ลูกน้อยในวัยนี้จะเริ่มตัวใหญ่ขึ้นแล้ว เขาจะแสดงออกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการยิ้มหรือหัวเราะ ร่างกายจ้ำม่ำมากขึ้น เพราะน้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จนคุณอดที่จะหอมสักฟอดไม่ได้ แล้วทักษะและพัฒนาการของลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มาดูกันเลย
พัฒนาการทางด้านร่างกาย ของทารก 4 เดือน
ในวัยนี้ทารกจะมีการพัฒนาการทางด้านร่างกายอย่างรวดเร็วอย่างที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน คอก็จะแข็งมากขึ้น มีความพยายามในการพยุงศีรษะให้อยู่นิ่ง โดยใช้ข้อศอกดันเข้ากับพื้น หรือความพยายามในการเอามือน้อย ๆ เข้าปาก เห็นอะไรก็อยากจะชิมอยากลิ้มลอง พ่อแม่ต้องระวังไว้ให้ดี อย่าให้ของชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ใกล้ตัวลูกเด็ดขาด รวมถึงของเล่นมีเสียง ของเล่นเขย่า โมบายแขวนน่ารัก ๆ หากลูกน้อยชอบหรือสนใจก็อาจจะหยิบเอาเข้าปากได้
เด็กบางคนยังชอบอะไรวิบ ๆ วับ ๆ อย่างเครื่องประดับของคุณแม่ เช่น ต่างหู สร้อยคอ หรือแม้แต่นาฬิกา เวลาที่พ่อหรือแม่อุ้มก็อดใจไม่ได้ที่จะคว้ามาอม หรือส่องจ้องดูอย่างสงสัย ที่ลูกเป็นแบบนี้ เพราะว่าเขาเริ่มมีความคล่องแคล่วและมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อบริเวณมือที่ดีขึ้น
พัฒนาการทางด้านความรู้ความเข้าใจ ของทารก 4 เดือน
ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ด้านความรู้ความเข้าใจลูกน้อยก็ยังมีพัฒนาการที่รวดเร็วด้วยเช่นกันจนบางทีคุณต้องประหลาดใจ เพราะเขาสามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้ว่า มีความสุข ชอบหรือไม่ชอบ หรือเสียใจ นั่นแสดงว่าลูกน้อยจะสามารถแสดงความรักต่อพ่อแม่ได้บ่อยขึ้น เวลาที่คุยกับลูกคุณก็จะได้เห็นรอยยิ้มที่น่ารักไปด้วย
นอกจากนี้ เด็กยังสามารถมองเห็นวัตถุต่าง ๆ ได้ดีขึ้น การประสานงานระหว่างสายตากับมือก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำความรู้จักกับคนรอบข้างได้ และรู้ว่าตอนนี้ทุกคนกำลังเรียกชื่อเขาอยู่และรู้ว่าใครกำลังพูดด้วย
พัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์ ของทารก 4 เดือน
เมื่อลูกน้อยเข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ มากขึ้น รู้จักแสดงความรักซึ่งเป็นพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ทำให้เขารู้จักที่จะแสดงอารมณ์และตอบสนองอารมณ์ของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะยิ้มบ่อยขึ้น หัวเราะมากขึ้น กลายเป็นเด็กอารมณ์ดีในทุก ๆ วัน การแสดงออกนี้ ยังมาพร้อมกับน้ำตาด้วยในบางสถานการณ์
เคยไหมที่เล่นกับลูกอยู่ แล้วมีคนโทรเข้ามา หรือต้องหยุดไปทำอย่างอื่น พฤติกรรมที่พ่อแม่เปลี่ยนไปฉับพลันนี่เองที่อาจทำให้ลูกเสียใจและร้องไห้ออกมา เพราะเขาต้องการที่จะเล่นสนุกกับคุณต่อนั่นเอง
อีกหนึ่งสิ่งที่พ่อแม่จะเห็นว่าลูกน้อยทำได้ดีคือ การเลียนแบบ ไม่ว่าคุณจะทำหน้าแบบไหน มีท่าทางยังไง หรืออาการแบบไหน โดยเฉพาะท่าทางที่ปรากฏบนให้หน้าของคุณ ลูกน้อยก็จะจดจำ และเลียนแบบมันออกมา
พัฒนาการทางด้านการสื่อสาร ของทารก 4 เดือน
ก่อนจะพูดอะไรกับลูก หรืออยากให้ลูกพูดออกมาอย่างไร ต้องอย่าลืมว่าส่วนหนึ่งมาจากการซึมซับพฤติกรรมมาจากพ่อแม่ แม้แต่การร้องเพลงก็เช่นกัน และเสียงเพลงนี้แหละที่จะเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็กได้เป็นอย่างดี มีงานวิจัยหนึ่งบอกว่าเสียงเพลงจะช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการพูดได้เร็วขึ้น โดยคุณอาจจะร้องระหว่างอาบน้ำให้ลูก หรือจับลูกมาวางบนตักแล้วร้องก็ได้
คำพูดที่ใช้กับลูกก็ควรเป็นคำง่าย ๆ สั้น ๆ เช่น ขอบคุณ ขอ ถึงแม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจความหมายในตอนนี้ แต่ในอนาคตลูกน้อยจะเข้าใจคำเหล่านี้แน่นอน
โภชนาการของทารก 4 เดือน
