พัฒนาการด้านร่างกาย
- กล้ามเนื้อคอและการควบคุมศีรษะ
ทารกวัย 2 เดือนจะสามารถควบคุมร่างกายได้มากขึ้น และเริ่มที่จะชันคอได้เล็กน้อย เมื่อลูกนอนคว่ำ หรือเมื่อคุณอุ้มลูกขึ้นมาตรงๆ เขาก็จะเริ่มควบคุมกล้ามเนื้อคอได้บ้างแล้ว
- การประสานสัมพันธ์ดีขึ้น
เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ ลูกจะเริ่มใช้แขนดันตัวขึ้น สามารถเคลื่อนไหวแขนและขาได้คล่องขึ้น ประสานสัมพันธ์ได้ดีขึ้นเล็กน้อย
- กลิ้ง
คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกน้อยวัย 2 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเปลี่ยนผ้าอ้อมบนพื้นที่ยกสูง เช่นบนเตียงหรือบนโซฟา เพราะตอนนี้ลูกเริ่มจะกลิ้งไปกลิ้งมาแล้ว แม้ลูกจะยังไม่สามารถคว่ำได้ในช่วงนี้ แต่ก็อาจกลิ้งตกเตียงได้ค่ะ
- ผ่อนคลายตัวเอง
ในช่วงวัยนี้ลูกจะใช้การดูดเป็นการผ่อนคลายตัวเอง คุณจะสังเกตได้ว่า ลูกจะเริ่มอมมือ หรือดูดนิ้วอยู่บ่อยๆ ถือเป็นเรื่องปกติ
- คว้าจับ
คุณอาจสังเกตเห็นว่าลูกมีการคว้าจับสิ่งต่างๆ ที่แม่ยื่นให้ และเริ่มเรียนรู้ที่จะคลายมือ และพยายามโบกมือแล้ว
- น้ำลายไหล
ต่อมน้ำลายของลูกน้อยเริ่มทำงาน ส่งผลให้ลูกมีน้ำลายไหลมากขึ้น และทิ้งรอยเปียกไว้ทุกที่ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าฟันของลูกน้อยจะเริ่มงอกหรอกนะคะ เพราะโดยปกติลูกจะฟันขึ้นหลังจาก 4 เดือนไปแล้ว
พัฒนาการด้านประสาทสัมผัส
- การมองเห็น
ขณะนี้ลูกน้อยของคุณมองเห็นได้ในระยะประมาณ 60 เซนติเมตรแล้ว ลูกยังเริ่มต้นที่จะแยกแยะสีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะแม่สีที่สว่างและตัดกันอย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ลูกจะยังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของโทนสีที่ใกล้เคียงกันอย่างสีแดงและสีส้ม แต่คุณสามารถกระตุ้นการมองเห็นของลูก โดยให้ลูกดูของเล่น หนังสือ และรูปภาพที่เป็นสีตัดกันอย่างชัดเจน เช่น สีขาว-ดำ ได้แล้ว
- การได้ยิน
ลูกเริ่มพัฒนาด้านการฟังและการได้ยินดีขึ้น ลูกวัย 2 เดือนสามารถแยกแยะเสียงที่ต่างกันที่เขาได้ยินบ่อยๆ เช่น เสียงคุณพ่อ และเสียงคุณแม่ได้
เมื่อลูกได้ยินเสียง โดยเฉพาะเสียงของคุณ เขาจะมีการตอบสนองต่อเสียงโดยหันศีรษะไปหาเสียงนั้น
ลูกจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้ยินเสียงที่คุ้นเคย ซึ่งสามารถช่วยปลอบประโลมให้ลูกสงบลงได้เมื่อลูกงอแง ยิ่งคุณแม่พูดกับลูกหรือร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ลูกจดจำเสียงคุณได้ดีขึ้น
พัฒนาการด้านสติปัญญา
- การจดจำใบหน้า
คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกน้อยเริ่มจะให้ความสนใจใบหน้าของคุณ และจดจำใบหน้าที่คุ้นเคยในระยะไกลได้แล้ว
คุณสามารถเริ่มสอนในเรื่อง การคงอยู่ของวัตถุ โดยการเล่นเกมจ๊ะเอ๋ได้ในช่วงนี้
- ยิ้ม
คุณสามารถกระตุ้นให้ลูกยิ้มด้วยการส่งยิ้มหวานๆ ให้ลูกบ่อยๆ หรือทำหน้าตาตลกๆ ให้ลูกดู แล้วเตรียมตัวใจละลายกับรอยยิ้มแสนหวานครั้งแรกของลูกน้อยได้เลย
- แสดงอาการเบื่อ
