เป็นมั้ย? ให้นมลูกหิวบ่อย เปิดเหตุผลที่คุณแม่หลังคลอดหิวง่าย กินบ่อย

อยากให้ลูกกินนมแม่ไปนาน ๆ แต่ ให้นมลูกหิวบ่อย กินเก่งจนกลัวน้ำหนักพุ่ง มาดูสาเหตุและวิธีรับมือกัน

การให้นมลูกเป็นช่วงเวลาอันน่าประทับใจที่คุณแม่และลูกน้อยได้ใกล้ชิดกันอย่างอบอุ่น และนมแม่คืออาหารหลักแสนมหัศจรรย์สำหรับลูกน้อย แต่ก็มาพร้อมความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลตัวเองหลังคลอด การได้รับอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายและทดแทนพลังงาน พร้อมช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ซึ่งมีคุณแม่บางคนพบกับความรู้สึก ให้นมลูกหิวบ่อย หิวเก่งเหลือเกิน แถมกินบ่อยด้วย แล้วน้ำหนักจะขึ้นมั้ย ทำไมให้นมลูกแล้วหิวบ่อย ผิดปกติหรือเปล่า เรามาเปิดเหตุผลกันเลยค่ะ

ทำไมควรให้ลูกกินนมแม่

ทำไม? ควรให้ลูกกินนมแม่

องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ แนะนำว่าลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียวเป็นอาหารหลัก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้นหากเป็นไปได้ โดยกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพราะนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับทารก เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่จึงเปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกที่มีภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมาก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง และขณะที่แม่ให้นมจะต้องโอบกอดลูกไว้ ตาสบตา เป็นการสร้างสายใยความรักความผูกพันที่ดีที่สุดระหว่างกันค่ะ

 

สารอาหารต่าง ๆ ในนมแม่

ในนมแม่นั้นมีองค์ประกอบด้านโภชนาการ สารอาหาร การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและยังมีเซลล์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งจากเซลล์จากแม่ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของลูกดังนี้

สารอาหารต่าง ๆ ในนมแม่
โปรตีน
  • ในปริมาณสัดส่วนพอเหมาะ ย่อยง่าย ไตลูกจึงทำงานน้อย
  • มีโปรตีนป้องกันเชื้อโรคและพัฒนาการสมอง
  • ไม่มีเบต้าแลกโตโกลบุลินที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
ไขมัน
  • อุดมด้วยโอเมก้า 3, 6 คือ DHA และ AA
  • มีคอเลสเตอรอลสร้างเส้นใยประสาท
  • มีน้ำย่อยไขมันไลเปสช่วยในการย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ดี
คาร์โบไฮเดรต
  • มีน้ำตาลแลคโตสสูง ช่วยเสริมพัฒนาการสมอง
  • มีโอลิโกแซคคาไรด์สูงมาก ช่วยส่งเสริมสุขภาพของลำไส้
วิตามินและแร่ธาตุ
  • ดูดซึมได้ดีกว่า โดยเฉพาะธาตุเหล็ก (ดูดซึม 50 – 75%) สังกะสีและแคลเซียม
  • มีซิลีเนียมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
สารป้องกันเชื้อโรค
  • มีเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมาก
สารช่วยการเจริญเติบโต
  • มีสารช่วยการเจริญเติบโตของสมองและอวัยวะต่าง ๆ
น้ำย่อยและฮอร์โมน
  • มีน้ำย่อยมากมาย เช่น น้ำย่อยไขมันและแป้ง
  • มีฮอร์โมนนานาชนิด

ไม่เพียงแต่ประโยชน์ด้านสารอาหารที่ลูกได้รับเท่านั้นนะคะ แต่การที่คุณแม่อุ้มลูกขึ้นดูดนมจากเต้าจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูก ทำให้สมองของเขาได้รับสัญญาณประสาทสม่ำเสมอ เกิดการแตกแขนงของเซลล์ประสาท ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย

