พัฒนาการเด็กวัย 4 ปี 4 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
พัฒนาการเด็กวัย 4 ปี 4 เดือน ดูเหมือนเวลาช่างผ่านไปไวเหลือเกิน รู้สึกเหมือนเมื่อวานลูกยังเป็นเด็กทารกตัวน้อย ๆ แต่ตอนนี้เขากำลังวิ่งไปรอบ ๆ พูดคุยและเรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัว
พัฒนาการด้านร่างกาย
เด็กในวัยนี้มีพัฒนาการของนิ้วและมือที่ดีแล้ว เขาควรจะสามารถจับปากกาวาดภาพและหยิบสิ่งของเล็ก ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา
ทักษะที่เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่ทำได้
- ยืนด้วยขาข้างเดียวได้นานกว่า 9 วินาที
- เดินขึ้นลงบันไดได้อย่างคล่องแคล่ว
- ขี่จักรยานสามล้อได้
- ใช้ช้อนส้อมทานอาหารได้
- แต่งตัวเอง และแปรงฟันเองได้
- วาดรูปวงกลม สี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยมได้
- เดินไปด้านหน้า หรือเดินถอยหลังได้อย่างมั่นคง
คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูก
- กระตุ้นให้ลูกเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ผ่านการเล่น
- ให้ลูกวาดรูปทรงต่าง ๆ เพื่อเสริมพัฒนาการและทำให้มือและตาทำงานประสานกันได้ดี
- พาลูกไปเล่นที่สวนสาธารณะ หรือสนามเด็กเล่น ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แต่ยังช่วยเสริมพัฒนาการด้านการมองเห็นและพัฒนาการสมองด้วย
พาลูกไปพบแพทย์ หากลูกน้อยของคุณ…
- มีปัญหาเรื่องการเดิน เดินแล้วล้ม หรือต้องเกาะเดิน
- มีปัญหาเรื่องการหยิบ จับ หรือถือวัตถุขนาดเล็กต่าง ๆ เช่น จับดินสอไม่ได้ หรือ ถือของแล้วร่วงตลอด
พัฒนาการด้านความคิด
ลูกของคุณจะเริ่มร้องเพลงและมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะร้องเพลงของเขาเองโดยที่มีเนื้อเพลงมาจากจินตนาการ
ทักษะที่เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่ทำได้
- เริ่มพูดประโยคที่ซับซ้อนมากขึ้น และใช้คำศัพท์ที่ยากขึ้น
- นับเลขได้ถึง 10 หรือมากกว่า
- สามารถระบุอย่างน้อยสี่สีและสามรูปร่างที่แตกต่าง
- สามารถทำตามคำสั่งและทำงานบ้านง่าย ๆ ได้
คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูก
- การสอนให้ลูกได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ จะเป็นการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านความคิดให้กับเจ้าตัวน้อย ซึ่งคุณสามารถทำได้โดยการแนะนำคำศัพท์ใหม่ระหว่างการพูดคุยกับลูก
- เวลาสั่งให้ลูกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ควรใช้คำสั่งที่เข้าใจง่าย เพราะลูกอาจจะสับสนกับคำสั่งที่ซับซ้อนได้
พาลูกไปพบแพทย์ หากลูกน้อยของคุณ…
- ถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย และจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ไม่นาน
- ไม่สามารถแสดงออกได้ทางคำพูด หรือไม่สามารถสื่อสารถึงสิ่งที่ต้องการได้
- ไม่สามารถแยกสีต่าง ๆ ได้ หรือไม่เข้าใจเรื่องรูปร่าง รูปทรง
พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
เด็กวัยนี้จะเริ่มมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น และสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดี และสามารถควบคุมตัวเองได้ถ้าเขาอารมณ์เสีย
การแสดงออกทางด้านอารมณ์และสังคมของเด็กวัย 4 ขวบ 4 เดือน
- ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และเริ่มมีโลกส่วนตัว
