เด็ก 3 ขวบ พยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้ จนอาเจียนออกมาเป็นพยาธิ

เด็ก 3 ขวบ อาเจียนออกมาเป็นพยาธิ แพทย์ผ่าตัดพบพยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้จำนวนมาก คาดสาเหตุจาก เดินเหยียบน้ำ แนะวิธีป้องกัน และสังเกตอาการ
อุทาหรณ์! เด็ก 3 ขวบชาวอินโดนีเซียปวดท้องรุนแรง อาเจียนออกมาเป็นพยาธิ แพทย์ผ่าตัดพบ พยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้ จำนวนมาก คาดสาเหตุจาก เดินเหยียบน้ำไม่สวมรองเท้า กินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด แพทย์แนะวิธีสังเกตอาการและป้องกัน
กรณีศึกษาที่น่าตกใจจากอินโดนีเซีย เด็กชายรายหนึ่งมีอาการป่วยต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์ โดยเริ่มจากท้องเสียและมีไข้ ก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
เบื้องต้น แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แต่ต่อมาเด็กชายกลับมีอาการท้องผูกและท้องโตผิดปกติ ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล เขา อาเจียนออกมาเป็นพยาธิ แพทย์จึงทำการเอกซเรย์ช่องท้องยังพบว่ามีแก๊สสะสมในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะลำไส้อุดตัน และพบจุดอุดตันถึง 3 แห่งในลำไส้เล็ก
หลังการผ่าตัด แพทย์พบ พยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้ ของเด็กชาย จำนวนมากถึง 3 ถ้วย การตรวจยืนยันว่าเป็นพยาธิไส้เดือน เด็กชายได้รับการรักษาจนหายดีและกลับบ้านได้
ข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า เด็กชายมีสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ โดยอาศัยอยู่ที่บาหลีและมักลงเล่นในแม่น้ำโดยไม่สวมรองเท้า นอกจากนี้ แม่ของเขามักป้อนอาหารด้วยมือ และเด็กชายยังดื่มน้ำที่ไม่ต้มสุกอีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก : Journal of Medical Case Reports
แพทยชี้เคสเช่นนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดในคนไทย
โดยเพจเอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม ได้กล่าวถึงเคสนี้ว่า
จากล่าสุดเกี่ยวกับพยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้ในเด็กวัย 3 ขวบ ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดในคนไทย เพราะพยาธิยังพบการติดเชื้ออยู่บ้าง เลยนำเรื่องพยาธิสภาพและอาการคร่าวๆ ที่พอจะสังเกตได้มาฝากทุกท่าน
พยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) เป็นพยาธิชนิดหนึ่งในกลุ่มพยาธิที่ติดต่อทางดิน (Soil-transmitted helminths) และเป็นสาเหตุของโรค Ascariasis ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศเขตร้อนและกึ่งร้อน โดยเฉพาะในเด็กที่สุขอนามัยไม่ดี

ขอบคุณภาพจาก : Journal of Medical Case Reports
พยาธิสภาพที่เกิดจากพยาธิไส้เดือน
ตามวงจรชีวิตของพยาธิ ตัวอ่อนฟักในลำไส้เล็ก → ทะลุลำไส้ → เข้าเส้นเลือด → ไปที่ปอด ตัวอ่อนจะขึ้นหลอดลม → ถูกกลืนกลับลงไปในลำไส้อีกครั้ง → เติบโตเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก ตัวพยาธิมีลักษณะกลม ยาว (ประมาณ 15–35 ซม.) และมีการเคลื่อนไหวได้ในร่างกาย ทำให้เกิดพยาธิสภาพได้ อาทิ
- ระยะที่อยู่ในปอด: อาจทำให้เกิด อาการคล้ายปอดอักเสบ (Löffler’s syndrome) เช่น ไอ หอบ หายใจลำบาก
- ระยะโตเต็มวัยในลำไส้: ตัวพยาธิอาจก่อให้เกิดการอุดตันลำไส้ การอักเสบ และการอุดตันของท่อน้ำดี/ตับอ่อน
อาการที่พบได้เมื่อมีการติดเชื้อ
- ทางเดินอาหาร ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก
- ภาวะแทรกซ้อน ลำไส้อุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน
- ทางเดินหายใจ ไอ หายใจหอบ หายใจมีเสียงวี๊ด ไข้ต่ำ (ช่วงตัวอ่อนผ่านปอด)
- ทั่วไป อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โลหิตจาง โดยเฉพาะในเด็ก
- อาการรุนแรงในเด็ก การเจริญเติบโตช้า พัฒนาการล่าช้า
และเพื่ออธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจมากขึ้น เราได้นำ Infographic จากกรมควบคุมโรค ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหนอนพยาธิไส้เดือน (Ascariasis) โดยอธิบายวงจรชีวิต อันตราย และวิธีการป้องกันโรค ไว้ดังนี้
