ศาสนาคริสต์ (Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา เป็นศาสนาที่เป็นเอกเทวนิยม โดยมีศาสดาคือ “พระเยซู” คริสตชน เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเป็นเจ้า ที่มาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อมาไถ่บาปให้กับสาธุชน ซึ่งเราจะพาทุกคน ไปทำความเข้าใจกับ ศาสนาคริสต์ กับ บัญญัติ 10 ประการ และหลักคำสอน กันค่ะ
กำเนิดศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์ หรือ คริสต์ศาสนา ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากพุทธศาสนา 543 ปี ซึ่งจากตำแหน่งทางประวัติศาสตร์ตำแหน่งที่ถือกำเนิดศาสนานี้อยู่ที่ประเทศปาเลสไตน์ในปัจจุบัน โดยศาสนาคริสต์สืบทอดมาจากศาสนายูดาห์ หรือศาสนายิว ที่มีความเชื่อว่า พระเมสิอาห์ หรือ พระคริสต์ คือผู้ที่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์เพื่อช่วยเหลือให้ชาวยิวที่ถูกกดขี่ข่มเหง และอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ให้สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นในยุคนั้น และช่วยปลดปล่อยให้เป็นไทในที่สุด
พระเจ้า ศาสนาคริสต์ คือใคร ?
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม คือมีพื้นฐานความเชื่อว่ามีเทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งมีชื่อว่า พระยะโฮวาห์ (GOD) โดยพระผู้เป็นเจ้านี้จะเป็นผู้ที่ดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง และดับสลายไป
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พระเยซู หรือพระเจ้า ใช่หรือไม่? ซึ่งเราเองไม่สามารถตอบได้เต็มปากเต็มคำ แต่ต้องบอกว่า ศาสดาของศาสนาคริสต์นั้น ก็คือพระเยซู ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ขึ้นมา โดยเริ่มแรกพระเยซู พระองค์ทรงนับถือศาสนายูดาห์มาก่อน ต่อมาพระองค์ทรงอ้างว่าพระองค์นั้นทรงเป็นบุตรของพระเจ้า (พระคริสต์) หรือเป็นอีกภาคหนึ่งของพระเจ้า นั่นเอง ซึ่งการมาเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ตามคำสอนของศาสนายูดาห์ จึงเป็นเหตุให้ชาวยิวที่นับถือศาสนายูดาห์นั้นเกิดความไม่พอใจ
ต่อมาชาวยิวจึงได้ยุยงให้ทางกรุงโรมซึ่งปกครองชาวยิวอยู่ในขณะนั้น ให้จับตัวพระเยซูมาทำโทษด้วยการตรึงร่างไว้บนไม้กางเขน และทุบตีจนตาย ด้วยพระชนมายุเพียง 30 พรรษา โดยที่พระองค์ทรงเผยแผ่ศาสนามาได้ 3 ปีเท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 120 ชื่อเด็กลูกที่นับถือศาสนาคริสต์ ชื่อลูกสาวลูกชาย สำหรับผู้รับใช้พระเจ้า
ประวัติความเป็นมาของการกำเนิด พระเยซูคริสต์
ในพระคัมภีร์ไบเบิล มัทธิว 1 : 18 – 23 ได้กล่าวถึงเรื่องของการประสูติของพระเยซูคริสต์เอาไว้ดังนี้ มารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่โยเซฟคู่หมั้นของเธอเป็นคนชอบธรรม ไม่ต้องการจะแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ ต้องการจะถอนหมั้นเสียลับ ๆ
เมื่อโยเซฟยังคิดเรื่องนี้อยู่ ก็มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟบุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่านเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ เธอจะให้พระกำเนิดบุตรชาย แล้วจงเรียกนามท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านจะทรงช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากบาปของพวกเขา” ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งตรัสผ่านทางผู้เผยพระวจนะว่า “นี่แน่ะ หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่าอิมมานูเอล” (แปลว่า พระเจ้าสถิตกับเรา )
ศาสนาคริสต์ มีกี่นิกาย
