เด็กคลาน ได้ตอนกี่เดือนนั้นคือพัฒนาการของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ เพราะอย่างที่ทราบกันว่า การคลานของเด็ก เป็นก้าวต่อไปหลังจากที่เจ้าตัวน้อย คว่ำได้ กลิ้งได้ และนั่งได้ ซึ่งปกติแล้วเด็กจะเริ่มคลานเมื่ออายุ 6-10 เดือน แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ ถ้าหากเจ้าตัวน้อยยังอยากจะนั่งเฉย ๆ ไม่ยอมคืบคลานเสียที เพราะเด็กบางคนอาจมีพัฒนาการข้ามขั้นไปเป็นยืนและเดินเลย โดยไม่คลานก่อน
เด็กคลาน กี่เดือน ลูกน้อยส่งสัญญาณจะคลานตอนไหน
เมื่อไรลูกน้อยสามารถลุกนั่งได้โดยไม่ต้องมีใครช่วย ขั้นต่อไปคุณจะสังเกตเห็นว่าลูกเอามือทั้งสองลงวางลงกับพื้น คว่ำหน้า และยกก้นขึ้น สัญญาณเช่นนี้คุณแม่เตรียมตัวได้เลยค่ะ ลูกน้อยของคุณพร้อมที่จะคลานแล้ว ที่สำคัญ วิธีคลานของทารกไม่ได้มีแค่แบบเดียว เพราะทารกสามารถพาตัวเองไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเองอย่างมหัศจรรย์ เรามาดูท่าคลอดของเด็ก ๆ กันดีกว่าค่ะ
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
ท่าคลานของลูก ๆ มี 6 ท่า
บางครั้งคุณแม่อาจเห็นว่าลูก ๆ เราคลานเป๋ไปเป๋มา ไม่ต้องตกใจค่ะ จริง ๆ แล้วทารกมีพัฒนาการคลานขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ค่อยเอาตัวกระดึ๊บ ๆ พอเริ่มตั้งตัวขึ้นได้นิดหน่อยก็อาจลื่นล้ม เอียงไปเอียงมา นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกเรากำลังพยายามและมีพลังในการพยายามคลาน เราลองมาดู เด็กคลานทั้ง 6 ท่ากันเลย
- คลานแบบปกติ : ท่านี้จะเป็นท่าคลานปกติที่ใช้มือและเข่าในการคลาน จังหวะการคลานสัมพันธ์ระหว่างมือและหัวเข่าโดยอัตโนมัติ และท่านี้ลูกจะคลานไวมาก ๆ
- คลานแบบหมี : ท่านี้จะต่างจากท่าแรกนิดหน่อย แต่เปลี่ยนจากการใช้เข่าเพื่อยันตัวแทนการใช้เข่า ทำให้ดูเหมือนท่าเดินของหมี ท่านี้ลูกก็ใช้พลังเยอะแบบหมีด้วย
- คลานด้วยท้อง : เป็นท่าคลานที่เด็ก ๆ จะเอาท้องติดกับพื้นแล้วไถตัวไปเรื่อย ๆ ดูเหมือนท่าหมอบคลานของทหาร ท่านี้จะเรียกว่าท่าเริ่มต้นของการขับเคลื่อนตัวเองก็ไม่ผิด พวกเขาจะเอาตัวไถไปข้างหน้า แบะมือเท้ากว้างคล้ายกบ
- คลานแบบปู : ท่านี้จะเรียกได้ว่า เด็ก ๆ เริ่มรู้เรื่องเยอะขึ้น เขาจะใช้การคลานในท่านั่งแล้วใช้มือกับขาเพียงข้างเดียวเพื่อเขยิบตัวไปด้านหน้า คล้าย ๆ คนขี้เกียจลุกเดิน แต่เป็นท่าน่ารัก ๆ ที่ลูกน้อยของเราพยายามขยับเขยื้อนตัว
- คลานด้วยก้น : ถ้าใครมีลูกแล้วทำท่านี้ต้องบอกว่า เกิดเสียงเชียร์เลยค่ะ ท่านี้เป็นการคลานด้วยท่านั่ง โดยเด็ก ๆ จะนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า แล้วเอามือค่อย ๆ ดึงตัวไปเรื่อย ๆ ถ้าจะบอกว่า พวกเขาฉลาดที่ใช้ท่านี้เพราะเริ่มจะเจ็บเข่าแล้วก็ได้
- คลานไปกลิ้งไป : ท่าสุดท้ายนี้รื่นเริงสุด จะเป็นกึ่ง ๆ การคลานผสมกับการกลิ้งไปเรื่อย ๆ สังเกตดูว่า เวลาพวกเขาทำขวดนมกลิ้งไปไหน แล้วเขาจะกลิ้งตามไป คล้าย ๆ ทำท่าเลียนแบบขวดนม หรืออยากได้อะไรแล้วนอนอยู่ เขาก็จะกลิ้ง ๆ ไปเอาของสิ่งนั้นมาค่ะ
ทั้ง 6 ท่านี้คือ ท่าคลานหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยของเด็ก ๆ แท้จริงแล้วพวกเขาชอบพลิกแพลงและมีท่าที่ถนัดส่วนตัว เช่น ท่าคลานถอยหลัง หรือคลานช้าไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด หากลูกของเราไม่ได้มีปัญหาทางด้านพัฒนาการอื่น ๆ ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ
คุณแม่จะช่วยกระตุ้นให้ เด็กคลาน ได้อย่างไร ?