วงจรชีวิตของพยาธิไส้เดือน
- ไข่พยาธิปนเปื้อนในดิน เริ่มจากไข่พยาธิไส้เดือนที่ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ที่มีพยาธิ จะปนเปื้อนอยู่ในดิน
- ตัวอ่อนในไข่เจริญ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม (ความชื้นและอุณหภูมิ) ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตภายในไข่
- คนกินไข่พยาธิที่มีตัวอ่อน คนได้รับไข่พยาธิที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไปในร่างกาย โดยอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำ หรือติดมากับมือที่ไม่สะอาด
- ตัวอ่อนฟักตัวและไชทะลุผนังลำไส้ เมื่อไข่เข้าสู่ลำไส้เล็ก ตัวอ่อนจะฟักตัวออกมาและไชทะลุผนังลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือดและน้ำเหลือง
- ตัวอ่อนเดินทางไปยังปอด ตัวอ่อนจะเดินทางไปยังปอด ผ่านทางหลอดเลือดดำและหัวใจ
- ตัวอ่อนไชทะลุถุงลมปอดและขึ้นไปยังคอ ในปอด ตัวอ่อนจะไชทะลุถุงลมปอดและเคลื่อนตัวขึ้นไปยังหลอดลมและคอ
- กลืนตัวอ่อนลงสู่ลำไส้ เมื่อขึ้นมาถึงคอ ตัวอ่อนจะถูกกลืนลงสู่กระเพาะอาหารและเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก
- ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก พยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก ดูดซึมอาหาร และวางไข่
- ไข่พยาธิถูกขับถ่ายออกมา ไข่พยาธิจะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ วนกลับไปสู่ขั้นตอนที่ 1
อันตรายจากพยาธิไส้เดือน
- อาการทั่วไป ผู้ที่มีพยาธิไส้เดือนจำนวนน้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีพยาธิจำนวนมาก อาจทำให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจมีอาการคันก้น
- ผลกระทบต่อเด็ก ในเด็ก หากมีการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนจำนวนมาก อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา
- ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หากมีพยาธิจำนวนมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ลำไส้อุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ หรือพยาธิชอนไชไปอวัยวะอื่น
วิธีป้องกันพยาธิไส้เดือน
- ล้างมือให้สะอาด ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนปรุงอาหาร รับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- ตัดเล็บให้สั้น ตัดเล็บให้สั้นและสะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของไข่พยาธิ
- ถ่ายอุจจาระในส้วม ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของไข่พยาธิลงสู่ดินและแหล่งน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาด ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก เพื่อหลีกเลี่ยงการรับไข่พยาธิที่ปนเปื้อน
- ไม่ใช้ปุ๋ยสดจากมูลคน หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยสดจากมูลคนที่ไม่ได้ผ่านการกำจัดเชื้อโรคอย่างถูกวิธี ในการเพาะปลูกผัก
- รับประทานอาหารปรุงสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด โดยเฉพาะผักสดและผลไม้ ควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน
การป้องกัน พยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้ ในเด็ก สิ่งสำคัญ คือการดูแลสุขอนามัยของลูกน้อยให้ดี ระมัดระวัง พยาธิที่อาจปนเปื้อนมากับดินและน้ำ ผักต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แครอท ซึ่งอาจปนเปื้อนไข่พยาธิได้ หากไม่ล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน หรือหากปลูกในดินที่ไม่สะอาด
ที่มา : เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม , mustsharenews , กรมควบคุมโรค
ภาพ : mustsharenews , Journal of Medical Case Reports
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปล่อยลูกเล่นดิน เล่นทราย ระวัง! พยาธิไชมือลูก เห็นภาพแล้วน่ากลัวมาก
ระวัง !! พยาธิตัวตืดปลา จากการให้ลูกทานปลาดิบ อันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
พยาธิในตา ชอนไชดวงตาลูกจนคัน แม่สุดช็อค! หมอคีบพยาธิออกมายาวเป็นเซน