เรื่องการขับถ่ายของทารกแรกเกิด เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่ต้องเอาใจใส่ เพราะทารกแต่ละวัยนั้นมีการขับถ่ายที่ต่างกัน คุณแม่อาจสงสัยว่าช่วงที่ทารกคลอดมาวันแรก ๆ ทำไมถึงอึบ่อย ท้องเสียหรือเปล่า การขับถ่ายของทารกแรกเกิด จนถึง 1 ขวบนั้น ลูกควรฉี่และอึวันละกี่ครั้งกันนะ บทความนี้มีคำตอบค่ะ
การขับถ่ายของทารกแรกเกิด – 1 ปี
- ทารกแรกเกิด : การขับถ่ายในช่วงแรกเกิดยังไม่เป็นระบบดี ลูกจะปัสสาวะเกือบทุก 20 นาทีในช่วงเดือนแรก ๆ หรือประมาณ 10-15 ครั้งต่อวัน โดยในแต่ละครั้งปริมาณการปัสสาวะจะค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะของลูกยังเล็กนิดเดียว และมีการถ่ายอุจจาระทุกครั้งที่ตื่นนอนหรือทุกครั้งหลังจากกินนมแม่ ประมาณ 10 ครั้งต่อวัน สำหรับทารกที่กินนมแม่ลักษณะของอุจจาระจะเหลว เพราะนมแม่ย่อยง่าย จึงไม่มีกากใย ช่วงแรก ๆ อาจจะเห็นลูกถ่ายเหลวบ่อย คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจว่าลูกมีอาการท้องเสียนะคะ ความถี่จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงแรกเกิดนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมดูแลทำความสะอาดก้นลูกแทบทุกระยะนะคะ
- ทารกอายุ 1-4 เดือน : จะปัสสาวะประมาณ 10-12 ครั้งต่อวัน ปริมาณของปัสสาวะจะน้อยมากอาจขึ้นอยู่กับการกินนมแล้วแต่ความต้องการของทารกแต่ละคน และเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของกล้ามเนื้อท้อง ส่วนความถี่ในการอุจจาระประมาณ 8-10 ครั้ง สำหรับลูกที่กินนมผสมจะลดลง ซึ่งก็จะทำให้มีจำนวนครั้งที่แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน
- อายุ 5-6 เดือน : ทารกจะปัสสาวะ 9-12 ครั้งต่อวัน เมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือน จะฉี่และอึน้อยลง ขึ้นอยู่กับปริมาณการทานนมของแต่ละคนด้วย
- อายุ 6-8 เดือน : ลูกจะเริ่มรู้เรื่องการขับถ่ายมากขึ้น เริ่มร้องไห้เป็นสัญญาณให้แม่รู้ถึงความไม่สบายตัวเมื่ออุจจาระหรือปัสสาวะเฉอะแฉะ ลูกจะปัสสาวะประมาณ 8-10 ครั้งต่อวัน สีและลักษณะของอุจจาระก็จะเปลี่ยนไปตามอาหารเสริมที่ลูกเริ่มรับประทานหลัง 6 เดือน
- ทารกอายุ 9-11 เดือน : จำนวนการฉี่ของทารกจะลดลงมาก ประมาณ 8-10 ครั้งต่อวัน แต่ปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งจะเยอะขึ้น อุจจาระประมาณ 2-5 ครั้งต่อวัน และจะเริ่มแข็งตัวขึ้น เริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล บางคนอาจเริ่มมีอาการท้องผูกถ้ากินนมหรือน้ำน้อย คุณแม่ควรให้ลูกได้กินผักหรือผลไม้ด้วยนะคะ
- ทารกอายุ 12 เดือนขึ้นไป : ลูกจะฉี่ประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน จำนวนที่ปัสสาวะในตอนกลางคืนก็จะลดลงเหลือ 1-3 ครั้งต่อวัน และจะอุจจาระเป็นเวลามากขึ้น รวมทั้งสีและลักษณะของอุจจาระก็เริ่มใกล้เคียงกับของผู้ใหญ่มากขึ้น
การดูแลเรื่องการขับถ่ายของลูก เรื่องฉี่เรื่องอึของลูกไม่ใช่เรื่องขี้ ๆ ที่จะมองข้ามกันได้ง่าย ๆ มีความสำคัญพอ ๆ กับเรื่องอาหารการกิน การนอนหลับ การเลี้ยงลูกเรื่องอื่น ๆ หากลูกน้อยดูสบายดี สดใส และไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกับลักษณะและความถี่ในการขับถ่ายของเจ้าตัวน้อยมากเกินไปนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : 12 ลักษณะอุจจาระทารก อึของเบบี๋แต่ละแบบบอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
รอบรู้เรื่อง การขับถ่ายของทารก
-
ลูกถ่ายอุจจาระสีเทาดำอมเขียว
การถ่ายอุจจาระสีเทาดำอมเขียว หรือ “ขี้เทา” ในช่วง 2-3 วันหลังคลอด ถือเป็นเรื่องปกติลำไส้อุดตัน
-
ลูกถ่ายทันทีหลังกินนม
