คลอดธรรมชาติ เสี่ยง! กระดูกไหปลาร้าหัก ทารกบาดเจ็บขณะคลอด

พอเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 คุณพ่อคุณแม่เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เจอหน้าลูกในท้องแล้วใช่ไหม แต่ความรู้สึกนั้น อาจปนกับความวิตกกังวล โดยเฉพาะเรื่องการคลอดลูก เพราะการคลอดทางช่องคลอด (คลอดธรรมชาติ) อาจทำให้ทารกบาดเจ็บ เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก อย่างกรณีของคุณแม่ Nid Dennapha ที่ได้แชร์เรื่องราวประสบการณ์คลอด และความผิดปกติของกระดูกไหปลาร้าของลูกสาว มาติดตามกันเลยค่ะ

 

คำนวณวันคลอด 0

(ภาพประกอบจาก theAsianparent)

ทารกคลอดธรรมชาติ กระดูกไหปลาร้าหัก บาดเจ็บขณะคลอด

สวัสดีค่ะ วันนี้แม่ขอมาแชร์ประสบการณ์ คร่าว ๆ คลอดลูก(ธรรมชาติ ร.พ.รัฐ) #ลูกไหปลาร้าขวาหัก ยาวหน่อยนะคะ แม่อยากให้แม่ ๆ หรือที่เป็นคุณแม่มือใหม่ ที่ได้มาเห็นโพสนี้ จะได้ดูและสังเกตน้องได้ค่ะ แม่ขอเล่าเรื่องเลยแล้วกันค่ะ เอวาเป็นลูกคนที่ 2 ของแม่ ส่วนตัวแม่เป็นคนตัวเล็ก น้ำหนักก่อนท้อง 45 วันที่ 23 พ.ย. 2564 แม่มีอาการน้ำเดิน และแม่ไป ร.พ. เวลาตี 3 ไปถึงปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตรกว่า พยาบาลก็ให้เราตรวจโควิดแล้วให้ไปนอนในห้อง (ยุคโควิด จะมีเตียงนอน 3 เตียง เตียงคลอด 1 เตียง รวมเป็น 4 เตียงในห้องเดียวกัน)

แม่ก็เริ่มปวดท้องขึ้นเป็นระยะ ๆ จน 6 โมงเช้า พยาบาลมาล้วงดูปากมดลูก พร้อมให้แม่เบ่ง ๆ ดู พยาบาลบอกเปิด 3 เซ็น เวลาผ่านไป 7 โมง มาตรวจอีก ล้วง ๆ แล้วให้เราเบ่ง คือตอนนั้นมันปวดมาก ตอนเค้าล้วง แต่รอบนี้เค้าไม่บอกว่าเปิดกี่เซ็น แต่ให้แม่ลงจากเตียงรอคลอดไปขึ้นเตียงคลอด แม่ก็ลงไป แล้วพยาบาลบอกให้แม่ลองเบ่ง แล้วเค้าก็คุยกัน คลอดได้ ๆ คงประมานว่าคลอดเองได้

 

คลอดธรรมชาติ เสี่ยง! กระดูกไหปลาร้าหัก ทารกบาดเจ็บขณะคลอด

(ภาพประกอบจาก theAsianparent)

พยาบาลให้แม่นอนเบ่งอยู่คนเดียว ไม่มีใครดูเลย คือแบบลมเบ่งมาทีก็เบ่ง แล้วตอนนั้นเหมือนจะเป็นลมทั้งฉากกั้น ทั้งแมสที่เราใส่ แม่หายใจจะไม่ออก ร้อนไปหมด เบ่ง ๆ อยู่อย่างนั้น จน 8 โมงหมอมา (หมอเด็กมาก) พยาบาลเริ่มมารุม มาให้เราเบ่ง หมอก็ล้วง คลอดได้ ๆ ที่แม่ได้ยิน เบ่งจนแม่ไม่ไหว แม่เลยบอกเค้าว่าไม่ไหวแล้ว ความเจ็บปวดไม่ต้องพูดถึง เจ็บปวดทรมานสุด ๆ พยาบาลก็เรียกพยาบาลอีกคนมาเพื่อมาช่วยกดท้อง มันเป็นอะไรที่สุด ๆ เลย ตอนนั้นใจจะขาด แล้ว ทีนี้เค้าให้แม่เบ่ง คือแม่ไม่มีลมเบ่งเลยนะ เค้าก็ให้เราเบ่ง ๆ พร้อมกับกดท้อง แม่ก็พยายามเบ่งเพราะหมอบอกว่า ถ้าไม่ออกมันจะเป็นอันตรายต่อเด็ก และต้องใช้เครื่องช่วย แม่เป็นห่วงลูก แม่ก็รวบรวมแรงเบ่ง+กดท้อง พยาบาลก็บอกเบ่งอีก ซ้ำ ๆ มา ๆ จนคลอดออกมาได้ เวลา 09.06 แม่ได้ยินเสียงร้อง พยาบาลเอามาให้ดูเพศ แล้วเอาไปทำความสะอาด แม่ก็คลอดรก เย็บแผล นอนดูอาการไปตามระเบียบ ครบเวลาขึ้นห้องพัก แม่ถึงได้มาดูป้ายที่ข้อมือลูก น้ำหนักแรกคลอด 3,710 กรัม สุดทรมาน เจ็บแผลสุด ๆ ไม่ให้คนเฝ้าด้วย ไม่ใช่ห้องพิเศษ ต้องอยู่ห้องรวม

