บ้านสำเร็จรูป สวย ตรงใจ ถูกกว่าสร้างเอง สำหรับคนที่กำลังคิดจะสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง ปัจจัยที่ตามมาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ค่าก่อสร้าง ค่าวัสดุ ค่าผู้รับเหมา หรือแม้แต่ระยะเวลาในการสร้างก็เป็นส่วนหนึ่งที่เจ้าของบ้านไม่สามารถกำหนดได้ตายตัวสำหรับการสร้างบ้านเอง ดังนั้นด้วยปัญหาต่างๆ ตามที่กล่าวมา ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างบ้านก็คือ บ้านสำเร็จรูป เทรนด์บ้านที่เข้ามาตอบโจทย์ด้านความสะดวกรวดเร็ว และอยู่ในฐานราคาที่ประหยัดกว่าการสร้างบ้านเอง
ทั้งนี้ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า บ้านสำเร็จรูปนั้น มีด้วยกันหลายรูปแบบ และมีความแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งปัจจุบันจะประกอบไปด้วย 3 รูปแบบหลักๆ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีการที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านแบบสำเร็จรูปสามารถแยกตามระบบการประกอบออกเป็น
1.ระบบคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete System)
หนึ่งในการก่อสร้างบ้านแบบสำเร็จรูป แต่จะเป็นระบบของการประกอบคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete System) โดยการนำชิ้นส่วนคอนกรีตต่างๆ มาประกอบติดตั้งหน้างานที่ละชิ้นส่วน เช่น เสา, พื้น, ผนัง และประกอบออกมาให้เเป็นตัวบ้าน โดยภายในผนังที่หล่อจะมีระบบร้อยสายไฟและระบบท่อติดตั้งมาให้ในตัวแล้วด้วย ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ 2 แบบ คือ หล่อสำเร็จบนพื้นที่ก่อสร้าง และหล่อสำเร็จจากโรงงาน
หล่อสำเร็จบนพื้นที่ก่อสร้าง (Site Cast Units)
โดยโครงสร้างคอนกรีตที่หล่อสำเร็จ ณ ไซต์งานก่อสร้างจะมีข้อได้เปรียบจากการหล่อจากโรงงานพอสมควร ในเรื่องของขนาด อาทิ สามารถหล่อชิ้นส่วนขนาดใหญ่บนพื้นที่กว้างได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขนส่ง แต่ก็มีข้อเสียจากสภาวะอากาศที่อาจจะเข้ามารบกวนการหล่อคอนกรีตได้ตลอดเวลา ซึ่งหากจะสร้างบ้านที่มีคานรับน้ำหนักขนาดใหญ่หรือบ้านที่มีพื้นที่กว้าง ก็สามารถเลือกหล่อสำเร็จ ณ ไซต์งานได้เลย
แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงการใช้เครนยกคอนกรีตนั้นด้วย จะต้องพึ่งพาวิศวกรจะต้องคำนวณการรับน้ำหนักของตัวคอนกรีตเอง เพื่อป้องกันการแตกหักขณะยก ระบบนี้นิยมใช้ในอาคารประเภท บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม สำนักงาน โรงงาน โรงแรม และอื่นๆ ที่มีการถ่ายแรงเป็นระบบ ไม่ต้องการช่วงระยะโครงสร้างที่ยาวเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้คอนกรีตรับน้ำหนักได้ไม่สมดุล
หล่อสำเร็จจากโรงงาน (Plant Cast Units)
การหล่อสำเร็จจากโรงงานถึงแม้จะเสียเปรียบจากการหล่อที่ไซต์งานในเรื่องของขนาด แต่ก็สามารถช่วยลดการต้นทุนการใช้จ่ายได้เยอะพอสมควร และโครงสร้างของคอนกรีตจะจะหล่อเสร็จไวและมีความแข็งแรงทนทานกว่าจากการควบคุมอุณหภูมิจากโรงงาน ซึ่งเป็นในเรื่องของความง่ายต่อการควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ส่วนในเรื่องการขนส่งจะขึ้นอยูกับกฎหมายการจราจร และสิ่งนี้เองที่เป็นตัวกำหนดขนาดมาตรฐานในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ดังนั้นการหล่อสำเร็จจากโรงงานมักจะนำมาถูกบ้านสำเร็จรูปสไตล์ รีสอร์ท โฮมสเตย์ บ้านพักที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะง่ายต่อการประกอบและการขนย้ายวัสดุ
2.ระบบน็อคดาวน์ ( Knock Down System )