- ชอบเล่นกับเพื่อน และเข้ากับเด็กคนอื่น ๆ ได้ดี
- เมื่อลูกโมโห ไม่พอใจ หรือมีอารมณ์โกรธ เด็กมักจะแสดงออกด้วยวาจามากกว่าท่าทาง
คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูก
- กระตุ้นลูกน้อยของคุณให้เข้าสังคมและเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ
- เมื่อตั้งกฎต่าง ๆ ภายในบ้าน ให้อธิบายถึงกฎเหล่านั้นให้ชัดเจน พร้อมทั้งบอกเหตุผลที่คุณสร้างกฎเหล่านั้นให้ลูกได้เข้าใจ
- หัดให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองก่อน หากทำไม่ได้จริง ๆ ค่อยเข้าไปช่วย
- สอนลูกเกี่ยวกับมารยาททางสังคม เช่นการเข้าคิว หรือการแบ่งปัน
พาลูกไปพบแพทย์ หากลูกน้อยของคุณ…
- กลัวการมีเพื่อน หรือแสดงความก้าวร้าวกับเด็กคนอื่น ๆ อยู่เสมอ
- ไม่ชอบเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวลอย่างมากเวลาที่อยู่คนเดียว หรือเวลาที่แยกจากคุณ
- ไม่มีการตอบสนอง หรือไม่มีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
ในวัยนี้ลูกของคุณเริ่มเป็นเด็กช่างพูด เป็นเรื่องปกติที่เขาจะชอบพูดคุย และถามคำถามมากมาย
ทักษะที่เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่ทำได้
- พูดได้อย่างชัดเจน และใช้คำศัพท์ใหม่ ๆ ในประโยค
- จำชื่อจริงของตัวเองได้
- ตอบคำถามต่าง ๆ ได้ แต่บางคำถามอาจจะต้องให้เวลาลูกคิดสักนิด
คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูก
- พูดคุยกับลูกของคุณบ่อย ๆ และอย่ากลัวที่จะใช้คำที่ซับซ้อนพูดกับลูก
- การอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง จะช่วยพัฒนาความสามารถในการเข้าใจคำพูดและคำศัพท์ของเขา
- ลองฝึกให้ลูกหัดเขียนชื่อ และนามสกุลของตัวเองลงในสมุดหรือกระดาษ
พาลูกไปพบแพทย์ หากลูกน้อยของคุณ…
- มีปัญหาเรื่องการพูด หรือพูดชื่อตัวเองไม่ได้
- ไม่เข้าใจคำศัพท์ง่าย ๆ หรือไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
คำแนะนำเรื่องอาหารและโภชนาการ
ในวัย 4 ขวบ 4 เดือน ลูกของคุณจะสูงประมาณ 101 ซม. และมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม และนี่คือตัวอย่างสารอาหารที่เด็กวัยนี้ต้องการต่อวัน
สารอาหาร | ปริมาณต่อวัน | อาหาร |
โปรตีน | 20.1g (ขนาดฝ่ามือของเด็ก) | เนื้อไม่ติดมันเช่น หมู ไก่ หรือปลา ประมาณ 3 ชิ้นต่อมื้อ |
ไขมัน | 25g (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) | ถั่ว 1 กำมือ |
ไฟเบอร์ | 25g (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) | ข้าวกล้อง 1 ถ้วยหรือขนมปังโฮลวีตประมาณ 3 ชิ้นต่อมื้อ |
แคลเซียม | 600mg (2 ถ้วย) | นมพร่องมันเนยหรือโยเกิร์ต 2 ถ้วย |
พาลูกไปพบแพทย์ หากลูกน้อยของคุณ…
- น้ำหนักลด หรือเพิ่มมากผิดปกติในช่วงเวลาสั้น ๆ
- มีไข้สูง (มากกว่า 39 องศาเซลเซียส)
- มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์แบบเฉียบพลัน
- มีอาการปวด หรือบวม หลังหกล้ม
* หากคุณมีข้อกังวลใด ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อย ควรพูดคุยกับกุมารแพทย์เพื่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา sg.theasianparent.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
การเติบโตของเด็กวัย 4 ปี 3 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
เด็กวัย 4 ปี 2 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี