คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านคงเคยประสบปัญหาลูกน้อยในวัยทารก ที่มี อาการโคลิค ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุใช่ไหมคะ ร้องแบบรุนแรง ร้องนาน ร้องติดต่อกันหลายวันในเวลาเดิม ๆ ตอนแรกอารมณ์ดี สักพักร้องไห้ขึ้นมา ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ตกใจไม่น้อย พยายามหาสาเหตุแล้วว่าลูกร้องทำไม เจ็บปวดอะไรหรือเปล่า ไม่สบายตัวหรือเปล่า แต่เมื่อเช็คดูแล้วก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ เข้าข่ายอาการที่เรียกกันว่า “โคลิค”
อาการโคลิค เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ต้องเจอ !
เมื่อพูดถึงอาการนี้ แต่ละบ้าน แต่ละพื้นที่มีความเชื่อค่อนข้างแตกต่างกันไป บางบ้านมองเป็นในมุมของ “หลักวิทยาศาสตร์” ในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า โคลิค และสำหรับบางบ้านค่อนข้างเชื่อในมุม หลักความเชื่อโบราณ ความเชื่อของคนโบราณมักจะบอกกันว่า ที่เด็กทารกมักจะร้องไห้อย่างรุนแรงนั้นเพราะเขาเห็นแม่ซื้อ หรือผี วิญญาณที่อยู่ใกล้ตัวมาแกล้งมาก่อกวน เราลองมาศึกษาเพิ่มเติมกันดูนะคะ เรื่องของความเชื่อ
ในสมัยโบราณเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังเข้าไม่ถึง เวลาที่เด็ก ๆ ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ร้องเสียงดังและไม่ยอมหยุด ร้องในเวลาเดิม ๆ เชื่อต่อ ๆ กันมาว่าเด็กมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว เช่น วิญญาณมากวน หรือ แม่ซื้อมาหยอกมาเล่นด้วย และเล่าต่อกัน มาถึงหลายสาเหตุ เช่น หนีมาเกิด , เด็กเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น , นมแม่เป็นพิษ , ดวงไม่ถูกกับพ่อแม่ , เป็นซาง (ไม่ว่าจะเป็นกินน้อย ไม่ยอมกิน ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วย ไข้ ผื่น ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูก ผื่นตามตัว
หลายคนถามว่าแม่ซื้อคือใคร บ้างก็บอกว่าแม่ซื้อ คือเทวดา หรือผีที่คอยดูแลเด็กทารก เชื่อกันว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีแม่ซื้อคอยดูแล เพื่อปกปักรักษา ไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย บ้างก็บอกว่าแม่ซื้อ คือ แม่ในชาติก่อนที่ตามมาดูแลทารกน้อยที่มาเกิดในชาตินี้ เมื่อโตขึ้นมาพอช่วยเหลือตัวเองได้แม่ซื้อก็จะจากไปเอง ถึงแม้ว่าแม่ซื้อจะถือว่าเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริงอยู่ แต่ในบางครั้งก็ให้โทษได้เช่นกัน มีการแปลงเป็นสิ่งต่าง ๆ หลอกหลอนให้ทารกตกใจ หรือเจ็บป่วย
ดังนั้น เพื่อให้ทารกหายเป็นปกติ จึงต้องมีการจัดพิธี “ทำแม่ซื้อ” หรือ “เสียแม่ซื้อ” ขึ้น เพื่อให้เด็กทารกหายจากอาการสะดุ้งผวา ร้องไห้หนัก หรือการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นอยู่ เรื่องของหลักวิทยาศาสตร์ โคลิค คือ การที่ทารกร้องไห้มีลักษณะที่รุนแรงเป็นพิเศษ ไม่เหมือนการร้องไห้แบบปกติธรรมดา เพราะไม่ว่าจะอุ้ม หรือปลอบ ร้องเพลง ให้กินนม ก็ไม่สามารถทำให้หยุดร้องได้ และสามารถร้องไห้ได้เป็นชั่วโมงๆ มักเป็นตรงเวลาทุกวันบางบ้านใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมง หรือ บางบ้านยาวนานถึง 3 – 5 ชั่วโมง ทำให้คุณพ่อคุณแม่เครียดไปตาม ๆ กัน ซึ่งทางวิทยาศาสตร์เรียกอาการเหล่านี้ว่า โคลิค คนไทยมักเรียกกันว่า “เด็กร้องร้อยวัน”
สาเหตุการเกิดโคลิค ?
