ทำความเข้าใจ ลูกชอบสั่ง ลูกเอาแต่ใจ เกิดจากอะไร พ่อแม่ต้องแก้ยังไง
พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่าย ลูกเอาแต่ใจ ลูกจอมสั่งการ หากพ่อแม่ตามใจหรือไม่กำหนดขอบเขตชัดเจน ลูกจะเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง
เด็กๆ มักชอบทดสอบขอบเขตอยู่เสมอ ลูกเอาแต่ใจ เพราะพวกเขากำลังเรียนรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ หากพ่อแม่ตามใจหรือไม่กำหนดขอบเขตชัดเจน ลูกจะเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง เมื่อลูกทำแล้วเห็นว่าพ่อแม่ไม่ดุหรือไม่ปฏิเสธ ก็ยิ่งกล้าทำพฤติกรรมซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย เช่น ลูกชอบสั่ง ชอบบงการ หรือควบคุมคนรอบข้าง เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
ลูกชอบสั่ง ลูกจอมบงการ อาจดูเหมือนพวกเขามั่นใจในตัวเองและมีความเป็นผู้นำ แต่แท้จริงแล้ว การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไปอาจทำให้ลูกขาดทักษะรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางอารมณ์และการเข้าสังคมในอนาคต หากไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ ลูกอาจติดนิสัยเอาแต่ใจและควบคุมทุกอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเมื่อเขาโตขึ้น
พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่าย ลูกเอาแต่ใจ ลูกจอมสั่งการ
บ้านไหนที่มี ลูกชอบสั่ง แรกๆ ผู้ใหญ่อาจมองว่าน่ารัก น่าเอ็นดู เมื่อเด็กๆ แสดงความต้องการของตัวเอง แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กชอบสั่งกับเด็กที่แสดงความต้องการของตนเองนั้นต่างกัน
-
ลักษณะเด็กที่แสดงความต้องการของตนเอง
สำหรับเด็กที่แสดงความต้องการของตนเองได้ คือ เด็กที่บอกได้ว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น เมื่อวางแผนกิจกรรมวันหยุด ลูกอาจบอกว่า “หนูชอบไปอควาเรียมมากกว่าสวนสัตว์” แต่ลูกก็พร้อมปรับเปลี่ยนแผน หากเสียงข้างมากของครอบครัวอยากไปสวนสัตว์มากกว่า อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ลูกน้อยปฏิเสธไม่ให้ญาติห่างๆ หอมแก้ม เพราะเพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก แต่ยื่นมือให้จับแทน
จะเห็นว่าเด็กที่แสดงความต้องการของตนเอง มักพร้อมยอมรับความแตกต่างหรือทางเลือกอื่นๆ พวกเขาอาจแสดงความต้องการก่อน แต่ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน ซึ่งแสดงถึงการสื่อสารเชิงบวกและความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้าง
-
ลักษณะเด็กที่ชอบบงการ ลูกจอมสั่งการ
เด็กที่ชอบบงการมักมีแรงจูงใจที่ต่างออกไป เด็กกลุ่มนี้ต้องการควบคุมสถานการณ์หรือกิจกรรมทั้งหมด โดยคาดหวังให้ผู้อื่นปฏิบัติตามคำสั่งหรือความต้องการของตนเท่านั้น หากไม่ได้ดั่งใจ ก็มักแสดงอารมณ์ลบ เช่น ร้องไห้ งอแง หรือหงุดหงิด พ่อแม่ที่สงสัยว่าลูกน้อยเข้าข่ายชอบสั่ง เป็นเด็กเอาแต่ใจหรือไม่ อาจสังเกตพฤติกรรม ต่อไปนี้
- สั่งตลอดเวลา ชอบบอกคนอื่นว่าต้องทำอะไร เล่นอย่างไร หรือทำสิ่งใดถึงจะ “ถูกต้อง” ตามความคิดของเขา
- มีปัญหาเรื่องการแบ่งปัน มักไม่อยากแบ่งของเล่นหรือสิ่งของ พร้อมกับอ้างว่า “ของฉัน!” อยู่เสมอ
- ยืนกรานที่จะควบคุม เด็กอาจรู้สึกไม่สบายใจหากไม่ได้เป็นผู้กำหนดเกมหรือกิจกรรม
- ร่วมมือกับคนอื่นได้ยาก การทำงานหรือเล่นร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเด็กมักให้ความสำคัญกับความคิดหรือความชอบของตัวเองเป็นหลัก
- ขัดแย้งกับเพื่อน ลูกชอบสั่ง อาจทำให้เกิดปัญหาหรือความไม่พอใจเมื่อเล่นกับเพื่อน ทำให้ทะเลาะกันบ่อยๆ
เหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรม ลูกชอบสั่ง
พฤติกรรมชอบบงการของลูกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งการเข้าใจต้นตอของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้อย่างเหมาะสม
-
ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ในเด็กเล็ก บางครั้งพฤติกรรมยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางก็เป็นเรื่องของพัฒนาการตามวัย ดังนั้นในช่วงวัยนี้ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตกับลูกให้ชัดเจนว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกและตัดสินใจเองในเรื่องง่ายๆ เช่น การเลือกเสื้อผ้า เลือกนิทานก่อนนอน แต่เรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับกฏระเบียบ พ่อแม่ควรระบุให้ชัดเจน เช่น เวลากินข้าว อาบน้ำ เข้านอน เป็นสิ่งที่ลูกจะบงการให้เป็นไปตามใจไม่ได้
-
พ่อแม่ตามใจลูกมากเกินไป
เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถม หากยังมีพฤติกรรมบงการอยู่อาจเป็นเพราะ พฤติกรรมตอบสนองของพ่อแม่ที่อาจตามใจลูกมากเกินไป ไม่กล้าขัดใจ ไม่ฝึกกฏระเบียบ ทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางที่ทุกคนต้องทำตาม
-
พื้นฐานอารมณ์ของลูก
นอกจากนี้ พื้นอารมณ์ของลูกเองก็อาจมีเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมชอบสั่งการด้วย กล่าวคือ เด็กบางคนมีนิสัยดูแลผู้อื่นเป็นธรรมชาติ จึงอาจแสดงบทบาทที่คล้ายผู้นำหรือผู้ควบคุม ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมบงการ หรือเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง มักพยายามควบคุมสิ่งรอบตัวเพื่อสร้างความมั่นคงในจิตใจ โดยแสดงออกด้วยการกำหนดวิธีการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ตนเองรู้สึกปลอดภัย เช่นเดียวกับเด็กที่ไม่ยืดหยุ่นปรับตัวยาก อาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือวิธีการที่ต่างไปจากความคุ้นเคยได้ยาก จึงแสดงพฤติกรรมบงการเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตนต้องการ
การทำความเข้าใจเบื้องหลังพฤติกรรมลูกชอบสั่ง จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พ่อแม่ต้องค่อยๆ ทบทวนทั้งบทบาทของตนเอง วิธีการเลี้ยงดู ไปจนถึงสังเกตตัวตนของลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อค้นพบสาเหตุแท้จริงซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้
3 ผลเสียเมื่อ ลูกชอบสั่ง ชอบเอาแต่ใจ
1. ไม่มีใครอยากคบ
หากปล่อยให้ลูกชอบบงการโดยไม่แก้ไข เด็กอาจพัฒนานิสัยเอาแต่ใจมากขึ้น เช่น ต้องการควบคุมทุกสิ่งรอบตัวและคาดหวังให้คนอื่นทำตามคำสั่งของตนโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ตัวอย่างเช่น ลูกอาจสั่งเพื่อนว่าให้เล่นเกมตามกติกาที่ตนกำหนด หากเพื่อนไม่ทำตาม เด็กอาจแสดงอารมณ์โกรธหรือเลิกเล่นทันที ในที่สุด เพื่อนก็จะไม่อยากเล่นด้วย กลายเป็นเด็กไม่มีเพื่อน ไม่มีใครอยากคบ
2. ขาดความยืดหยุ่น
เด็กที่ชอบบงการมักมีปัญหาในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตน พฤติกรรมนี้อาจทำให้เด็กไม่สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคยได้ ตัวอย่างเช่น หากครอบครัวไปเที่ยวแล้วแผนการเปลี่ยน ลูกอาจแสดงอาการหงุดหงิดหรือปฏิเสธที่จะทำตามแผนใหม่ เมื่อโตขึ้น ก็อาจรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่มักมีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้ไม่มีความสุข
3. เกิดความขัดแยังกับคนรอบตัว
พฤติกรรมบงการอาจสร้างความขัดแย้งในครอบครัวหรือกับเพื่อน เนื่องจากคนรอบข้างอาจรู้สึกว่าถูกกดดันและไม่อยากอยู่ใกล้ ตัวอย่างเช่น ในโรงเรียน เพื่อนอาจเริ่มหลีกเลี่ยงลูกเพราะรู้สึกว่าเขาชอบสั่งและไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่งผลให้เด็กขาดทักษะการเข้าสังคมและสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวได้ยาก
4 เคล็ดลับ ปรับพฤติกรรม ลูกชอบสั่ง ลูกเอาแต่ใจ
- พ่อแม่ต้องเป็นผู้นำ พ่อแม่ไม่ควรรอทำตามลูกอย่างเดียว แต่ควรริเริ่มชวนลูกทำกิจกรรมอื่น เช่น ชวนเล่นของเล่นใหม่ ชวนช่วยงานบ้าน หากลูกยืนกรานจะทำตามใจตนเอง พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเห็นมุมมองที่หลากหลาย
- สอนให้รับฟัง ชวนลูกฟังปัญหาที่พ่อแม่เจอและคิดหาวิธีแก้ไขร่วมกัน เพื่อฝึกให้ลูกเปิดรับมุมมองผู้อื่น
- ตั้งขอบเขตชัดเจน: ไม่ตามใจลูกในทุกเรื่อง แต่ให้เหตุผลและอธิบายว่าทำไมพ่อแม่ถึงไม่ทำตาม
- ลดการต่อต้าน: เพื่อลดการต่อต้าน พ่อแม่ไม่ควรปฏิเสธแบบตรงๆ เช่น “แม่ไม่ชอบ ไม่เล่น” แต่ควรใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจหรือปรับกิจกรรมให้สมดุล เช่น “เกมเปิดการ์ดที่ลูกชวนเล่นก็สนุกดีนะ แต่วันนี้เราลองเล่นเกมนับเลขบ้างดีไหม แม่อยากให้ลูกสอนเกมนับเลข” เป็นต้น
เมื่อพ่อแม่ปรับบทบาทมาเป็นผู้นำที่ชวนลูกทำกิจกรรม เปิดมุมมองใหม่ และสอนให้ลูกรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ลูกจะค่อยๆ ลดความเอาแต่ใจ เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ และพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและส่งเสริมการเติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว
ที่มา: หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก, marcywillardphd
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เผลอตวาดลูก ต้องทำยังไง? วิธีก้าวข้ามความโกรธ สู่การเป็นพ่อแม่ที่ใจเย็น
ลูกคนเดียว ต้องเลี้ยงยังไง? ข้อควรระวัง เมื่อต้องเลี้ยงลูกคนเดียว!
3 ทักษะ EF ที่พ่อแม่ควรสอนลูก วัย 3-6 ปี เป็นช่วงที่ได้ผลดีที่สุด