วิธีกระตุ้นให้ลูกเริ่มคลาน วิธีที่ดีที่สุด คือ การให้ลูกได้เล่นในขณะที่นอนคว่ำ วิธีนี้เป็นการช่วยให้ลูกน้อยได้ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ หลัง ไหล่ และการควบคุมศีรษะ นอกจากนั้น ยังฝึกให้ลูกคุ้นเคย และรู้สึกสบายเมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำอีกด้วย ในขณะเดียวกัน คุณยังสามารถช่วยให้ลูกน้อยยืนขึ้นโดยสอดมือของคุณใต้อ้อมแขนของเจ้าตัวน้อย เพื่อให้ลูกได้ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนขาหรือต้นขา รวมถึงการช่วยให้ลูกน้อยนั่งตัวตรงซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานและกล้ามเนื้อหลังในการประคองตัว คุณแม่อาจเล่นเกมจ๊ะเอ๋กับลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยสนใจและนั่งตัวตรงได้นานขึ้น ซึ่งการจะคลานได้นั้น ต้องใช้ทั้งกล้ามเนื้อขาและกล้ามเนื้อท้องที่แข็งแรงร่วมกันค่ะ ของเล่นที่ที่มีเสียงเพลง หรือมีไฟ เป็นเครื่องมือที่ดีที่คุณแม่สามารถนำมาใช้กับลูกน้อยในการกระตุ้นให้ลูกเคลื่อนที่เพื่อไปคว้าของเล่นที่เขาสนใจ โดยคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะคลานเป็นตัวอย่างให้เจ้าตัวน้อยดูเป็นตัวก่อนด้วยนะคะ
บทความที่น่าสนใจ : 5 ของเล่น STEM ที่เหมาะสำหรับการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กวัยหัดเดิน
สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการคลาน
เมื่อคุณแม่เห็นว่าลูก ๆ เริ่มคลานได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การเตรียมพื้นที่สำหรับในการคลานของลูกน้อย เช่น จัดห้องใหม่ เคลียร์พื้นที่ใหม่ ทำประตูรั้วเตี้ยปิดทางขึ้นลง และอีกหลายวิธีดังนี้ค่ะ
- ปิดเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ลองสังเกตดูว่า โต๊ะ เก้าอี้ที่มีมุมแหลม ๆ ลูกสามารถพยุงตัวปีนขึ้นไปได้ไหม ถ้าจัดการได้ให้ทำการปิดมุม หรือเคลื่นย้ายไปห้องอื่นค่ะ
- เก็บกวาดสิ่งที่อยู่บนพื้นที่อาจเป็นอันตรายกับลูก เล่น เหรียญ กระดุม หรือของชิ้นเล็ก ๆ ที่ลูกอาจเอาเข้าปากและติดคอได้ อย่าวางทิ้งสิ่งของที่เป็นโลหะ พลาสติกไว้ที่พื้นเป็นอันขาด
- เก็บขวดสารเคมีต่าง ๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาซักผ้า ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ย้ายไปเก็บในห้องเก็บของหรือใต้บันไดที่มีประตู มีตู้เก็บเรียบร้อย
- เก็บสายไฟที่ห้อยจากเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เรียบร้อย เพราะลูกอาจดึงและหล่นลงมาทับได้
- ปิดรูปลั๊กไฟทุกรู หากไม่สามารถปิดได้ ให้คุณแม่เปลี่ยนบริเวณที่เลี้ยงลูก ทำคอกกั้นกว้าง ๆ ถ้าเป็นห้องเล็กไม่มีพื้นที่มากนัก ให้หาตู้โต๊ะทึบ ๆ มาขวางไว้ค่ะ
