ในยุคที่ค่าครองชีพไม่เหมือนก่อน ทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ยังคงเลือก ทำงานตอนท้อง ไปเรื่อย ๆ จนถึงใกล้คลอด แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและจำเป็นต้องดูแลตัวเองพิเศษด้วยนะคะ
ทำงานตอนท้อง ต้องสตรอง ต้องระวังแค่ไหน?
โดยในเรื่องนี้ แพทย์หญิงนาฎนภา ศรีขาว แผนกสูติ-นรีเวช ประจำโรงพยาบาลเปาโล-เมโมเรียล สมุทรปราการ ได้ให้คำแนะนำและวิธีปฏิบัติตัวกับคุณแม่ท้องที่ต้องไปทำงานว่า “สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ คือการไปฝากครรภ์ ไม่ว่าคุณแม่จะทำงานออฟฟิศหรืองานประเภทใดก็ตาม เพื่อเป็นการค้นหาภาวะความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และเพื่อที่จะได้มีการเตรียมพร้อมรับมือดูแลสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกได้อย่างถูกต้อง”
ทั้งนี้อาชีพการงานของแม่ตั้งครรภ์แต่ละรายแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องดูว่าลักษณะงานที่ทำนั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้ง หรืออันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ ควรมีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานบางอย่างหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น
- คุณแม่ที่ทำงานในออฟฟิศ ข้อควรระวังคือ ไม่ควรยืนนาน ๆ หรือเดินมากเกินไป เพราะการยืนนานจะทำให้คุณแม่รู้วึกปวดขาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายต้องรับน้ำหนักมากขึ้นจากภาวะการท้อง ส่วนการเดินมากเกินไป ก็อาจทำให้ปวดท้องได้ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น การเดินไปเดินมาสลับกับการนั่งพัก เพื่อช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้น และควรอยู่ห่างหรือไม่ควรใช้เป็นเวลานานจากอุปกรณ์สำนักงานบางอย่าง เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เนื่องจากผงถ่านคาร์บอนหรือรังสีที่แผ่ออกมาจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
- กรณีที่ต้องนั่งทำงาน ควรหาหมอนมาพิงไว้ที่หลังเพื่อบรรเทาความเมื่อยล้า อาการปวดหลัง และหาเก้าอี้มารองเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจได้สะดวก ไม่ควรนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมนานเกินไป อย่างน้อยเมื่อทำงานครบ 2 ชั่วโมง ก็ควรหยุดพักประมาณ 15 นาที ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย
- คุณแม่ที่ทำงานหนักหรือที่ต้องใช้แรง ถ้าหากเลี่ยงได้ก็ควรเปลี่ยนไปทำงานที่เบาลง และหาเวลาพักผ่อนให้มากกว่าตอนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
- ในกรณีที่ต้องทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะในตอนกลางคืนสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาหัวหน้างานหรือเจ้านายเพื่อเปลี่ยนมาทำงานในกะกลางวันแทน เนื่องจากในช่วงกลางคืนจะเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตสำหรับทารก และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของคุณแม่ การได้นอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนอย่างเต็มที่จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนท้อง ส่งผลดีต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
นอกจากลักษณะการทำงานแล้ว หลังกลับจากทำงานคุณแม่ควรให้ร่างกายตัวเองได้ผ่อนคลายสุด ๆ เช่น การได้แช่เท้าในน้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้า จิบน้ำสะอาดหรือน้ำผลไม้ เวลานอนควรหาหมอนรองเพื่อยกขาให้สูง จะช่วยบรรเทาอาการขาบวมได้ดี และที่สำคัญต้องไม่เครียด เพราะความเครียดไม่ว่าจะสาเหตุจากเรื่องงาน ความกังวล ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ทารกในครรภ์เติบโตได้ช้า ส่งผลต่ออารมณ์ลูก รวมถึงมีปัญหาทางด้านพัฒนาการสมองและพฤติกรรมในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณแม่ที่มีประวัติการแท้งบุตรง่ายหรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแท้ง ควรรับคำปรึกษากับแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะต้องได้รับการพักผ่อนมากกว่าปกติหรือหยุดทำงานเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์.