ระบบน็อคดาวน์หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า บ้านน็อคดาวน์ คือ ระบบที่นำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปประกอบติดตั้งในพื้นที่ และสามารถถอดประกอบได้ ปัจจุบันบ้านน็อคดาวน์ส่วนใหญ่นิยมใช้โครงสร้างบ้าน จากไม้, เหล็ก และคอนกรีต หลายคนเคยเห็นรูปแบบของบ้านน็อคดาวน์จากอินเตอร์เน็ต หรือ สื่อต่างๆ และคิดว่าเป็นระบบการประกอบที่สามารถสร้างได้แต่บ้านแบบเล็ก
แต่เปล่าเลย บ้านสำเร็จรูประบบน็อคดาวน์นั้นสามารถทำได้ทั้งอาคารขนาดเล็กจนถึงอาคารขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือการเอาตู้ Container มาดัดแปลงใช้ในการทำบ้านน็อคดาวน์ ข้อแตกต่างจากบ้านสำเร็จรูปอื่นๆ ก็คือ บ้านน็อคดาวน์นั้นจะใช้ต้นทุนต่ำกว่าแบบบ้านสำเร็จรูปอื่นๆ เพราะจะติดตั้งด้วยระบบขันน๊อต (Bolt & Nut) เพื่อง่ายต่อการติดตั้งและรื้อถอน แต่ทั้งนี้ก็สามารถทำการติดตั้งแบบถาวรได้ด้วยวิธีการเชื่อม Welding) ซึ่งเป็นแบบบ้านที่ประหยัดเงินในกระเป๋าเนื่องจากราคาไม่แพงและใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยมาก
3.ระบบโมดูลาร์ (Modular System)
การก่อสร้างระบบ Modular คือ ระบบการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปที่ถูกพัฒนาจากการก่อสร้างสำเร็จรูปแบบ Precast Concrete System และ Knock Down System เป็นกระบวนการสร้างชิ้นส่วนภายใต้การควบคุมการผลิตในโรงงาน โดยจะเป็นบ้านสำเร็จรูประดับ Hi – Class ก็ว่าได้ เนื่องจากโครงสร้างชิ้นส่วนใช้เหล็กเป็นโครงสร้าง และสามารถออกแบบพื้นและผนังแบบ Precast Concrete หรือ Cement Board ได้ วัสดุที่ใช้ตกแต่งชิ้นส่วนต่างๆ จะเป็นวัสดุมาตรฐานกับงานก่อสร้างอาคารทั่วไป เพียงแต่ ระบบ Modular จะใช้การก่อสร้างในระยะเวลาเพียงครึ่งเดียวสำหรับการก่อสร้างอาคารหนึ่งหลังเท่านั้น การก่อสร้างระบบ Modular เป็นการผลิตในรูปแบบของ ” Module” ซึ่ง Module ที่ผลิตออกมาจะมีขนาดตามต้องการ
แต่ด้วยการควบคุมการผลิตระดับสูงที่ต้องออกจากโรงงาน ขนาดที่ออกมาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดที่สามารถขนส่งได้ด้วย แต่ทั้งนี้เองด้วยการผลิตและการออกแบบชิ้นส่วนที่สามารถเลือกได้หลายรูปแบบ หากต้องการบ้านหลังใหญ่ก็สามารถผลิตแบบแยกเป็นหลาย Module แล้วนำไปติดตั้งต่อกันที่สถานที่ก่อสร้างได้ โดยใช้ระบบ Knock Down ในการประกอบ อาทิ การขันน็อต การเชื่อม ในการติดตั้งเป็นหลัก โดยโครงการที่เลือกใช้การสร้างบ้านระดับ Modular ในปัจจุบันก็คือ โครงการ บ้านสีตะวัน ของ ชาญอิสระ ซึ่งได้ผู้ผลิตชิ้นส่วน Module ยักษ์ใหญ่อย่าง SCG เป็นพาร์ทเนอร์สำหรับโครงการนี้
ข้อดีของบ้านสำเร็จรูป
1.ระยะเวลาในการสร้างรวดเร็ว หากไม่นับระยะเวลาในการผลิตและขนส่งชิ้นส่วน
2.ลดภาระเรื่องแบบบ้าน สามารถเลือกแบบบ้านได้ตามที่บริษัทผู้ผลิตออกแบบไว้ให้หลายรูปแบบ
3.งบประมาณไม่บานปลาย มีราคาเฉพาะ เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันกับบริษัท
4.ระบบไฟฟ้า ประปา สุขาภิบาล ติดตั้งมาพร้อมชิ้นส่วน เก็บงานเรียบร้อย พร้อมใช้งานได้ทันที
ข้อเสียของบ้านสำเร็จรูป
1.ไม่สามารถเปลี่ยนวัสดุของตัวบ้านได้ วัสดุส่วนใหญ่จะเป็นไปตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดข้อจำกัดด้านขนาด
2.เนื่องจากการผลิตชิ้นส่วนถูกจำกัดพื้นที่ในโรงงาน และเรื่องขนาดการขนส่งตามกฎหมาย หากต้องการชิ้นส่วนแยกมาประกอบให้บ้านใหญ่ขึ้น ก็อาจจะต้องเปลืองงบประมาณจากการขนส่งได้
3.การต่อเติมที่ทำได้ยาก เนื่องจากการออกแบบโครงสร้างบ้านเป็นแบบสำเร็จรูป
4.มีแบบบ้านให้เลือกอย่างจำกัด ถึงแม้บริษัทผู้ผลิตจะออกแบบบ้านมาเยอะ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยได้ทีเดียว
ขอบคุณ ข่าวอสังหาฯ-บทความจาก DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ย้ายครอบครัวมาได้ไม่นาน บ้านชำรุด ร้าว ฟ้องร้องโครงการได้ไหม
แปลงบ้านให้ประหยัดพลังงาน เพิ่มความเย็น ลดค่าใช้จ่าย