มีคุณหมอหลายท่านบอกว่าควรให้ลูกน้อยได้กินอาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือน แต่คุณก็สามารถฝึกให้ลูกกินอาหารเสริมเร็วกว่านั้นได้ หากปรึกษาคุณหมอแล้ว เนื่องจากความพร้อมของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน หากคุณแม่ต้องการจะฝึกให้ลูกกินอาหารเสริมตั้งแต่วัยนี้ แนะนำให้คุณจับที่ศีรษะลูกก่อน แล้วเริ่มตักอาหารเข้าปาก ซึ่งอาหารที่ให้ลูกนั้นควรมีธาตุเหล็กและนมแม่เป็นส่วนประกอบด้วย
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการทารก 4 เดือน
- เอื้อมมือให้สุดแขน
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกสามารถยกแขนทั้งสองข้าง ขึ้นมาเล่นโดยเหยียดแขนออกห่างจากลำตัว
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ: ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
- จัดลูกอยู่ในท่านอนหงาย คุณแม่นั่งข้าง ๆ
- คุณแม่ยื่นหน้าเข้าไปพูดคุยกับลูกหรือยื่นของเล่นในระยะที่ลูกจะเอื้อมมือไปถึง หรือแขวนโมบายให้ลูกเล่นในระยะที่ลูกเอื้อมมือถึง
- ไกวไปไกวมา
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกสามารถมองตามสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้เป็นมุม 180 องศา
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ: ลูกบอลผ้าสักหลาดสีแดง
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
- จัดลูกอยู่ในท่านอนหงายโดยศีรษะอยู่ในแนวกึ่งกลางลำตัว
- คุณแม่ถือของเล่น ห่างจากหน้าลูกประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด)
- คุณแม่เขย่าหรือแกว่งของเล่นเพื่อกระตุ้นให้ลูกสนใจจ้องมอง จากนั้นเคลื่อนของเล่น อย่างช้า ๆ เป็นแนวโค้งไปทางด้านซ้าย
- ทําซ้ำโดยเปลี่ยนเป็นเคลื่อนของเล่นจากทางด้านซ้ายไปด้านขวา
- ถ้าลูกยังไม่มองตาม ให้คุณแม่ช่วยประคองหน้าลูกเพื่อให้หันหน้ามามองตาม
- เสียงมหาสนุก
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกสามารถหันตามเสียงได้
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ: กรุ๊งกริ๊ง (ชนิดเสียงดัง)
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
- จัดลูกอยู่ในท่านอนหงาย หรืออุ้ม ลูกนั่งบนตัก โดยหันหน้าออกจากคุณแม่
- เขย่าของเล่นด้านข้างลูก ห่างจากลูกประมาณ 30 – 45 ซม. (1 ไม้บรรทัดครึ่ง)
- รอให้ลูกหันมาทางของเล่นที่มีเสียง ให้คุณแม่พูดคุยและยิ้มให้ลูก
- ถ้าลูกไม่หันมามองของเล่น ให้ประคองหน้าลูกเพื่อให้หันตามเสียง
- ค่อย ๆ เพิ่มระยะห่างจนถึง 60 ซม. (2 ไม้บรรทัด) หมายเหตุ: ขณะฝึกอย่าให้มีเสียงอื่นรบกวน
- สัมผัสรัก
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกสามารถเปล่งเสียง เพื่อแสดงความรู้สึก
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
- จัดลูกอยู่ในท่านอนหงาย คุณแม่นั่งข้างลูก และยื่นหน้าเข้าไปหาลูกในระยะห่างประมาณ 60 ซม. (2 ไม้บรรทัด)
- คุณแม่พูดคุย เล่น หัวเราะกับลูก หรือสัมผัสจุดต่าง ๆ ของร่างกายลูก เช่น ใช้นิ้วมือ สัมผัสเบา ๆ ที่ฝ่าเท้า ท้อง เอว หรือใช้จมูกสัมผัสหน้าผาก แก้ม จมูก ปากและท้องลูก โดยการสัมผัสแต่ละครั้งควรมีจังหวะหนัก เบา แตกต่างกันไป
- รักยิ้ม
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกยิ้มทักคนที่คุ้นเคย
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการ:
- คุณแม่ยิ้ม และพูดคุยกับลูก เมื่อทํากิจกรรมต่าง ๆ ให้ลูกทุกครั้ง
- อุ้มลูกไปหาคนที่คุ้นเคย เช่น พ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย คุณแม่ยิ้มทักคนที่คุ้นเคยให้ลูกดู
- พูดกระตุ้นให้ลูกทําตาม เช่น “ยิ้มให้คุณพ่อสิลูก” “ยิ้มให้…สิลูก”
อ้างอิง
- คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี [Internet]. Thaichilddevelopment.com. [cited 2021 Jan 21]. Available from: www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
- Baby development: Your 4-month old [Internet]. Webmd.com. [cited 2021 Jan 21]. Available from: www.webmd.com/parenting/baby/baby-development-4-month-old