เชื่อไหมคะว่า เมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มร้องไห้ หรืองอแงนั้น อาจหมายความว่าลูกกำลังเบื่อ คุณแม่ควรฝึกสังเกตอาการของลูก และพยายามตอบสนองความต้องการของลูก เช่น เล่นกับลูกให้มากขึ้น และแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณรักเขามากแค่ไหน
พัฒนาการด้านการพูด
- ภาษาทารก
แม้ว่าลูกน้อยวัย 2 เดือนจะสื่อสารผ่านการร้องเป็นหลัก แต่คุณจะเริ่มได้ยินลูกทำเสียงอยู่ในลำคอบ้างแล้วในช่วงนี้
หากอยากให้ลูกพูดได้ไว คุณแม่ควรคุยกับลูกบ่อยๆ ถึงแม้ว่าเขาจะยังพูดตอบคุณไม่ได้ก็ตาม และถ้าคุณยังไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับลูกน้อยวัย 2 เดือน ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ซิคะ
- สร้างบทสนทนากับลูก เพื่อสอนให้ลูกรู้จักฟังและโต้ตอบ แม้จะเป็นเพียงการตอบสนองผ่านเสียงในลำคอ หรือการพยักหน้า หรือยิ้มก็ได้
- พูดช้าๆ ชัดๆ เพื่อให้ลูกสังเกตปากและลิ้นเวลาคุณพูด
- เลียนแบบคำที่ลูกน้อยพูดออกมา แม้จะเป็นเพียงคำว่า บาบา หรือ นานา ก็ตาม
- แม้คุณจะยังไม่เข้าใจภาษาของทารก แต่จงแกล้งทำเป็นเข้าใจและตอบสนองลูกเสมอ
- ทารกยังสามารถสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง คุณก็สามารถเลียนแบบท่าทางของลูกได้ เช่น ตบมือ และโบกมือ
- เลือนแบบการแสดงอารมณ์ทางสีหน้าของลูก และยิ้มเมื่อลูกยิ้ม เพื่อกระตุ้นให้ลูกสื่อสารมากขึ้น
คลิกหน้าถัดไป เพื่อติดตามพัฒนาการลูกน้อยวัย 2 เดือนในด้านอื่นๆ
สื่อสัญญาณของทารก
คุณสามารถสังเกตสัญญาณจากลูกน้อยว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และเขาพยายามจะบอกอะไรกับคุณได้ โดยดูจาก
สัญญาณที่ดี
- มองหน้าคุณ
- เคลื่อนไหวแขนและขาอย่างสะดวก
- เอื้อมมือหาคุณ
- หันมอง หรือหันศีรษะหาคุณ
- แสดงสีหน้ามีความสุข
- ส่งเสียงอื้ออ้า เหมือนพยายามจะคุย
สัญญาณไม่ดี
- หลบตา และหันศีรษะหนี
- ร้องไห้
- งอแง
- ไอ
- แอ่นตัว
- ดิ้นไปรอบๆ
- ขมวดคิ้ว
- หาวนอน
รูปแบบการนอนของทารก
เด็กวัย 2 เดือนต้องการนอนหลับ 15-16 ชั่วโมงต่อวัน และจะตื่นขึ้นมากินนมทุกๆ 3 ชั่วโมง ในวัยนี้ทารกส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนอนยาวตลอดคืนได้ คุณต้องอดทนและช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะนอนหลับได้เอง โดยวางลูกบนที่นอนเมื่อเห็นว่าลูกง่วงนอน แทนที่จะวางเมื่อลูกหลับแล้ว
สัญญาณการนอนของทารก
- หน้ามุ่ย
- ส่งเสียงคำราม
- ร้องกระซิก
- หาวนอน
- ขยี้หูขยี้ตา
- แขนขากระตุก และเริ่มเคลื่อนไหวช้าลง
- เกาหัว
- ติดแม่เป็นตังเม
- ร้องขอกินนม
เมื่อคุณสังเกตเห็นบางสัญญาณการนอนของทารกจากที่กล่าวมานี้ แสดงว่าลูกรู้สึกเหนื่อยและอยากนอนแล้ว คุณควรตอบสนองและช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ก่อนที่เขาจะเหนื่อยเกินไป อารมณ์ไม่ดี หรือแสดงอาการงอแงมากขึ้น