ให้นมลูกหิวบ่อย

ให้นมลูกหิวบ่อย หิวง่าย กินบ่อย เพราะอะไร

นอกจากนมแม่จะมีประโยชน์ต่อลูกน้อยแล้ว ยังมีประโยชน์กับคุณแม่ด้วยนะคะ นั่นคือ การให้นมลูกจะช่วยป้องกันคุณแม่จากความเสี่ยงภาวะการตกเลือดหลังคลอด ลดการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ รวมถึงมะเร็งมดลูก แต่ก็มีความเป็นไปได้ค่ะที่คุณแม่อาจกังวลใจเกี่ยวกับความรู้สึกหิวง่าย หิวเก่ง กินบ่อย ให้นมลูกหิวบ่อย ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกหิวบ่อยในช่วงให้นมลูกก็คือ

  • การเผาผลาญพลังงานสูง ร่างกายของคุณแม่ที่ให้นมลูกจะเผาผลาญพลังงานไปกับการผลิตน้ำนม ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น
  • ความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากพลังงานแล้ว ร่างกายคุณแม่ยังต้องการสารอาหารอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งโปรตีน แคลเซียม และวิตามินต่าง ๆ เพื่อผลิตน้ำนมที่มีคุณค่าเพื่อลูกน้อย
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ฮอร์โมนบางชนิดที่หลั่งออกมาในช่วงให้นมลูก อาจส่งผลต่อความอยากอาหารของคุณแม่ได้

 

ความต้องการพลังงานของแม่ให้นม หนึ่งเหตุผล ให้นมลูกหิวบ่อย

ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดที่ให้นมแม่จะต้องใช้พลังงานสูงในการผลิตน้ำนมค่ะ โดยจะใช้พลังงานประมาณ 85 กิโลแคลอรีในการผลิตน้ำนม 100 ซีซี ซึ่งปริมาณน้ำนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกจะอยู่ที่ 700 – 850 มิลลิลิตรต่อวัน ช่วง 6 – 12 เดือน 600 มิลลิลิตรต่อวัน และช่วง 12 – 24 เดือน 550 มิลลิลิตรต่อวัน

ดังนั้น คุณแม่ที่ให้นมจึงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 500 กิโลแคลอรี โดยเฉพาะโปรตีนซึ่งมีความสำคัญมากในการผลิตน้ำนม การบำรุงและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ของคุณแม่ ทำให้ร่างกายคุณแม่ควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เลยค่ะที่คุณแม่จะมีความรู้สึกว่า ให้นมลูกหิวบ่อย เพราะร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารมาทดแทนนั่นเอง

ควรแบ่งกินหลายมื้อ กินบ่อย

รับมือกับอาการ ให้นมลูกหิวบ่อย

วิธีรับมือความหิวบ่อย หิวเก่งของคุณแม่ให้นมก็คือต้องกินค่ะ แต่จะกินอย่างไรให้มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและลูกน้อยที่จะรับน้ำนมจากคุณแม่ รวมถึงไม่ให้น้ำหนักตัวคุณแม่พุ่งขึ้นจากการกินเก่ง กินบ่อยด้วย มาดูคำแนะนำกันค่ะ

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว เพื่อช่วยในการสร้างน้ำนม และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ เพื่อให้พลังงานที่ยั่งยืน
  • กินมื้อเล็ก แต่กินบ่อยๆ แทนที่จะกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ แนะนำให้คุณแม่ควรแบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อตลอดทั้งวัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่และลดความรู้สึกหิว
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น และอาจช่วยลดความรู้สึกอยากอาหารได้บ้าง รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูและลดความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นความอยากอาหาร
  • ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ หากคุณแม่ยังคงรู้สึกหิวบ่อยและมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในระหว่างช่วงเวลาของการให้นม ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมค่ะ

โภชนาการสำหรับแม่ให้นม

อาหารและโภชนาการที่เหมาะสำหรับคุณแม่ให้นม

  • แป้งและคาร์โบไฮเดรต

คุณแม่ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 500 กิโลแคลอรี เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม ดังนั้น แนะนำให้กินข้าวประมาณ 9-10 ทัพพีต่อวัน เน้นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท วุ้นเส้น ธัญพืชไม่ขัดสี เผือก มันเทศ ถั่วดำ ถั่วแดง และควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำตาลหรือของหวานในปริมาณมาก เพราะยิ่งคุณแม่มีอาการ ให้นมลูกหิวบ่อย การกินของหวานมาก หรือรสหวานจัด อาจทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ค่ะ