ศาสนาคริสต์ถูกแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ ตามลักษณะความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่านิกายเหล่านี้จะยังคงนับถือพระเป็นเจ้าองค์เดียวกัน รวมถึงการใช้พระคัมภีร์เดียวกัน โดยนิกายหลัก ๆ แบ่งออกด้วยกัน 3 นิกาย ได้แก่
-
นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic)
ศาสนาคริสต์นิกายนี้ มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข หรือเป็นผู้นำทางศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งในอดีตเป็นยุคของอาณาจักรโรมัน และ คาทอลิก มีความหมายว่า สากล สื่อให้เห็นว่า ศาสนาคริสต์นิกายนี้ จะเป็นศาสนาสากลของคนทั่วทั้งโลก
-
นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox Church)
นิกายนี้จะแยกตัวเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นตรงกับพระสันตะปาปาของโรมันคาทอลิก แต่ปฏิบัติพิธีกรรมต่าง ๆ และยังคงมีความเชื่อเช่นเดียวกับนิกายโรมันคาทอลิก
-
นิกายโปรแตสแตนต์ (Protestant)
เป็นนิกายที่ต่อต้าน หรือคัดค้านการขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปา เพราะเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสามารถติดต่อกับพระเป็นเจ้าได้โดยตรง ถือว่าศรัทธาของแต่ละคนที่มีต่อพระเจ้าสำคัญกว่าพิธีกรรม ซึ่งนิกายนี้เกิดขึ้นจากมาร์ติน ลูเทอร์ เป็นผู้สถาปนาขึ้นที่ประเทศเยอรมัน และเป็นนิกายที่เคร่งครัดการปฏิบัติตามพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด เพราะเชื่อว่า เป็นพระวจนะของพระเจ้า และไม่มีนักบวช เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยไม่ต้องอาศัยบาทหลวง
นอกจากนี้ยังคงมีนิกายต่าง ๆ แยกย่อยออกไปตามความเชื่อของกลุ่มคน แต่ทุกนิกายนั้น ยังคงยึดหลักคำสอนจากพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก
ศาสนาคริสต์ กับ บัญญัติ 10 ประการ
ศาสนาคริสต์ ยึดหลักคำสอนของพระเป็นเจ้าจาก พระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่เขียนคำสอนเหล่านี้ได้รับการขับเคลื่อนจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากพระเป็นเจ้า รวมถึงผู้ที่เป็นหลักพยานจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในพระคัมภีร์นั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ พันธสัญญาเดิม (The Old Testament) และ พันธสัญญาใหม่ (The New Testament) โดยจะมีคำสอนหลัก ๆ ด้วยกัน 10 ข้อ จนกลายเป็น พระบัญญัติ 10 ประการ ของศาสนาคริสต์ ที่เหล่าคริสต์ศาสนิกชน พึงปฏิบัติ
- อย่ามีพระเจ้าอื่นนอกจากเราเลย
- อย่าบูชารูปเคารพใด ๆ
- อย่าออกนามพระเจ้าโดยไม่เป็น
- อย่าทำงานในวันสปาโต (วันอาทิตย์)
- นับถือบิดา – มารดา
- อย่าฆ่าคน
- อย่าล่วงประเวณีสามี – ภรรยา ผู้อื่น
- อย่าลักทรัพย์ผู้อื่น
- อย่าเป็นพยานเท็จต่อเพื่อนบ้าน
- อย่าโลภในสิ่งของ ทรัพย์สินของผู้อื่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทวีปเอเชีย ทวีปแห่งความหลากหลาย และเรื่องที่เด็ก ๆ ควรรู้
หลักคำสอน ศาสนาคริสต์
แม้ว่าพระคัมภีร์ไบเบิลจะมีแยกย่อยออกเป็นหลายบทหลายตอน ตามผู้ที่เขียนบันทึก แต่หลักคำสอนของศาสนาคริสต์จะถูกบันทึกอยู่ในส่วนของ พันธสัญญาใหม่ (The New Testament) ซึ่งเป็นเหมือนกับศาสนาอื่น ๆ คือการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันที่ถูกครรลองครองธรรม และเชื่อมั่นใจพระเจ้า โดยให้ปฏิบัติตามที่พระเยซูได้สอนเอาไว้ เพราะเป็นการบอกผ่านโดยพระผู้เป็นเจ้า
โดยเนื้อหาใจความสำคัญทั้งหมดคือการสอนใน “ปรัชญาแห่งความรัก” นั่นก็คือการรักพระเจ้า รักครอบครัว และรักเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง รวมถึงการรู้จักให้อภัยกับผู้ที่มาทำร้ายตนเอง
