รับมือยังไง เมื่อปู่ย่าตายายสปอยล์ลูกสุดๆ

ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกถูกสปอยล์ เป็นเด็กที่มีนิสัยไม่โอเคหรอก เเต่ถ้าคนที่ต้องรับมือคือผู้ใหญ่ในบ้าน วิธี รับมือยังไง เมื่อปู่ย่าตายายสปอยล์ลูกสุดๆ

รับมือยังไง เมื่อปู่ย่าตายายสปอยล์ลูกสุดๆ

คุณพ่อคุณเเม่ที่ไม่สปอยล์ลูก เพราะกลัวกับนิสัยบางอย่างที่ลูกอาจจะทำจนเคยชินไปจนโต เเต่จะ รับมือยังไง เมื่อปู่ย่าตายายสปอยล์ลูกสุดๆ ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน ยิ่งเป็นพ่อแม่ของอีกฝ่าย ถือเป็นเรื่องยากเเละท้าทายสุดๆ ไปเลยละค่ะ

1.ซื้อของให้เยอะเเยะไปหมด

ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เสื้อผ้า รองเท้า เเละอื่นๆ อีกมากมาย วิธีเอาใจที่ทุกประเทศจะต้องเจอคือการที่ปู่ย่าตายายซื้อของให้ลูก ซึ่งบางทีก็ไม้ใช่ของเเพงหรอก เเต่ซื้อถี่มาก หรือเวลาออกไปนอกบ้านที ต้องได้ของที เเล้วลูกก็กำลังจะกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งๆ นั้นไป

วิธีแก้ไข ไม่ควรห้ามปู่ย่าตายายว่าห้ามซื้อของให้ลูกอีก เเต่เป็นการบอกว่าของชิ้นไหนของลูกที่ใช้ไม่ได้เเล้ว หรือจำเป็นต้องซื้อใหม่ หากของสิ่งนั้นได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จริงๆ ปู่ย่าตายายคงดีใจกว่า ของที่ซื้อไปวางไว้จนฝุ่นจับเพราะมีเยอะเเยะไปหมด จนหลานไม่รู้จะเล่นอะไรก็เลยไม่ได้เเตะมันเลย

2.พาไปกินขนม

ปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่า เด็กๆ จ้ำม้ำ น่ารักน่าเอ็นดู เเละน่าฟัดเอามากๆ เเต่น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในเด็กก็ไม่ใช่เรื่องที่วางใจได้เหมือนกัน ยิ่งขนมกรุบกรอบหลายๆ อย่าง นอกจากเกลือที่ใส่มาเป็นจำนวนมากเเล้ว ยังมีสารกันบูดอีกด้วย

วิธีเเก้ไข ให้ปู่ย่าตายายพาลูกไปกินนั่นเเหละค่ะ เพียงเเต่เปลี่ยนจากขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม ลูกอม เป็นโฟรเซ่นโยเกิร์ต ขนมที่ทำเอง (หรือถ้าคุณย่าคุณยายมีฝึมือการทำอาหาร ก็พาหลานทำขนมเลยก็ได้ค่ะ)

3.ตามใจเรื่องการกิน

เช่น ไม่อยากกินข้าวก็ไม่ต้องกิน (เเล้วลูกก็วิ่งไปเเกะขนมกินเเทน) ไม่อยากกินผักก็ไม่ต้องกิน (เเล้วลูกก็จิ้มกินเเต่หนังไก่กับมันหมู) เเล้วอย่างนี้ลูกจะได้สารอาหารอะไรบ้างละ

วิธีเเก้ไข หากคุณพ่อคุณเเม่กลัวว่าลูกได้ไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เเต่ก็ไม่อยากจะขัดเเย้งกับผู้ใหญ่ด้วย ควรคุยกับลูกเเละอนุญาติให้ตามใจปู่ย่าตายายได้ อาทิตย์ละ 3-4 มื้อ เเต่มื้ออื่นๆ ควรจะต้องกินผักบ้าง เเละควรกินข้าวให้หมดก่อนที่จะไปกินขนมอย่างอื่นค่ะ เเต่ไม่ใช่ว่าทุกวันทุกมื้อลูกจะกินเเต่ข้าวกับหมูสามชั้น หรือข้าวเหนียวกับหนังไก่ทอดได้

4.ปู่ย่าตายายพาละเมิดกฎ

เช่น ไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อนเล่นนอกบ้าน ให้นั่งดูมือถือหรือเเทปเล็ตทั้งวัน ไม่ทำงานบ้านในส่วนที่ลูกต้องรับผิดชอบ หรือไม่ดูเเลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เป็นต้น

วิธีเเก้ไข นั่งคุยกับปู่ย่าตายาย ว่ากฎเเต่ละกฎที่คุณพ่อคุณเเม่สร้างขึ้น เพื่อทักษะที่จำเป็นต่อลูกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรับผิดชอบ เรื่องสมาธิ เรื่องหน้าที่ที่ต้องทำ เเละขอความร่วมมือให้ปู่ย่าตายายพูดจูงใจหลานอีกทางหนึ่งค่ะ

5.ยอมให้หลานดื้อหรือเเผลงฤทธิ์ใส่

เช่น การลงไปชักดิ้นชักงอ เพื่อที่จะเอาอะไรสักอย่าง เเล้วปู่ย่าตายายก็ยอมซื้อให้เเต่โดยดี การขว้างปาสิ่งของใส่ การกรีดร้องเเละโวยวายใส่ ใช่ค่ะที่ปู่ย่าตายายไม่ติดใจเอาความหรือลงโทษหลาน ก็เพราะว่ากลัวหลานจะไม่รักน่ะเเหละ

