สำหรับคุณแม่ที่มีลูกอ่อน แน่นอนว่า การดูแลเต้านม ถือเป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อสุขภาพร่างกายของลูกน้อย และเพื่อสุขภาพเต้านมของคุณแม่ด้วยนั่นเอง เราจึงได้นำเทคนิคง่าย ๆ เกี่ยวกับการดูแลเต้านมมาฝาก อยากรู้ว่าแต่ละเทคนิคต้องทำอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันค่ะ
6 วิธี การดูแลเต้านม ของคุณแม่หลังคลอด เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ
1. ทำความสะอาดอย่างดี
การรักษาความสะอาดของเต้านม คือสิ่งที่คุณแม่ลูกอ่อนต้องปฏิบัติ และให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะความสะอาดของเต้านม จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกน้อยได้ สำหรับการทำความสะอาดเต้านม ก็เหมือนเป็นการทำความสะอาดร่างกายตามปกติ และควรซับให้แห้งเสมอ ไม่ควรปล่อยให้เปียก หรือเหนียวเหนอะหนะ และทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นปกติก็เพียงพอแล้วค่ะ
2. งดทาครีม
การดูแลเต้านม ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อครีม เพื่อมาทาบริเวณเต้านม เพราะการทาครีมในบริเวณเต้านมนั้น จะทำให้เกิดการอุดตันของต่อมน้ำมันที่ลานนมได้ แต่ในส่วนของการใช้โลชั่น หรือครีมบำรุงผิวพรรณนั้น สามารถทำได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวในบริเวณนั้น ๆ
3. ห้ามขัดถูที่หัวนม
การขัดถูที่หัวนม รวมถึงการดึงเพื่อกำจัดไขมันบนหัวนม คือสิ่งที่คุณแม่ห้ามทำเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดแผล และทำให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อ จนอาจนำมาสู่อันตรายต่าง ๆ ตามมาได้
4. ควรซับน้ำนมที่ซึมออกมาให้แห้ง
ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมซึมออกมา ควรทำการซับให้แห้ง โดยที่ไม่ปล่อยให้เปียกชื้นนาน ๆ ซึ่งการใช้แผ่นซับน้ำนมก็ต้องคอยเปลี่ยน หรือแม้แต่การใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก สามารถทำความสะอาด และซับให้แห้งได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังสามารถระบายลมได้ดีกว่าด้วย
5. เลือกบราที่มีขนาดพอดี
หากคุณแม่มีเต้านมที่ใหญ่มาก ก็ควรเลือกสวมบราที่มีขนาดพอดี เพื่อเป็นการประคองเต้านม แต่หากมีเต้านมขนาดเล็ก ก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสวมบราไว้ เนื่องจากการสวมบรา จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด และไม่สะดวกต่อการให้นมลูกน้อยได้ ทั้งนี้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีความจำเป็นต้องสวมเสื้อชั้นใน ขอบอกไว้เลยว่าการสวมบราที่หลวม หรือคับแน่นจนเกินถือเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำกัน
6. หลีกเลี่ยงยกทรงที่มีโครงเหล็ก
ปัจจุบันนี้ ยกทรงของสาว ๆ จะมีการออกแบบ เพื่อเป็นการรักษารูปทรงของหน้าอกเอาไว้ ดังนั้นคุณแม่ทั้งหลาย คงจะเคยใช้ยกทรงที่มีโครงเหล็กกันมาบ้าง แต่ในกรณีคุณแม่ ที่อยู่ในช่วงของการให้นมแก่ลูกน้อย ควรหลีกเลี่ยงการสวมยกทรงที่มีโครงเหล็ก ทั้งนี้เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ และเพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เต้านมของคุณแม่นั่นเอง
คุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการให้นมแก่ลูกน้อย การดูแลเต้านมจึงถือว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเต้านม ถือเป็นอวัยวะที่ลูกน้อยจะต้องสัมผัสบ่อย ดังนั้นหากเต้านมของคุณแม่ไม่สะอาด อาจส่งผลกระทบถึงตัวลูกน้อยได้ ที่สำคัญไม่ควรละเลยสิ่งเล็ก ๆ ในการดูแลเต้านมเป็นอันขาด เพราะสุขภาพของลูกน้อยก็ขึ้นอยู่กับเต้านมของคุณแม่เช่นกัน
การเตรียมเต้านมให้พร้อมก่อนคลอด ช่วยให้คุณแม่มีความมั่นใจ และประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
วิธีตรวจและเตรียมเต้านม
1. ดูขนาดของเต้านม และ หัวนม
เพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น ก้อนผิดปกติในเต้านม ลักษณะหัวนมสั้น แบนบุ๋ม
2. ทดสอบความยืดหยุ่นของลานหัวนม
โดยใช้นิ้วชี้ และ นิ้วหัวแม่มือ จับฐานหัวนมดึงยืดขึ้นแล้วปล่อยเป็นจังหวะ
- ถ้าดึงแล้วมีความรู้สึกว่า หัวนมและลานนมยืดตามแรงดึงได้ดีแสดงว่ายืดหยุ่นดี
- ถ้าดึงแล้วมีแรงต้านมาก แสดงว่าความยืดหยุ่นน้อย
- ถ้าดึงแล้วหัวนมไม่ตั้งขึ้น แต่กลับบุ๋มลงไป เรียกว่า หัวนมบุ๋ม
3. ดูลักษณะหัวนม
- หัวนมสั้น แบน บุ๋ม โดยทั่วไปหัวนมยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หากสั้นกว่านี้ และที่ผิวหนังบริเวณลานหัวนมตึงแข็ง จับดึงยืดหยุ่นไม่ได้ เด็กก็จะดูดนมลำบาก แต่ในกรณีที่โคนหัวนมใหญ่ แต่ถ้าลานหัวนมยืดหยุ่นได้ดี แม้หัวนมสั้นลูกก็สามารถดูดได้ไม่ยาก
- หัวนมบอด เกิดจากหัวนมที่มีพังผืดยึดไว้ ตรวจได้โดยใช้นิ้วชี้ และหัวแม่มือกดปลิ้นหัวนมจับดึงขึ้นมา ถ้าสามารถดึงขึ้นมาได้บ้าง จะใช้เวลาไม่นานในการแก้ไข แต่ถ้าไม่สามารถจับดึงขึ้นมาได้ ต้องรีบแก้ไขแต่เนิ่น ๆ เพราะว่าอาจใช้เวลาเป็นเดือน
- ความยืดหยุ่นของลานหัวนม มีความสำคัญมากกว่าความยาวของหัวนม
4. การแก้ปัญหาหัวนม และลานหัวนมตึง โดยใช้อุปกรณ์
การใช้อุปกรณ์ช่วยในระยะก่อนคลอด อาจเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมน ที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว จึงควรระวังในผู้ที่มีประวัติแท้ง หรือ มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ
5. สร้างความมั่นใจให้คุณแม่ในเรื่องขนาดของเต้านม
ขนาดเล็ก หรือใหญ่ แตกต่างกันที่ปริมาณของไขมันในเต้านม แต่มีต่อมน้ำนมเท่ากัน สามารถสร้างน้ำนมให้มีปริมาณน้ำนมเพียงพอกับความต้องการของลูกได้ไม่แตกต่างกัน
6. ควรใส่ยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะ
ปรับสายให้ตัวเสื้อรับน้ำหนักเต้านมได้พอดี ควรใส่ตลอดเวลาทั้งกลางวัน และ กลางคืน เพื่อพยุงเต้านมไว้มิให้หย่อนยานจากขนาดที่ใหญ่และหนักกว่าเดิม 2 – 3 เท่า
7. ทำความสะอาดเต้านมด้วยน้ำธรรมดาไม่ใช้สบู่
การใช้สบู่ในการทำความสะอาดจะทำให้เต้านมแห้ง และแตกง่าย
8. ดูแลไม่ให้ลานหัวนมอับชื้น หรือผิวหนังเปื่อยแตกง่าย
ใช้ผ้าซับให้แห้งก่อนใส่เสื้อชั้นในทุกครั้ง ทั้งขณะที่ตั้งครรภ์ และหลังคลอด
ที่มา :
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
- หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม อยากให้ลูกได้ประโยชน์น้ำนมแม่ แต่กลัวลูกดูดไม่ได้ อดกินน้ำนมแม่
- ลูกกัดหัวนมแม่เป็นแผลต้องทำยังไง วิธีไหนที่ช่วยให้นมลูกได้อย่างราบรื่น