  • อาหารโปรตีนสูง

คุณแม่ให้นมควรกินบริโภคโปรตีนเพิ่มขึ้นประมาณ 70 กรัม หรือ 20 ช้อนโต๊ะต่อวัน จึงควรกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ปลา ไก่ กุ้ง หรือเนื้อหมู เนื้อวัวที่มีไขมันติดน้อย มื้อละ 3-4 ช้อนโต๊ะ วันละ 4 มื้อ หรืออาหารทะเล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตับอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และดื่มนมหรือน้ำเต้าหู้อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว ไข่วันละ 1 ฟองค่ะ

  • ผักและผลไม้

เป็นอาหารที่จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ได้รับแร่ธาตุและวิตามิน ลดอาการท้องผูกหลังคลอดและช่วยในการขับถ่าย คุณแม่ให้นมจึงควรกินผักใบเขียวหรือผักมีสี อย่างน้อย 4-6 ทัพพีต่อวัน ควบคู่กับการกินผลไม้สดทุกวันอย่างน้อย 4 ถ้วยตวงต่อวัน และควรงดผลไม้ดองค่ะ

  • อาหารประเภทไขมัน

แนะนำให้กินไขมันโอเมก้า 3 จากเนื้อปลา และน้ำมันพืช โดยรับประทานได้ประมาณวันละ 5 ช้อนชา

แม่ให้นมควรกินโปรตีน คาร์โบไฮเดรต

แม่ให้นมหิวบ่อย กินยังไงให้น้ำหนักลด

คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูกน้อยนั้นใช้พลังงานมากกว่าคนปกติค่ะ ถ้าหิวบ่อย กินเยอะ แล้วอยากลดน้ำหนัก แนะนำว่าไม่ควรอดอาหารนะคะ แต่ให้เลือกกินอาหารที่มีปะโยชน์ทั้ง 3 มื้อ อาจลดปริมาณแต่ละมื้อลงแล้วเพิ่มมื้อย่อยหรืออาหารว่างเข้าไปก็ได้ค่ะ ที่สำคัญที่ต้องลดของทอด ขนมหวาน น้ำหวาน หรือขนมที่มีส่วนผสมของนมเนยลง ไม่นานน้ำหนักก็จะอยู่ในเกณฑ์ที่ควรจะเป็น และรูปร่างของคุณแม่ก็จะกลับมาสมส่วนดังเดิมค่ะ

ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับคุณแม่ให้นมลูก
มื้อเช้า โจ๊กใส่ไข่ เนื้อสัตว์ หรือผัก, ขนมปังโฮลวีททาเนยถั่ว
อาหารว่าง ผลไม้สด, โยเกิร์ต, ถั่ว
มื้อกลางวัน ข้าวกล้องกับแกงจืด, ผัดผัก
อาหารว่าง นม, ผลไม้แห้ง
มื้อเย็น ปลาอบ, สลัดผัก

การให้นมลูกเป็นช่วงเวลาที่สวยงามและมีความสุข หากคุณแม่มีสุขภาพที่ดีและได้รับสารอาหารที่เพียงพอก็จะสามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณค่าให้ลูกน้อยได้อย่างต่อเนื่อง การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่รู้สึกว่าให้นมลูกหิวบ่อย และร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อยากกินอาหารเสริม แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งนะคะ

 

ที่มา : www.bangkokhospital.com , multimedia.anamai.moph.go.th , sriphat.med.cmu.ac.th

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ให้นมลูก บริจาคเลือดได้ไหม มีผลกระทบต่อลูกน้อยหรือเปล่า

คุณแม่อัพไซส์ เสริมหน้าอก ให้นมลูกได้ไหม น้ำนมจะน้อยหรือเปล่า

ให้นมลูกผมร่วง ปัญหาหนักใจของแม่หลังคลอด แก้ไขยังไงดี

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!