พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกปลอดภัย และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ถ้าครอบครัวไหนโอ๋ลูกมากเกินไปอาจจะส่งผลเสียต่อตัวเด็กเมื่อเติบโต นักจิตวิทยาแนะนำว่า ทางที่ดีคือต้องปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ ให้โอกาสลูกได้ต่อสู้กับสถานการณ์ที่ยากลำบากดูบ้าง เด็กจะได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ด้วยจิตใจที่แข็งแรง
1.ให้ลูกรักหัดกระตุ้นตัวเองเมื่อรู้สึกเบื่อ
ในโลกที่ทุกข้อมูลเข้าถึงได้แค่ปลายนิ้ว โลกที่ทุกอย่างดูง่ายดายเสียจนน่าเบื่อ ไม่แปลกที่เด็กจะรู้สึกเบื่อหน่าย! แต่พ่อแม่เองพอเห็นลูกเริ่มซึม ดูเซ็งๆ ก็พยายามหากิจกรรม หรือสิ่งของล่อใจ มาเรียกรอยยิ้มจากลูกอยู่เสมอ วิธีนี้ไม่แนะนำค่ะ เพราะเด็กควรจะเรียนรู้และเข้าใจเรื่องนี้เองได้ ลองให้เวลาลูกเบื่อดูบ้าง แล้วสังเกตพฤติกรรมของลูกดู ลูกจะนิ่งได้แค่ไม่นานหรอก อีกแป๊บเดียวก็หาอะไรทำแล้ว การให้ลูกได้ลอง “เบื่อ” จะทำให้ลูกเข้าใจ และหาทางกระตุ้นตัวเองให้ทำอะไรต่อมิอะไรได้เอง
2.ลูกต้องหัดเลือกด้วยตัวเองบ้าง
สังเกตได้ว่า กว่าที่เด็กจะตัดสินใจอะไรสักอย่าง ดูเป็นเรื่องยาก หลายๆ ครั้ง พ่อแม่จึงตัดสินใจให้เสร็จสรรพว่า อะไรดี อะไรไม่ดี สิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนไม่ควรทำ แล้วอย่างนี้เด็กจะรู้จักตัดสินใจได้อย่างไร พ่อแม่จึงต้องปล่อยให้ลูกลองเลือกเอง หรือที่เราเรียกกันว่า ลองผิดลองถูก เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า การได้อย่างหนึ่งมาอาจต้องเสียบางอย่างไป หรือการเลือกที่ผิดจะทำให้ตัวเองเสียใจ แต่การได้เลือกสิ่งที่ผิด จะทำให้ลูกฝึกความอดทนจากความผิดหวังเสียใจ และเรียนรู้ที่จะเลือกสิ่งที่ถูกในอนาคต
3.แพ้ให้เป็นตั้งแต่เด็ก
แพ้-ชนะ เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ถ้าพ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป ลูกจะกลายเป็นคนที่แพ้ไม่เป็น เพราะคิดว่า การแพ้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แล้วเลือกการโกงเพื่อให้ตัวเองชนะแทน การให้ลูกได้ลิ้มรสชาติของความพ่ายแพ้ตั้งแต่เด็กเสียบ้าง ลูกจะรู้จักกับความล้มเหลว พ่อแม่แค่ต้องสอนความจริงให้กับลูกว่า ไม่มีใครที่จะชนะทุกสิ่ง ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง ถ้าลูกแพ้และยอมรับความล้มเหลวได้ เมื่อเวลาผ่านไปลูกจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ สามารถลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
4.สอนให้ลูกเข้าใจโรงเรียนชีวิต
การเรียนและการสอบ สำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากที่ผู้ใหญ่รู้สึก การปลูกฝังให้ลูกรักการเรียน ขยันอ่านหนังสือ ตั้งใจทำการบ้าน เป็นสิ่งที่ดี แต่ชีวิตไม่ได้มีแค่การเรียนหรือการสอบเท่านั้น บางคราวที่ลูกลืมทำการบ้าน บางครั้งที่ลูกไม่ได้อ่านหนังสือสอบ เหล่านี้เป็นบทเรียนชีวิตที่ลูกต้องหัดเรียนรู้ การที่ทำรายงานส่งครูแล้วได้คะแนนน้อย การบ้านที่ทำถูกไม่หมดทุกข้อ ไม่ใช่ตัวตัดสินทั้งหมดของชีวิต ลูกจะต้องเรียนรู้และพยายามทำสิ่งที่ดีขึ้น หน้าที่ของพ่อแม่คือให้กำลังใจ บอกให้ลูกเข้าใจว่า เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
5.เรียนรู้จากการทะเลาะกับเพื่อน
เมื่อลูกมีเพื่อนมากขึ้น เริ่มเข้าโรงเรียน และรู้จักกับคนอื่นๆ เป็นเรื่องปกติถ้าลูกจะทะเลาะกับเพื่อน และมักจะเป็นได้บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะ ไม่โตพอที่จะลืมและให้อภัย หากลูกเติบโตขึ้นจะรู้เองว่า การแก้ปัญหาไม่ได้จบลงที่การวิวาทเท่านั้น การลืม ละทิ้งเรื่องแย่ๆ ก็สำคัญเช่นกัน การพูดจากันดีๆ ด้วยเหตุผล หรือปรับความเข้าใจกันอย่างประนีประนอม ก็เป็นอีกหนทางที่จะช่วยคลี่คลายปมปัญหาได้เช่นกัน
ลองให้ลูกเผชิญหน้ากับความลำบากดูบ้าง แล้วลูกจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ เมื่อเติบโตขึ้น ลูกก็จะแข็งแกร่งไม่อ่อนแอ
ที่มา : ph.theasianparent.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
“โรคติดหรู” ผลกระทบจากการเลี้ยงลูกแบบวัตถุนิยม
5 วิธีเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์