ทำอย่างไร..เมื่อลูกกลัวการไปโรงพยาบาล

เด็ก ๆ ในวัยเรียนรู้ หากมีประสบการณ์ที่ต้องเจ็บตัวจากโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน เจาะเลือด หรือทำแผลจากอุบัติเหตุ มักจะจดจำความเจ็บปวดได้แม่นยำ และหวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดิมซ้ำอีก เด็กเล็ก ๆ จึงร้องไห้งอแงเวลาที่ถูกพามาพบคุณหมอ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีส่วนที่จะช่วยลูกน้อยให้ก้าวผ่านความกลัว และช่วยให้การมาโรงพยาบาลไม่น่ากลัวสำหรับลูก ๆ อีกต่อไปได้ครับ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทำอย่างไร เมื่อเด็กกลัวโรงพยาบาลและหมอ

คุณพ่อคุณแม่แทบทุกท่านคงจะเคยพาลูกน้อยไปโรงพยาบาลกันมาบ้างแล้วนะครับ เสียงเด็ก ๆ ที่ร้องไห้งอแงคงเป็นภาพที่บ่งบอกถึงความรู้สึกได้เป็นอย่างดี เด็กบางคนมีอาการอิดออดไม่ยอมเดิน ไม่ยอมสบตา หรือจากที่เคยช่างพูดก็นิ่งเงียบไม่ตอบคำถาม บางคนกลัวมากถึงขนาดเห็นใครก็ตามใส่ชุดขาวในโรงพยาบาลก็ร้องไห้

เนื่องจากความร่วมมือของเด็ก ๆ ในการตรวจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราจะมาคุยกันถึงวิธีที่จะช่วยคลายความกังวลให้กับลูกน้อย ลดความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่ และช่วยให้กระบวนการตรวจผ่านไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วกันครับ

พูดคุยสร้างความเชื่อมั่น 

คุณพ่อคุณแม่ควรจะบอกว่าการมาโรงพยาบาลนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และไม่ได้แปลว่าจะต้องเจ็บตัวเสมอไป อาจใช้คำพูดแสดงถึงความผูกพัน เช่น “คุณพ่อคุณแม่สัญญาว่าจะอยู่ข้าง ๆ ลูกตลอด” หรือชี้ให้เห็นประโยชน์ของการไปพบคุณหมอ เช่น “ถ้าไปหาหมอแล้วจะได้หายไว ๆ ไปเที่ยวกับคุณพ่อคุณแม่ได้อีก” เป็นต้น

นำสิ่งของที่ลูกรักหรือชอบเล่นติดมาด้วย 

อาจนำของเล่นหรือตุ๊กตาที่ชอบมาให้ลูกเล่นระหว่างรอเพื่อพบแพทย์เพื่อสร้างความรู้สึกคุ้นเคยและปลอดภัย ผ่านทางความเคยชินของเด็ก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สัมผัสปลอบใจ 

เด็กบางคนกลัวมากขึ้นเวลาพบคุณหมอ อาจไม่ยอมให้ตรวจแต่โดยดี หรือดิ้น ไม่ยอมให้จับตัว ในขณะที่ต้องนอนเตียงตรวจ คุณพ่อคุณแม่ควรสัมผัสตัวลูกอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งพร้อมกับพูดปลอบ ในกรณีที่ลูกดิ้นมาก ๆ ควรให้ลูกนั่งบนตักของคุณพ่อหรือคุณแม่ และโอบแขนขาของลูกเอาไว้ โดยทำตามคำแนะนำของผู้ช่วยแพทย์ประจำห้องตรวจ หากลูกมีอาการนิ่งเงียบ ไม่พูด ไม่ให้ความร่วมมือ ควรใช้คำพูดกระตุ้นด้วยความใจเย็น ซ้ำ ๆ ช้า ๆ แต่ไม่ควรกดดันจนเกินไป

หากจำเป็นที่จะต้องเจ็บตัว

ในกรณีอุบัติเหตุที่มีการทำแผลหรือเย็บแผล ห้องฉุกเฉินมักอนุญาตให้คุณพ่อคุณแม่ของเด็กเล็กเข้ามาช่วยดูแลได้ ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และไม่หยิบจับเครื่องมือใด ๆ ด้วยตนเอง การปลอบลูกให้สงบอาจจะทำได้ยากหากเด็กยังอยู่ในภาวะตกใจ พยายามตั้งสติและพูดปลอบซ้ำ ๆ ด้วยความใจเย็น เมื่อมีการทำแผล เด็กอาจร้องหรือดิ้นมากขึ้น บางกรณีอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยให้เด็กอยู่กับที่เพื่อความสะดวกในการรักษา คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล้ ๆ ในระยะที่เด็กมองเห็น หรือสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกน้อยเพื่อให้สงบมากขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง

ไม่ควรใช้คำพูดที่มีลักษณะของการขู่ เช่น “ถ้าไม่เงียบคุณแม่จะไม่อยู่ด้วยแล้วนะ” “ถ้าไม่นิ่งเดี๋ยวคุณหมอจับฉีดยานะ” เนื่องจากจะยิ่งเพิ่มความหวาดระแวงให้กับลูก และอาจสร้างทัศนคติในแง่ลบต่อการมาโรงพยาบาลครั้งต่อๆไป รวมทั้งคำพูดที่มีความหมายเชิงลบต่อผู้อื่นเช่น “คุณพยาบาลฉีดยาเจ็บ เดี๋ยวคุณแม่ตีคุณพยาบาลให้นะ” อาจปลูกฝังให้ลูกเกิดความเชื่อภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม

คำพูดที่ควรใช้

คำพูดปลอบใจเช่น “ต้องอดทนนะลูก คุณพ่ออยู่ด้วยกันนะ” หรืออาจมีการเสนอข้อแลกเปลี่ยน เช่น “ครั้งนี้คุณหมอขอดูเฉย ๆ ไม่เจ็บนะลูก” หรือ “ถ้าไม่ดื้อไม่ซน ตรวจเสร็จแล้วเราไปซื้อขนมกันนะ” เหล่านี้จะช่วยสร้างสะพานให้เด็กก้าวข้ามความกลัวได้ง่ายขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สุดท้ายนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจ และให้ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการตรวจตามความเหมาะสมนั้นจะนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ สามารถลดระยะเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือการกลับมาโรงพยาบาลซ้ำ ๆได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจเพื่อให้การตรวจนั้นเสร็จสิ้นไปด้วยดีครับ

นายแพทย์กฤษณ์ ศรีธิหล้า

นายแพทย์กฤษณ์  ศรีธิหล้า

แพทยศาสตร์บัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประสบการณ์การทำงาน: แพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และโรงพยาบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา