ลูกร้องไม่หยุด ร้องงอแง พ่อแม่ทุกข์ใจ ร้องไห้หนักขนาดไหน ถึงเข้าข่าย โคลิค
ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ได้มีการวินิจฉัยอาการของ โคลิค ว่าอาจเกิดจากการที่ทารกร้องไห้งอแงเป็นเวลานาน โดยลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุและไม่สามารถปลอบให้หยุดร้องได้ ร้องไห้หนักโดยไม่ได้มีสาเหตุทางกายอื่น ๆ เช่น อาการป่วย หรือหิวนม เป็นอาการที่ลูกร้องไม่หยุดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม ซ้ำ ๆ มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน และมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์1
โดยจากสถิติ พบว่า 1 ใน 5 ของทารกแรกเกิดจะมีอาการโคลิค แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยใดที่สามารถชี้ชัดได้ว่า โคลิค เกิดจากสาเหตุอะไร แต่หลาย ๆ การศึกษาวิจัยสันนิษฐานว่าอาการโคลิคในเด็กทารกอาจเกิดจากสาเหตุทางกายภาพ ดังต่อไปนี้
สาเหตุการเกิดอาการโคลิคทางกายภาพ
-
แพ้โปรตีนนมวัว
-
ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
-
จุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารไม่สมดุล
อย่างที่ทราบกันดีว่า จุลินทรีย์แต่ละชนิด มีประโยชน์ และส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันออกไป โดยจุลินทรีย์บางชนิดจะมีหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ในขณะที่จุลินทรีย์บางชนิดมีคุณสมบัติในการช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้จุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ก็มีทั้งจุลินทรีย์เชื้อดี และจุลินทรีย์เชื้อร้าย และหากมีปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของลูกน้อยด้วยเช่นกัน
โดยการศึกษาพบว่า ทารกที่มีอาการโคลิคจะมีจุลินทรีย์เชื้อดี เช่น Lactobacilli น้อยกว่าทารกที่ไม่มีอาการโคลิค และมีจุลินทรีย์เชื้อร้าย เช่น Escherichia มากกว่าทารกที่ไม่มีอาการโคลิค
จุลินทรีย์ที่พบว่ามีส่วนช่วยบรรเทาอาการโคลิคโดยการปรับสมดุลลำไส้ อย่างจุลินทรีย์ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี (Lactobacillus reuteri ; L. reuteri) จะเข้าไปทำหน้าที่ปรับสมดุลตามกลไกธรรมชาติและจากการศึกษายังพบอีกว่า ทารกร้องไห้ไม่หยุดจากอาการโคลิค เมื่อได้รับโพรไบโอติกแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีนาน 21 วัน มีผลทำให้ทารกที่มีอาการโคลิค มีระยะเวลาร้องงอแงลดลงอย่างชัดเจน1
อาการโคลิครับมืออย่างไร ? ปล่อยไว้นาน ยิ่งมีผลเสียกับลูกรักจริงหรือ ?
ทุกครั้งที่ลูกร้องไม่หยุด กรีดร้อง กำมือจิกเท้า เบิกตาโพลง ด้วยอาการโคลิค แม่ต้องเตือนตัวเองว่า การปล่อยลูกให้ร้องไห้นาน จะยิ่งมีผลร้ายกับลูกน้อยและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น เกิดภาวะเครียดในครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่พักผ่อนน้อยเพราะต้องคอยดูแลลูกตลอดเวลา หรือการเขย่าตัวทารกอย่างรุนแรงจากความเครียดของผู้ปกครองที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนทำให้สมองของทารกกระทบกับกระโหลกอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองและเป็นอันตรายต่อทารกได้
นอกจากนี้ โคลิคยังทำให้เกิดการหยุดนมแม่เร็วเกินไป ส่งผลให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันต่ำและเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่าย ทั้งยังอาจทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านอารมณ์ไม่คงที่และมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ ลูกจึงควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกวิธี1
โคลิครักษาได้ อยากหาย ต้องปรึกษาแพทย์
แม้ว่าอาการโคลิคจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อทารกอายุมากขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ลูกน้อยร้องไห้นานนับสัปดาห์ ย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูก ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางการรักษาอาการโคลิคให้เลือกหลายวิธีทั้ง
-
การรักษาด้วยยา
-
การรักษาแบบไม่ใช้ยา
เช่น การให้โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะ (แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี) ที่ช่วยปรับสมดุลในท้อง, เปลี่ยนสูตรนมของทารก หรือเปลี่ยนอาหารที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร เป็นต้น
แต่ทั้งนี้การรักษาอาการโคลิคด้วยการเปลี่ยนสูตรนมของลูกน้อย อาจเป็นการเพิ่มความกังวลให้คนเป็นแม่มากขึ้นไปอีก เพราะหากนมที่ทารกทานอยู่ปัจจุบัน เป็นสูตรที่ทารกสามารถทานได้ปกติอยู่แล้ว หรือเป็นสูตรที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ใด ๆ คุณแม่ก็คงไม่อยากเสี่ยงที่จะเปลี่ยนสูตรนมของลูกน้อยอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงมีการแนะนำการใช้โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี สำหรับทารกที่มีภาวะโคลิค เนื่องจากมีการศึกษาทางการแพทย์ยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการโคลิคได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่รับประทานนมแม่1
ดังนั้นทันทีที่คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าเจ้าตัวเล็กมี อาการโคลิค หรือไม่? สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยอาการของลูก พร้อมกับแนะนำวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อย่าปล่อยให้อาการโคลิคเข้ามาทำให้ลูกร้องไม่หยุดและทรมานต่อไป เพราะรอยยิ้มของลูกรักนั้น มีค่ามากเกินกว่าที่จะสูญเสียไปให้กับอาการเจ็บป่วยที่สร้างความทุกข์ทรมาน ให้กับทั้งเจ้าตัวเล็กเองและสร้างความปวดร้าวให้กับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าหากลูกน้อยได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที เราก็สามารถเรียกคืนรอยยิ้มและความสุขให้กับลูกได้อย่างรวดเร็ว
เอกสารอ้างอิง
- Valerie Sung. Infantile colic. Aust Prescr, 2018; Volume 41, 105–110.