10 ข้อห้ามคนท้อง
ในระหว่างการตั้งครรภ์สิ่งที่คุณแม่ควรนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ “เรื่องความปลอดภัย” คุณแม่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังอีกหลายเท่าและดูแลตัวเองให้มากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ต่าง ๆ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่เองและกับลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยสิ่งที่คุณแม่ควรระวังหรือละเว้นและเตรียมป้องกันอันตรายต่าง ๆ นั้น มีดังนี้
- อันตรายรอบตัว งานที่คุณแม่คิดว่าเป็นงานง่าย ๆ เช่น การถูพื้น ขัดพื้นห้องน้ำ อาจทำให้คุณแม่ลื่นล้มได้ หรือแม้แต่เครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ซึ่งคุณแม่ไม่ควรดื่ม หรือคุณพ่อที่ชอบสูบบุหรี่พ่นควันโขมง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตรายภายในบ้านที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงและต้องเพิ่มความระมัดระวัง
- สารเคมีอันตราย ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อยู่หลายชนิดที่มีสารเคมี เช่น ประเภทสารระเหย ได้แก่ น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาขัดห้องน้ำ แลกเกอร์ สีทาบ้าน ฯลฯ เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ถ้ามีสารเคมีจากภายนอกเข้าไปรบกวน จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ได้, ประเภทสเปรย์ฉีด ได้แก่ น้ำยาขัดเฟอร์นิเจอร์ โฟมใส่ผม ยาฉีดยุง ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เวลาฉีดจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายและมองไม่เห็น เมื่อคุณแม่หายใจเข้าไปก็จะเป็นอันตรายกับตัวเองและลูกน้อยได้ คุณแม่จึงควรเปลี่ยนจากแบบสเปรย์มาใช้แบบเจลหรือเป็นครีมทาจะดีกว่า
- สารเคมีที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น สี ตะกั่ว ปรอท ไวนิล น้ำยาซักแห้ง และตัวทำละลายต่าง ๆ
- การทำความสะอาดมูลแมว มูลแมวมีส่วนประกอบของ Toxoplasmosis ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติในการคลอดบุตรได้ โดย Toxoplasmosis จะเป็นเชื้อปรสิตชนิดหนึ่งที่มีแมวเป็นพาหะนำโรค ถ้าในบ้านคุณเลี้ยงแมวอยู่ ก็ควรจะอยู่ให้ห่างมูลแมวและมอบหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้คนอื่นแทน
- รังสีจากโทรทัศน์ มีคุณแม่หลายคนที่มักเกิดความกังวลในขณะที่ตั้งครรภ์ ด้วยกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ โทรทัศน์ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ คนคาใจอยู่ แต่โทรทัศน์ในปัจจุบันจะไม่มีการแผ่รังสีเหมือนโทรทัศน์ในสมัยก่อนแล้ว จึงไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยแต่อย่างใด
- ความร้อน แทบจะไม่มีใครเชื่อเลยว่าความร้อนนั้นสามารถส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่ไม่สบายก็ควรรีบกินยาลดไข้โดยเร็ว (ใช้ได้เฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้น) หรือคุณแม่ที่ชอบไปอบตัว อบเซาน่า หรือแช่น้ำวน ก็ควรจะหยุดกิจกรรมเหล่านี้ออกไปชั่วคราวก่อน
- สถานที่อันตราย เช่น สถานที่ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่, บริเวณที่มีการแผ่รังสี, บริเวณที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคอาศัยอยู่, บริเวณที่มีของเสียทุกชนิดและทุกประเภทจากโรงงานอุตสาหกรรม
- สำหรับคุณแม่ที่เป็นแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ หรือวิสัญญี ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมยาสลบ
- ความเครียด อาการเครียดในระยะสั้นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และปวดหลัง ถ้าหากปล่อยให้เครียดนาน ๆ จะทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง เกิดความดันโลหิตสูง และเกิดโรคหัวใจตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีวิจัยที่พบว่าความเครียดทางใจหรือความเครียดที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจและสิ่งแวดล้อมทางสังคม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมต่อคุณแม่แล้ว ยังอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางกายภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย โดยเด็กที่คลอดจากแม่ที่มีความเครียดสูง มักจะคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เด็กกลับมามีสุขภาพที่สมบูรณ์ หากคุณแม่มีความเครียดไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ก็ควรจะหาวิธีจัดการกับความเครียดดังกล่าว เพราะคุณแม่ที่เครียดเพียงเล็กน้อยและปรับตัวได้ดี ก็จะไม่มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ครับ