 

คลอดลูกแบบไหนไม่เจ็บ

(ภาพประกอบจาก theAsianparent)

แม่น้ำนมน้อย เครียดหนัก ลูกร้องจ้า ตัวเหลือง น้ำหนักลด 

ตกบ่ายวันนั้น ลูกแม่ร้องงอแง แม่ก็ว่า นมคงไม่พอเพราะน้ำนมยังไม่ค่อยมี แต่แม่ก็พยายามเอาเข้าเต้าบ่อย ๆ ตกกลางคืนก็ร้อง จนพยาบาลต้องเอานมเสริมมาให้กินถึงได้นอนกัน เช้าวันที่ 2 น้องมีไข้ พยาบาลก็พูดว่า มีไข้ได้งัย แม่ก็ไม่คิดอะไร เอานมให้ และค่อยเช็ดตัวให้ลูก แม่ตอนนั้นก็เริ่มเครียดนะ เพราะแม่น้ำนมไม่ค่อยมี แม่แจ้งพยาบาลแบบเค้าอยากให้เราเอาลูกเข้าเต้า เค้ามาบีบ ตอนบีบนมอ่ะมี แต่พอดูด ๆ ไปมันไม่มี เค้าก็ว่าแม่น้ำนมมาดี เค้าจะไม่ให้นมเสริม คือแม่ก็จะไม่ไหวแล้ว วัน 2 วันแรก น้องร้องตั้งแต่ตี 1 จนถึงตี 5 หลับ ๆ ตื่นร้อง แล้วน้องมีอาการตัวเหลืองอีก ต้องอบและอยู่ ร.พ. แม่ร้องไห้ คุยกับพยาบาลเลย เค้าเลยว่าแม่นมไม่พอเค้าเลยร้อง

คืนที่ 3 ผ่านไป หมอมาตรวจ น้องน้ำหนักลง แม่ก็ไม่มีน้ำนม ยิ่งเครียดบวกกับค่าเหลืองดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่หมอจะให้กลับบ้านก่อน 2 วันนัดมาเจอ ถ้าค่าเหลืองไม่ดีต้องนอน ร.พ. นะ แม่ก็โอเค กลับมาแม่ค่อยดีขึ้น เอาลูกเข้าเต้าแล้วให้นมผงให้เค้ากินด้วย คือให้เค้ากินอิ่มนอนหลับได้เต็มที่ จน 2 วันมาเจอหมอ ค่าเหลืองอยู่เกณฑ์ปรกติแล้วไม่มีอะไรแล้ว

 

กระดูกไหปลาร้าหัก

เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของกระดูก

แม่ก็เลี้ยงลูกปรกติจนได้ 8 วัน แม่สังเกตเห็น ว่าจะบอกพ่อให้ช่วยดู ด้วยที่แม่ยุ่ง เลี้ยงลูก 2 คน คนเดียวงานบ้านด้วย แม่เลยลืม จนวันที่น้องอายุได้ 9 วัน พอพ่อเลิกงานกลับมาบ้าน บอกพ่อช่วยดูไหปลาร้าลูกหน่อย พ่อก็จับ ๆ ดูพ่อว่ากลัวกระดูกหลุด แต่แม่ว่าหัก วันต่อมาวันที่ 10 ตอนเย็น พ่อเลิกงานเลยพาลูกไปหาหมอเด็กที่ ร.พ.เอกชน พบหมอเด็ก หมอขอเอกซเรย์ดู แล้วผลที่แม่กลัวคือ น้องไหปลาร้าหักจริง ๆ แม่สงสารลูก มานึกย้อนกลับไปตอนแรกคลอดที่เค้าร้องงอแง เค้าคงไม่ได้หิวอย่างเดียว เค้าคงเจ็บคงปวดด้วย หมอเด็กแจ้งแม่ว่า แบบนี้เกิดจากการคลอดนะคะ ยังงัยเดี๋ยวจะส่งต่อไปหาหมอกระดูกอีกท่านนึง เราก็ไป สิ่งที่หมอพูดคำแรกเลย ไหปลาร้าหักนะครับ เกิดจากการคลอดซึ่งมีน้อยมาก

 

กระดูกไหปลาร้าหัก

หมอก็เทสน้องให้น้องจับนิ้วมือ น้องยกมือจับบีบดึงนิ้วหมอ หมอเลยแจ้งอาการว่าน้องมีแค่กระดูกหัก เส้นประสาทอะไรไม่ได้รับความเสียหายอะไร พ่อกับแม่ก็เบาใจไปหน่อย น้องอายุ 10 วัน กระดูกน้องเริ่มเชื่อมกันแล้วนะ เดี๋ยวอีก 1 เดือนมาดูอีกที พ่อกับแม่คุยกับหมอ หมอแจ้งว่าน้องยังเด็ก กระดูกประสานเร็ว 1 ปี ก็มองแทบไม่ออกแล้วว่าหักมา โตเป็นสาวก็มองไม่ออกเลยว่าหักมาก่อน พ่อก็ห่วงว่าจะมีผลตอนโตไหม หมอบอกไม่มีผลอะไร พ่อกับแม่ก็เบาใจไป หมอก็ถามว่าจะกลับไปรักษาต่อที่ ร.พ. ที่คลอดไหม เค้าจะได้เตรียมผลตรวจอะไรต่าง ๆ ให้

 

กระดูกไหปลาร้าหัก

พอคุยกันแล้วน้องมีแค่อาการกระดูกหัก เส้นประสาทไม่เสียหาย กระดูกเชื่อมกันแล้วก็หาย ส่วนค่ารักษาหลักพันบาทไม่เกิน 5 พัน เราจ่ายไหว ตอนนี้น้องอายุ 6 เดือนกว่าแล้ว สุขภาพแข็งแรง ร่าเริงดี ไม่เจ็บป่วยอะไรแค่นี้แม่ก็พอใจแล้วค่ะ สุดท้ายต้องขอขอบคุณที่เข้ามาอ่านจนจบนะคะ แม่หวังว่าเรื่องราวของแม่จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย….ขอบคุณค่ะ

 

กระดูกไหปลาร้าหัก

theAsianparent ขอขอบคุณคุณแม่ ที่มาร่วมแชร์ข้อมูลให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้สังเกตลูกน้อยหลังคลอดกัน และขอให้น้องเอวาสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ ทีนี้หลายคนอาจจะเริ่มกังวลและสงสัยว่าการบาดเจ็บนั้น เป็นเรื่องปกติหรือความผิดพลาดตอนทำคลอดกันแน่ เราจึงนำข้อมูลมาฝากกันค่ะ

 

ทารกบาดเจ็บตอนคลอด เกิดขึ้นได้อย่างไร

อย่าลืมว่า ระหว่างที่คุณแม่กำลังเบ่งคลอดสุดแรง ทารกต้องเคลื่อนตัวผ่านกระดูกเชิงกราน บวกกับแรงบีบ แรงเบ่ง การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดฟกช้ำขึ้น และทำให้ทารกแรกเกิดบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ซึ่งการบาดเจ็บส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่

1. ก้อนเลือดใต้หนังศีรษะ

เนื่องจากการบีบตัวของมดลูกที่ดันศีรษะทารกเข้ากับกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ จนทำให้เกิดก้อนปูดขึ้นมา และเลือดสะสมในเนื้อเยื่ออ่อน และเกิดการฟกช้ำในหนังศีรษะ ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ หายไปในที่สุด

2. กระดูกไหปลาร้าหัก

มักเกิดกับทารกที่มีขนาดตัวใหญ่มาก ทารกที่มีอาการกระดูกไหปลาร้าหัก จะขยับแขนหรือไหล่ได้ไม่ดี และแขนจะวางปวกเปียกอยู่ข้างตัว โดยจะสังเกตได้ว่าผิวหนังบริเวณไหปลาร้าดูบวมหรือฟกช้ำ แต่สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา

3. ผนังกั้นจมูกเบี่ยง

ขณะทารกคลอดผ่านช่องคลอด แรงกดจะไปกดทับจมูก ดันให้จมูกเบี่ยง ดูโค้งงอ ปลายจมูกไม่อยู่ตรงกลาง และรูจมูกไม่เท่ากัน แต่ไม่ต้องกังวลเพราะคุณหมอจะเบี่ยงให้กลับเข้าที่ได้

4. รอยคีม

รอยฟกช้ำที่ผิวหน้า บริเวณใต้ตำแหน่งที่ใช้เครื่องมือคีบและดูด มักเกิดขึ้นพบได้บ่อย ๆ แต่รอยเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลง และหายไปภายใน 2 – 3 วัน

และนี่ก็เป็นลักษณะของการบาดเจ็บในทารกแรกเกิดขณะคลอดออกมา ซึ่งอาการข้างต้นนั้นไม่ร้ายแรง และหายไปได้ในที่สุด หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะสบายใจมากขึ้นนะคะ แต่ทั้งนี้ การสังเกตความผิดปกติของลูกให้ละเอียดไว้ก่อนนั้น ถือเป็นเรื่องดีที่สุดและควรทำอย่างยิ่ง หากพบอะไรที่น่ากังวล ควรปรึกษาคุณหมอทันทีค่ะ

 

บทความที่น่าสนใจ

ผ่าคลอด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ปัญหาที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านพบเจอ แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

แม่ขอแชร์! ผ่าคลอดลูกแฝด เหตุห่วงรัดปากมดลูกหลุด ส่งทารกเข้า NICU ด่วน

วิธีลดความเสี่ยงไม่ให้คุณแม่ กระดูกหัก ในช่วงตั้งครรภ์ อ่านก่อนจะสายเกินแก้ !

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!