- พื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก จัดอยู่ในกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก
- มีอาการท้องอืดเนื่องจากเด็กกลืนอากาศขณะดูดนมเข้าไปมาก
- ผู้ดูแลไม่สามารถทำให้เด็กเรอได้เพียงพอ อากาศในท้องจึงก่อให้เด็กเกิดอาการแน่นอึดอัดท้อง
- เด็กอยู่ในท่านอนที่ไม่เหมาะสม ไม่สบายตัว
- เด็กกินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป
- ครอบครัวมีความเครียด ความวิตกกังวลมาก พบว่าความเครียดของแม่ตั้งครรภ์ทำให้เกิดโคลิค
- เกิดในเด็กที่มีภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
- เกิดในเด็กที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ คือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากเกินไป
- ในเด็กที่มีทานนมแม่ แล้วแม่ทานอาหารที่ส่งผลผ่านน้ำนมทำให้ท้องอืด
- เด็กที่บิดา มารดา มีปัญหาทางอารมณ์
- ในเด็กที่ทานนมผง อาจจะทานนมที่ไม่เหมาะกับร่างกายของทารก นมบางสูตรจึงมีเขียนข้างกล่องว่า สำหรับเด็กที่เป็นโคลิค
วิธีรักษาอาการโคลิค ?
- ในทารกที่ดื่มนมแม่ แม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารในทารก เช่น นมวัว ถั่วเหลือง บล็อกโคลี กะหล่ำปลี (ผัก 2 ชนิดนี้ทำให้เด็กทารกมีอาการท้องอืด หรือปวดท้องได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดก๊าซในกระเพาะของทารก)
- ลดความเครียด ความกดดันในครอบครัว ให้พ่อแม่เข้าใจว่าโคลิคเป็นอาการที่เกิดชั่วคราวและจะหายได้เอง ในหลาย ๆ บ้านต่างรับมือกับอาการนี้ได้ไม่ดีพอ จากความเหนื่อยล้าที่สะสม อดหลับอดนอน เมื่อทารกร้องขึ้นมาไม่หยุด จึงก่อให้เกิดความเครียดขึ้นมาอีก
- ในเด็กที่ต้องดื่มนมอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ อาจเลือกนมที่แพ้ได้น้อย หรือปรึกษาแพทย์ นมบางยี่ห้อจะมีสูตรที่เขียนข้างกล่องไว้โดยเฉพาะว่า สูตรลดอาการโคลิค
- เมื่อให้ดื่มนม หรือน้ำจากขวด ระวังอย่าให้มีอากาศแทรกเข้าไปตรงบริเวณที่ดูดนม เพราะจะทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากเกินไป
- หลังป้อนนมเสร็จแล้ว ควรจับให้นั่ง หรืออุ้มพาดบ่าให้เรออย่างน้อย 15-20 นาที
การรักษาอาการโคลิคหรือร้องไห้ไม่หยุดนี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและอาจเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมด้วย แต่ข้อสำคัญ คุณพ่อ คุณแม่ ต้องทำใจต้องใช้เวลา และอดทนในการดูแลเด็กทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือน ที่มักจะมีอาการนี้อย่างใกล้ชิด ทำใจให้สบาย ๆ อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป คนในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญมาก ๆ เลยนะคะ ช่วยกันให้กำลังใจซึ่งกันและกันอย่างดี ก็จะสามารถจับมือกันผ่านปัญหานี้ไปได้แน่นอนค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจจะสนใจ :
ลูกร้องไห้ไม่หยุดรับมืออย่างไร ? ร้องไห้แบบไหนเข้าข่าย โคลิค
เผยเทคนิค หยุดน้ำตาเจ้าตัวเล็ก จบปัญหา ลูกร้องไห้ไม่หยุด พาพ่อแม่แฮปปี้
สิ่งที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยง และไม่ควรทำเมื่อ เด็กมีอาการโคลิค