ในเด็กทารกอายุ 2-3 เดือนแรก โดยเฉพาะในทารกนมแม่อาจถ่ายทุกครั้งหลังกินนม ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดจากร่างกายส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทอัตโนมัติไปที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้บีบตัวเพื่อขับถ่ายอุจจาระออกจากร่างกาย ทันทีที่กระเพาะอาหารได้รับน้ำนมจนเต็ม
-
ลูกไม่ถ่ายนานหลายวัน
สำหรับเด็กนมแม่ บางคนอาจไม่ถ่ายนานหลายวัน ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากนมแม่ไม่มีของเสียที่เป็นกากมากนัก ร่างกายจึงดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้เกือบหมด คุณแม่จึงไม่ต้องเป็นกังวลนะคะ แม้ไม่ได้ถ่าย แต่ลูกยังรู้สึกสบายดี และเมื่อถ่ายอุจจาระออกมาจะไม่แข็ง จึงไม่เรียกว่าท้องผูก
-
ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่
อุจจาระปกติของทารกที่กินนมแม่จะเป็นสีเหลืองทอง ข้น คล้ายแป้งเปียก หรือซุปฟักทอง หรืออาจเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายซุปถั่ว แต่ไม่แข็งเป็นก้อน โดยส่วนใหญ่ลูกจะถ่ายบ่อยวันละหลายครั้งในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก และเมื่ออายุ 1-3 เดือนความถี่ในการขับถ่ายก็จะลดลง
-
ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมผง
อุจจาระของทารกที่กินนมผงจะมีสีเหลืองอ่อนกว่าอุจจาระของเด็กที่กินนมแม่ หรืออาจเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะคล้ายแป้งเปียก หรือไข่กวน ทั้งนี้ความถี่ในการขับถ่ายหรือสีอุจจาระจะเป็นอย่างไรก็ได้ ตราบใดที่ลูกอุจจาระไม่แข็งหรือเหลวเป็นน้ำ แต่ปัญหาที่พบบ่อยในทารกที่กินนมผงคือท้องผูก หรืออุจจาระแข็งเกินไปนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกมีอุจจาระผิดปกติ สีอุจจาระแต่ละสีบอกอะไรบ้าง แบบไหนที่ผิดปกติกับลูก
ทำไมลูกจึงเบ่งหน้าดำหน้าแดง
อาจเป็นไปได้ว่ากล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายยังทำงานไม่ประสานกัน ส่วนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทำงานแล้ว แต่กล้ามเนื้อหูรูดไม่ยอมเปิดให้อุจจาระออกมา จึงทำให้ลูกเบ่งมาก เมื่อระบบประสาทพัฒนามากขึ้นอาการนี้จะหายไปเอง อย่างไรก็ตาม แม้ลูกจะเบ่งหน้าดำหน้าแดง แต่อุจจาระที่ออกมาไม่แข็ง ถือว่าไม่ท้องผูก เพราะฉะนั้นไม่ควรเหน็บยาหรือสวนอุจจาระ เพราะจะทำให้เด็กเคยชินและไม่ยอมเบ่งเองค่ะ
อุจจาระแบบไหนที่น่ากังวล
- คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลหากอุจจาระของลูกมีสีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หากลูกถ่ายบ่อยและเหลวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น ร่วมกับท้องอืด อาจเป็นอาการติดเชื้อ
- หากพบมูกใสในอุจจาระอาจเกิดจากการระคายเคืองที่ลำไส้ อาหารไม่ย่อย แต่ก็อาจมาจากเมือกที่ลูกกลืนขณะอยู่ในท้องแม่ หรือมาจากน้ำมูกหรือเสมหะที่กลืนลงไปขณะเป็นหวัดก็ได้
- หากพบเลือดเป็นเส้นจาง ๆ เคลือบอุจจาระ ส่วนใหญ่เกิดจากอุจจาระแข็งครูดกับผนังลำไส้หรือรูทวาร แม้เลือดที่ออกไม่รุนแรง แต่ควรแจ้งคุณหมอเพื่อรักษาภาวะท้องผูกหรืออุจจาระแข็งเกินไป
- หากมีเลือดออกจำนวนมากในอุจจาระ อาจเกิดจากความผิดปกติที่โครงสร้างของลำไส้ การติดเชื้อที่ลำไส้อย่างรุนแรง หรือเกิดจากโรคลำไส้กลืนกัน ควรรีบพบคุณหมอโดยเร็ว
การขับถ่ายของทารกแรกเกิด จนถึง 1 ขวบ อาจบ่งบอกสุขภาพของลูกน้อยได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอุจจาระของลูกบ่อย ๆ และควรหมั่นทำความสะอาดก้นของลูกน้อยให้สะอาดอยู่เสมอ หากสังเกตว่าลูกมีสีอุจจาระผิดปกติ อาจต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุกันต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อึลูกเป็นสีเข้ม บอกสุขภาพทารกได้ มีวิธีเช็กอย่างไรบ้าง?
ลูกถ่ายเป็นสีเขียว ขี้เขียว สีดำ ลูกน้อยของเราเป็นอะไรหรือเปล่า ?
ลูกท้องเสียจากน้ำนมแม่ ทารกถ่ายบ่อย จนก้นแดง ทั้งที่กินนมแม่อย่างเดียว
ที่มา : sabuykid