อาการอิจฉาตาร้อนของลูกคนพี่อาจจะแสดงออกมาได้หลายวิธี เช่น พฤติกรรมถดถอย ความกังวลต่อการพลัดพราก ร้องอาละวาด พฤติกรรมติดพ่อติดแม่ การถอยห่าง และแม้กระทั่งความรุนแรงต่อน้องที่เป็นทารก คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมใจกับปฏิกิริยาเหล่านี้ตั้งแต่ที่คุณเริ่มตั้งครรภ์ลูกคนที่สองและดำเนินการต่อไปนี้เพื่อรับมือ
1) เตรียมลูกคนแรกให้พร้อมรับทารกที่จะเกิดมา
วิธีที่ดีที่สุดที่จะหยุดพี่ไม่ให้อิจฉาน้องคือต้องเตรียมพี่ให้พร้อมตั้งแต่คุณยังตั้งครรภ์น้องอยู่ ให้ลูกได้เห็นได้เจอเด็กทารกเมื่อคุณออกไปข้างนอก หากคุณมีเพื่อนที่มีลูกในวัยทารก นัดวันเยี่ยมกันให้เรียบร้อย เพื่อให้ลูกคนที่จะได้เป็นพี่ได้ใช้เวลากับเด็กทารก
2) พูดคุยถึงข้อดีของการมีน้องชายหรือน้องสาว
บอกลูกว่า ลูกทั้งสองจะได้เล่นด้วยกันได้เมื่อน้องที่เป็นทารกโตขึ้นและบอกลูกว่าลูกจะมีพี่น้องเป็นเพื่อนกันไปตลอดชีวิต
3) พาลูกคนแรกไปซื้อของให้น้องด้วย
ให้ลูกมีส่วนร่วมเลือกเสื้อผ้าและของเล่นทารก ลูกสาวตัวน้อยของฉันเลือกตุ๊กตาหมี ตั้งชื่อและให้ตุ๊กตาหมีนี้กับน้องชายเป็นของขวัญเมื่อเธอไปเยี่ยมน้องชายที่โรงพยาบาล ทุกวันนี้เธอยังคงตื่นเต้นกับการที่ได้ซื้อของขวัญชิ้นนี้และยังจ้อเรื่องนี้ไม่หยุดเลยค่ะ
4) ลองคิดดูว่าทารกเป็นผู้นำของขวัญมาให้พี่ของตัวเอง
เพื่อนคนหนึ่งของฉันแนะนำความคิดนี้ให้และเป็นวิธีการที่ได้ผลจริง ๆ การทำเช่นนี้ออกแนวเหมือนติดสินบนพี่ให้รักน้อง แต่ก็ได้ผลล่ะน่า ดังนั้นน้องทารกที่ลืมตาดูโลกนี้มาพร้อมของขวัญก็เหมือนได้แต้มทำให้พี่รักขึ้นมาทันตาเห็น
5) พยายามอย่าละส่วนที่ไม่ค่อยจะดีนักเกี่ยวกับการมีน้อง
หากลูกคุณโตมากเพียงพอที่จะเข้าใจ อธิบายให้ลูกรู้ว่าการที่ลูกกำลังจะมีน้องก็เหมือนกับตอนที่ลูกกำลังจะเกิดมา คุณก็อธิบายให้ลูกรู้ด้วยว่าน้องของลูกก็จะโตขึ้นมาเช่นกันเมื่อเวลาผ่านไป
ทำให้พี่ไม่อิจฉาน้องอีก 5 ข้อ หน้าถัดไป >>>
6) เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว พยายามให้คนพี่มีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้
ลูกคนแรกจะรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการและมีคุณค่า ให้ลูกได้ช่วยระหว่างอาบน้ำ ให้ลูกช่วยไปหยิบผ้าอ้อมเมื่อได้เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม และอื่น ๆ ลูกสาวของฉันชอบช่วยหยิบเสื้อผ้าให้น้องชายหลังจากอาบน้ำมากเลยค่ะ
7) สอนลูกคนพี่เรียนรู้วิธีการอุ้มน้องให้ถูกต้อง
แต่บอกลูกว่าลูกจะอุ้มน้องได้ก็ต่อเมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อแม่เท่านั้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้พี่น้องผูกพันกันมากขึ้น แต่คุณต้องแน่ใจว่าต้องมีผู้ใหญ่อยู่เสมอ
8) ชมลูกคนพี่มาก ๆ เมื่อเขาได้ช่วยเหลือน้อง
ใช้การชมและการส่งเสริมเชิงบวกเมื่อลูกคนพี่เสนอตัวช่วยเหลือคุณเรื่องน้องหรือมีความอดทนเมื่อคุณต้องดูแลน้อง
9) พยายามใช้เวลาดี ๆ กับลูกคนโต (ระหว่างที่ลูกคนเล็กหลับ)
วางแผนทำอะไรที่ลูกชอบ จะงานศิลปะ งานฝืมือก็ได้ (หากคุณออกจากบ้านไม่ได้) หรือพาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคุณในการออกกำลังกายเบา ๆ หลังจากคลอดลูกอีกด้วย
10) ส่งเสริมให้ลูกคนพี่พูดความรู้สึกของตัวเอง
หากมีอะไรกวนใจลูก การให้ลูกได้พูดออกมาจะเป็นการให้โอกาสคุณได้อธิบายกับลูก การทำเช่นนี้ยังช่วยได้ในระยะยาวอีกด้วยในขณะที่คุณสร้างความสัมพันธ์เปิดอกกับลูก ทำให้คุณสามารถพูดจาอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับอะไรก็ได้กับลูก