อย่าลืมว่า เวลาที่วางลูกลงนอน ควรให้ลูกนอนหงายเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตในขณะนอนหลับ หรือ of Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) รวมทั้งเอาเครื่องนอนนิ่มๆ ได้แก่ หมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตาสัตว์ ออกจากที่นอนของลูก เพื่อป้องกันลูกเอาหน้าไปซุกโดยไม่รู้ตัว และอาจขาดอากาศหายใจได้
คลิกหน้าถัดไป เพื่ออ่านคำแนะนำในการกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 2 เดือน
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 2 เดือน
เรามีวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับลูกน้อยวัย 2 เดือนมาฝากค่ะ
- ดนตรีแสนสนุก
ลูกเริ่มมีทักษะการฟังดีขึ้นแล้วในช่วงนี้ ลูกจึงรู้สึกสนุกกับการได้ฟังเสียงที่แตกต่างกัน และเสียงดนตรีหลายๆ แบบ ลองเปิดเพลงให้ลูกฟัง คุณจะสังเกตว่าลูกจะเตะขา เหมือนอยากจะเต้น เวลาที่ฟังเพลงที่เขาชอบ
สิ่งที่ต้องเตรียม : เพลงเด็กน่ารักๆ
พัฒนาการที่ได้: การฟัง การเตะ
- เจ้าปลาน้อย
กระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็น ด้วยการชวนลูกดูปลาน้อยสีสันสดใสว่ายอยู่ในขวดโหล หรือตู้ปลา เจ้าตัวน้อยจะมองตามปลาน้อยใหญ่ หลายสีสัน ด้วยความเพลิดเพลิน
สิ่งที่ต้องเตรียม : ปลาหลายๆ ชนิด และตู้ปลา
พัฒนาการที่ได้: การมอง
- ยืดเส้นยืดสาย
กระตุ้นพัฒนาการประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวด้วย เพลยิมสำหรับเด็กอ่อน ที่มาพร้อมของเล่นสร้างเสริมพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ ส่วนมากจะเน้นที่ดีไซน์และสีสันสดใส มีของเล่นห้อย ของเล่นมีเสียง กระจกที่ไม่เป็นอันตราย เบาะนอนนุ่มๆ มีไฟ มีเพลง
เพลยิมมีฟังก์ชั่นมากมาย แต่ลูกน้อยเล่นเองไม่เป็นนะคะ คุณแม่ต้องชวนลูกเล่น โดยทำให้ลูกดูว่าเล่นอย่างไร เช่น ตีของเล่นที่ห้อยอยู่ เขย่าของเล่นให้เกิดเสียง หรือสัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกัน เป็นต้น
สิ่งที่ต้องเตรียม : เพลยิม
พัฒนาการที่ได้: ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว
เมื่อไหร่ที่ควรกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อย
แม้ว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน แต่คุณแม่ก็ควรสังเกตพัฒนาการบางอย่างที่อาจผิดปกติสำหรับลูกน้อยวัย 2 เดือน เช่น
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง เช่น เสียงปิดประตู เสียงสัญญาณกันขโมยรถยนต์ เสียงหมาเห่า เป็นต้น
- ไม่จ้องมองสิ่งต่างๆ ที่กำลังเคลื่อนที่ และไม่มองตาม
- ไม่ยิ้มให้ผู้คน แม้แต่คนที่ลูกจดจำได้
- ไม่เอามือไปที่ปาก
- ไม่สามารถยกศีรษะเมื่อนอนคว่ำได้
หากลูกน้อยมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก แนะนำให้ปรึกษาพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเร็วค่ะ
ลูกน้อยวัย 2 เดือนของคุณทำอะไรได้บ้างแล้วคะ โชว์พัฒนการของลูกได้ที่ช่องคอมเมนต์ด้านล่างเลยค่ะ
ที่มา sg.theasianparent.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
พัฒนาการทารก: 12 เดือนจากแรกเกิดจนหัดเดิน
น่ารักสุดๆ มหัศจรรย์เด็กวัย 2 เดือน พยายามพูดอะไรบางอย่างกับคุณพ่อ!