- ติดตั้งที่กั้นบันได ทั้งด้านบนและด้านล่าง เพราะเด็กที่คลานได้ มักจะพยายามปีนโดยอัตโนมัติ ระวังพวกเขาปีนขึ้นและกันตกบันไดค่ะ
- ตรวจเช็กเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำหนักมากว่ามีการยึดติดกับกำแพงอย่างแน่นหนาหรือยัง
สุขอนามัยของเด็กเริ่มคลาน
- ด้านผิวหนัง : เด็กคลานได้มักจะชอบคลานไปตามมุมห้อง โต๊ะ เก้าอี้ พยายามพยุงตัวปีนป่าย ซึ่งตามพื้นและสิ่งของต่าง ๆ มักจะมีฝุ่น เหลือบ ไร หากเข้าไปตามร่างกายแล้วอาจจะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการภูมิแพ้ได้ เพราะผิวของเด็กเล็กมีความบอบบาง ง่ายต่อการเกิดผื่นคัน
- เริ่มอยากกินอาหารเอง : ในวัยคืบคลาน ลูกเริ่มกินข้าวบดอาหารเสริมได้แล้ว โดยเขาจะพยายามหัดกินเอง ซึ่งการหยิบอาหารเข้าปากนั้น สามารถทำได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลความสะอาดทั้งมือลูกและอาหาร ภาชนะต่าง ๆ ให้สะอาดปลอดภัย
- ความสะอาดตามร่างกาย : เมื่อเด็กคลานแล้ว มือ เท้า เข่า จะมีความสกปรกบ้าง และการคลานของลูก ดีตรงที่เขาได้ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีเหงื่อ คลุกฝุ่นตามพื้นบ้าง จึงต้องหมั่นทำความสะอาดร่างกายลูกน้อยให้ดี ที่สำคัญควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็น แชมพู ครีมอาบน้ำ โลชั่นทาตัว ต้องบอบบาง รวมไปถึงเสื้อผ้าต้องเหมาะสำหรับเด็ก ผลิตจากผ้าฝ้าย 100%
ถ้าลูกยังไม่คลาน ควรทำอย่างไรดี ?
คุณพ่อคุณแม่อาจเฝ้ารอวันที่จะเห็นลูกน้อยคลานได้อย่างใจจดใจจ่อ และอาจเป็นกังวลที่ไม่เห็นเจ้าตัวน้อยคลานเสียที ทั้งนี้การคลานหรือไม่คลานไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่เป็นปัญหาต่อพัฒนาการของทารก เด็กบางคนสามารถข้ามไปยังพัฒนาการขั้นอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าได้เลยแต่หากลูกน้อยอายุ 7 เดือนมีอาการตัวอ่อน และยังไม่สามารถทิ้งน้ำหนักลงบนเท้าได้เมื่อคุณประคองตัวเขาเอาไว้ แนะนำให้พาน้องไปพบคุณหมอนะคะ เพราะกล้ามเนื้อของลูกควรจะแข็งแรงแล้วในวัยนี้ และควรจับตาดูพัฒนาการโดยรวมของลูกน้อย หากคุณแม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อความสบายใจค่ะ
เด็กคลานเป็นสัญญาณของพัฒนาการที่ดีตามวัย จึงต้องให้ความสำคัญกับการคลานของลูกอย่างมาก หากพบความผิดปกติคุณพ่อคุณแม่จะได้ปรึกษาแพทย์ได้ทันท่วงที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกคลานช้า คลานถอยหลังผิดปกติไหม ท่าคลานเด็กมีแบบไหนบ้าง?
10 หมอนเด็ก ยี่ห้อไหนดี? ปี 2021 คุณแม่สายซื้อออนไลน์ไม่ควรพลาด
ฟันน้ำนมหัก ฟันแท้จะขึ้นเมื่อไหร่? ฟันน้ำนมต้องดูแลอย่างไร
ที่มา : sukumvithospital, Mamastory