัก ความเข้าใจ และการอดทนอดกลั้น ไม่ใช่การใช้กำลัง”
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิของเด็ก และส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีที่เหมาะสม การเลี้ยงลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรงไม่เพียงแต่จะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดี แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่สงบสุขและน่าอยู่มากขึ้นด้วย
- ล่าสุด 30 ตุลาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ไม่ตีเด็ก วาระสาม ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อสามวาระในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยมีการตัดข้อความไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษด้วยวิธีด้อยค่าออก เปลี่ยนเป็น หรือกระทำโดยมิชอบ
[มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ] (2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ
พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก จึงถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการปกป้องสิทธิเด็กและส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว
ยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยไม้เรียว
ก่อนหน้านี้ในปีพ.ศ.2543 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2543 ได้ออกระเบียบการลงโทษใหม่ยกเลิกการใช้ไม้เรียว ครูบาอาจารย์ ไม่สามารถลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา โดยการตีหรือเฆี่ยนได้ สุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” จึงยังใช้ได้กับเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้น
สุภาษิต รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ยังใช้ได้อยู่ไหม?
ครอบครัวไทยเคยชินกับการลงโทษเด็กด้วยไม้เรียวมาตลอด ทั้งในบ้านและในโรงเรียน แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป วิธีการเลี้ยงลูกก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นวิธีที่ล้าสมัยและไม่ได้ผล เราควรหันมาใช้หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวก ซึ่งเน้นการสื่อสาร การให้เหตุผล และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้โดยไม่ต้องถูกตี
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชี้ชัดว่า การใช้ความรุนแรง เช่น การตี จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจและกลัวที่จะแสดงออก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของสมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions (EF) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ส่งผลให้สมองส่วนหน้าของเด็กของเด็กไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ฝึกควบคุมตัวเองและอาจทำให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรมตามมาในอนาคตได้
ทั้งที่ในความจริงแล้ว เด็กมีศักยภาพในการควบคุมตัวเองและอารมณ์ได้ตั้งแต่ยังเล็ก หากพ่อแม่เปลี่ยนจากการตี มาใช้วิธีเลี้ยงลูกเชิงบวก เด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากว่า เช่น เมื่อเด็กอยากได้ของเล่น แต่เราไม่สามารถให้ได้ การบอกปฏิเสธอย่างนิ่งๆ พร้อมทั้งอยู่เคียงข้างให้กำลังใจ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกผิดหวังและค่อยๆ สงบลงเอง
การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในหลายด้านอย่างรุนแรง และมีผลกระทบระยะยาวที่อาจตามมาได้ตลอดชีวิต ดังนี้
รักวัวให้ผูก รักลูกอย่าตี
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก The Lancet ได้ทำการศึกษาผลกระทบระยะยาวของการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กในหลายประเทศ พบว่าการตีลูกนั้นส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพศไหน เชื้อชาติใด หรือมีพื้นฐานครอบครัวแบบใดก็ตาม
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า
- ยิ่งตีมาก ยิ่งมีปัญหา เด็กที่ถูกตีมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์มากขึ้นเมื่อโตขึ้น
- ผลเสียสะสม การตีเพียงครั้งเดียวก็ส่งผลเสียต่อเด็กได้ และยิ่งถูกตีบ่อยเท่าไหร่ ผลกระทบก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
- ไม่มีผลดี การศึกษาไม่พบหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนว่าการตีจะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น
- เสี่ยงต่อการเข้าสู่ระบบคุ้มครองเด็ก ในหลายประเทศที่มีระบบคุ้มครองเด็กเข้มแข็ง การตีลูกอาจนำไปสู่การเข้าแทรกแซงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สรุปได้ว่า การตีลูกเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กในระยะยาว และไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น การเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเข้าใจ และการสื่อสารที่ดี จะเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก
นอกจากนี้ การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีและได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กอย่างร้ายแรง
เลี้ยงลูกเชิงบวก วิธีการลงโทษลูกโดยไม่ตี
พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ ได้แนะนำวิธีลงโทษลูกที่เรียกว่า Logical Consequence ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกวิธีหนึ่ง ที่เน้นการสอนให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรงหรือการลงโทษที่รุนแรงเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
ง่ายๆ เลยก็คือ การให้ลูกได้เรียนรู้จากผลของการกระทำของตัวเองนั่นเอง เช่น ลูกทำผิดกฎที่ตั้งไว้ พ่อแม่ก็จะให้ลูกได้รับผลที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ลูกทำไป
ยกตัวอย่างเช่น
- สถานการณ์ แม่บอกลูกว่าห้ามขี่จักรยานออกนอกหมู่บ้าน แต่ลูกก็ยังแอบขี่ไป
- Logical Consequence แม่จะเก็บจักรยานของลูกไป 1 วัน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าการฝ่าฝืนกฎจะทำให้เสียสิทธิ์บางอย่าง
หลักการสำคัญของ Logical Consequence มี 3 ข้อ
- Related (สัมพันธ์) บทลงโทษต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ถ้าลูกไม่ทำการบ้าน ก็อาจจะไม่ได้ดูการ์ตูน
- Respectful (เคารพ) การลงโทษต้องกระทำด้วยความสงบ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ และให้ความรู้สึกว่าเราต้องการให้ลูกเข้าใจมากกว่าที่จะลงโทษ
- Reasonable (สมเหตุสมผล) บทลงโทษต้องมีความเหมาะสมกับอายุและความผิดของลูก ไม่รุนแรงเกินไป และไม่นานเกินไป
ทำไม Logical Consequence ถึงสำคัญ?
- สอนให้ลูกรับผิดชอบ เมื่อลูกต้องรับผิดชอบผลของการกระทำของตัวเอง ลูกจะเรียนรู้ที่จะคิดก่อนตัดสินใจ
- สร้างความเข้าใจ การให้เหตุผลและอธิบายผลของการกระทำจะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าทำไมต้องได้รับบทลงโทษ
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดี การใช้ Logical Consequence จะช่วยให้พ่อแม่และลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์
- ลดพฤติกรรมซ้ำ เมื่อลูกได้เรียนรู้จากผลของการกระทำแล้ว ลูกจะไม่ทำผิดซ้ำอีก
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับวิธีการนี้ และใช้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลูกเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงควรปรับเปลี่ยนบทลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและอายุของลูก โดยหลังจากได้รับบทลงโทษแล้ว ควรให้โอกาสลูกได้แก้ไขและเริ่มต้นใหม่ด้วย
ที่มา: workpoint today , ilaw , thaipbs , เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ , thaipbskids
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิจัยชี้! พ่อแม่จู้จี้ (แต่ไม่ขี้บ่น) อาจเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของลูกสาว!
7 พฤติกรรมของพ่อแม่ ที่ทำให้ลูกก้าวร้าว !
ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?