วิธีเเก้ไข คือการเจอกันครึ่งทาง หากปู่ย่าตายายไม่อยากดุ ไม่อยากทำโทษหลานๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณเเม่สามารถขอความร่วมมือกับพวกท่านได้ คือการให้ท่านนิ่งเฉยใส่หลานๆ หรือหากไม่อยากเห็นหลานถูกขัดใจ ก็เเค่เดินหนีไปเสีย คือวิธีละมุนละม่อมมากที่สุดเเล้ว

6.พาดูละคร เล่นมือถือ เเทปเล็ตทั้งวัน

ความสุขของผู้สูงวัยคือการอยู่กับลูกหลานค่ะ บ้านไหนหลานไม่ซน ปู่ย่าตายายสบายไม่เกินครึ่ง เเต่ถ้าเด็กปกติที่ซนๆ บางครั้งด้วยข้อจำกัดด้านสุขภาพ ปู่ย่าตายายก็วิ่งตามไม่ไหวค่ะ จนกลายเป็นทำให้หลานติดเทคโนโลยีไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

วิธีเเก้ไข หากนอกบ้านมีพื้นที่คุณพ่อคุณเเม่สามารถสร้างหรือล้อมกรอบพื้นที่ปลอดภัย ให้ปู่ย่าตายายได้พักนั่งดูเด็กๆ เล่นของเล่นของเขาไป โดยไม่เกิดอันตรายเเละปู่ย่าตายายไม่เหนื่อยด้วยค่ะ หรือถ้านอกบ้านไม่ได้มีบริเวณ คุณพ่อคุณเเม่ก็ย้ายมุมปลอดภัยเข้ามาไว้ในบ้านเเทน โดยนำสิ่งที่ลูกสนใจเเละไม่เป็นอันตราย ไปรวมอยู่ในมุมๆ นั้นนั่นเเหละค่ะ

7.เข้าข้างหลานตลอดๆ 

ไม่ว่าหลานจะถูกหรือผิดก็เข้าข้างกันตลอด ไม่เว้นเเม้กระทั่งเรื่องอย่าง หลานเดินชนโต๊ะ ก็เข้าไปตีโต๊ะ หลานเเกล้งเพื่อน ก็โทษว่าเพื่อนไม่ดี หรือทำการบ้านไม่เสร็จ โดนครูดุมา ก็โทษว่าครูให้การบ้านเยอะไปยากไป โทษทุกอย่างยกเว้นหลานตัวเอง

วิธีเเก้ไข เตือนปู่ย่าตายายด้วยว่าตอนที่เลี้ยงคุณพ่อคุณเเม่มา ยอมให้เกิดเหตุการณ์เเบบที่ปู่ย่าตายายกำลังทำกับหลานหรือไม่ ให้ปู่ย่าตายายลองคิดในมุมมองของพ่อแม่ (ที่พวกท่านผ่านมาก่อน) เเทนที่จะคิดในมุมของปู่ย่าตายายเเต่เพียงอย่างเดียว

สิ่งที่คุณพ่อคุณเเม่ต้องตระหนักเเละยืดถือ

  1. ปู่ย่าตายายทำไปเพราะรักหลาน ไม่มีปู่ย่าตายายที่ไหนที่จะอยากให้หลานเป็นเด็กไม่ดี (เเม้บางวิธีการจะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดี หรือขัดหูขัดตาคุณพ่อคุณเเม่ไปบ้าง)
  2. ปล่อยวางเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะกลายเป็นความขัดเเย้งใหญ่ๆ ระหว่างคุณพ่อคุณเเม่กับผู้ใหญ่ เช่น การให้หลานกินขนมบ้าง (ไม่ใช่บ่อยๆ นะคะ) การให้หลานดูละครบ้าง หรือให้นอนดึกบ้าง ซึ่งบางทีการเเหกกฎของคุณพ่อคุณเเม่บ้างนานๆ ที ก็จะกลายเป็นสายสัมพันธ์เล็กๆ ที่มีระหว่างพวกท่านกับหลานก็ได้
  3. เเต่ในเรื่องของความปลอดภัยเเละสุขภาพ ควรชัดเจนว่าจะไม่มีการประนีประนอมค่ะ เช่น การป้อนอาหารอื่นก่อนหลานอายุครบ 6 เดือน อ่านเพิ่มเติม รับมือ “ปู่ย่าตายาย” เรื่องป้อนอาหารลูกยังไง ให้ได้ผล หรือ การไม่ยอมให้หลานนั่งในคาร์ซีทสำหรับเด็ก ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลระยะต่อตัวของลูกนั่นเอง
  4. อะไรที่เกิดขึ้นในบ้านก็ควรอยู่ในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเเข่งขัน (ซึ่งไม่มีผู้ชนะ) ระหว่างหลานตายาย กับหลานปู่ย่า ยิ่งถ้าเป็นหลานคนเดียวของทั้งสองครอบครัวด้วยเเล้ว การเเข่งกันสปอยล์หลานจะยิ่งหนักหน่วงค่ะ ดังนั้น อะไรที่ตายายทำ ตกลงกับลูกว่า ไม่ต้องเล่าให้ปู่ย่าฟัง ด้วยเหตุนี้เเหละค่ะ

ที่มา disney all womens talk what to expect

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รับมือ “ปู่ย่าตายาย” เรื่องป้อนอาหารลูกยังไง ให้ได้ผล