เพลงศาสนาคริสต์ และเนื้อเพลง
เรามักจะเห็นชาวคริสต์ต่างร้องเพลงด้วยท่วงทำนองหลากหลาย และมีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้บทเพลงทั้งหลาย เปรียบเสมือนบทสวดมนต์เมื่อเทียบกับศาสนาอื่น ๆ เพียงแค่ถ่ายทอดออกมาพร้อมกันกับท่วงทำนองต่าง ๆ ตามความรู้สึก โดยเนื้อหาหลักของบทเพลงในศาสนาคริสต์นั้น จะเป็นเพลงที่เกี่ยวกับ “การสรรเสริญพระเจ้า”
การร้องรำทำเพลงนั้น ได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ว่าเป็นสิ่งที่ชาวคริสต์ศาสนิกชนควรทำใน “วันสะบาโต” เพราะเป็นวันที่ทุกคนจะได้พักผ่อนกับพระเจ้า และมีความสุขร่วมกันด้วยการป่าวประกาศ และร้องเพลงสรรเสริญการมีอยู่ของพระเจ้า พระเจ้าปรารถนาให้เราร้องเพลง เพราะบทเพลงนั้น จะช่วยในการปลอบประโลมแด่ผู้ทุกข์ยาก และหนุนใจ ไม่ว่าคน ๆ นั้น จะรวยหรือจน หรือเป็นคนเชื้อชาติใด เพราะเชื่อว่าเป็นถ้อยคำจากพระเจ้า หรือที่เรียกว่า “พระวจนะ” ของพระเจ้า
พิธีกรรมสำคัญในศาสนาคริสต์
พิธีกรรมที่สำคัญในศาสนานี้เรียกว่า “พิธีศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งแต่ละพิธีจะมีความหมาย และวิธีการแตกต่างกันออกไป โดยเราได้รวบรวมพิธีต่าง ๆ ออกมาได้ดังนี้
- พิธีบัพติศมา หรือศีลล้างบาป : เป็นพิธีแรกที่คริสต์ศาสนิกชนจะต้องเข้าสู่พิธีนี้ทุกคน เพื่อการล้างตัวตนเก่า และถือกำเนิดขึ้นใหม่กับพระผู้เป็นเจ้า โดยบาทหลวงจะใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์เทลงบนศีรษะ พร้อมเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผาก บางที่ใช้วิธีดำลงไปในน้ำมิดหัว และเมื่อขึ้นจากน้ำ จะถือว่าได้รับการเกิดใหม่ในพระหัตถ์พระเจ้า
- พิธีมหาสนิท หรือศีลมหาสนิท : เป็นพิธีรับศีลด้วยการทานขนมปัง และเหล้าองุ่นมารับประทาน และให้ตระหนักถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู โดยอุปมาอุปไมยว่าขนมปังแทนเนื้อหนัง และเหล้าองุ่นแทนเลือด หรือพระโลหิตของพระเยซู
- ศีลอภัยบาป : เป็นการสารภาพความผิดบาปของตนเองกับพระเจ้าโดยผ่านบาทหลวง โดยบาทหลวงจะเป็นผู้ที่คอยรับฟัง และเตือนสั่งสอน และทำการอภัยบาปให้ในนามพระเจ้า
- ศีลกำลัง : เป็นพิธีรับศีลด้วยการเจิมที่หน้าผาก เพื่อยืนยันความเชื่อว่าจะนับถือศาสนาคริสต์ตลอดไป เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางความเชื่อให้มากขึ้น
- ศีลสมรส : เป็นพิธีประกอบการแต่งงาน โดยมีบาทหลวงเป็นพยาน ว่าจะรักกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ในส่วนของนิกายโปรเตสแตนต์จะมี ศิษยาภิบาล (Pastor) เป็นพยานแทนบาทหลวง
- ศีลอนุกรม : เป็นพิธีสำหรับการบวชในส่วนของนิกายที่มี มุขนายก บาทหลวง และพันธบริกร
- ศีลเจิมคนไข้ : เป็นการเจิมคนไข้โดยบาทหลวงจะเป็นผู้เจิมน้ำมันลงบนหน้าผาก และมือทั้งสองข้างของผู้ป่วย เพื่อให้ระลึกว่าพระเจ้าจะอยู่กับตน และจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ให้หายโดยไว
โดยพิธีดังกล่าวทั้ง 7 พิธี จะเป็นพิธีกรรมสำหรับนิกายโรมันคาทอลิก และนิกายออร์โธดอกซ์ สำหรับนิกายโปรเตสแตนต์ จะมีเพียง พิธีบัพติศมา และพิธีมหาสนิท เท่านั้น
เทศกาลสำคัญสำหรับชาวคริสต์
- วันวาเลนไทน์
- วันอีสเตอร์
- วันฮาโลวีน
- วันคริสต์มาส
- วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คริสต์มาสอีฟ กับ วันคริสต์มาส เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
100 ชื่อเล่น จากคัมภีร์ไบเบิล เปิดคัมภีร์ไบเบิล ตั้งชื่อลูกให้โดนใจแม่
รวมหนังและ การ์ตูนคริสต์มาส ใน Netflix ที่ดูได้ทั้งครอบครัว
ที่มา : whatami.net, digitalschool.club