- เวลานอนเรื่องสำคัญ คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรนอนดึก และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพราะมีงานวิจัยพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่นอนน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เช่น ความดันโลหิตสูงที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
- ท่านอนกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกว่า ท่านอนที่เคยนอนสบาย ๆ กลับไม่สามารถนอนได้เหมือนเคย ในระยะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็คงไม่เป็นอะไร คุณแม่จะนอนหงาย นอนคว่ำ นอนตะแคงก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าท้องใหญ่มากขึ้นหรือในช่วงใกล้คลอด การนอนคว่ำก็อาจทำให้ท้องค้ำตัวคุณแม่ จะนอนหงายก็ไม่ได้เพราะจะหายใจได้ไม่สะดวก เพราะขนาดท้องที่ใหญ่มากขึ้นจะไปกดตรงกะบังลม ส่วนท่านอนที่ดีที่สุดของคุณแม่ท้องใหญ่ ๆ คือ ท่านอนตะแคง จะตะแคงซ้ายหรือขวาก็ได้ตามที่ถนัด เพราะการนอนตะแคงมดลูกที่มีขนาดใหญ่จะไม่ไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ด้านหลัง จึงทำให้คุณแม่หายใจได้สะดวก เลือดลมไหลเวียนได้ดี คุณแม่จึงนอนหลับได้สบายมากขึ้น
- การใช้ยากับลูกในครรภ์ ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด คุณแม่ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และต้องบอกคุณหมอด้วยทุกครั้งว่า กำลังตั้งครรภ์อยู่และบอกอายุครรภ์ด้วยทุกครั้ง แต่หากคุณแม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ยาเป็นการเร่งด่วน ควรอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจนก่อนใช้ทุกครั้งว่าไม่มีข้อห้ามใช้สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ผลิตออกมาขายตามท้องตลาดทั่วไป ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่ายาชนิดนั้นจะปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์ เพราะยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ส่วนยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์จะมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ยาพาราเซตามอล (แก้ปวดและลดไข้) ที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนยาแอสไพรินนั้นห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด, ยาคลอเฟนิรามีน (แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ), ยาเพนิซิลลินและแอมพิซิลลิน (เป็นยาปฏิชีวนะ) และผงเกลือแร่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 30 ยาที่คนท้องห้ามกิน & คนท้องห้ามกินยาอะไรบ้าง ??
10 ข้อห้ามคนท้อง
6.อาหารการกินกับหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้วอาหารที่กินอยู่เป็นประจำจะไม่มีข้อห้ามอะไรสำหรับคุณแม่ครับ เพียงแต่คุณแม่ควรจะงดเว้นอาหารที่ทานแล้วจะเป็นโทษต่อร่างกายและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารรสจัด (เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด หรืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงแต่งมาก), อาหารที่ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน (อาหารประเภทไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด อาหารจำพวกแป้งที่ต้องอุ่นซ้ำ น้ำอัดลม ชา กาแฟ ฯลฯ), อาหารที่ทานแล้วท้องผูก (เพราะท้องผูกกับคนท้องเป็นของคู่กัน จะทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ง่ายมาก), อาหารที่เพิ่มน้ำหนักแต่ไม่ให้คุณค่า (ไม่ได้ห้ามครับ แต่ควรจะหลีกเลี่ยงไว้เป็นดี เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ได้), อาหารที่เป็นพิษหรืออาหารที่คุณแม่เคยกินแล้วแพ้, อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารค้างแช่แข็ง และอาหารที่เก็บรักษาได้นาน, อาหารที่ปรุงไม่สุก (เช่น ไข่ดิบ เนื้อหรือปลาดิบ ซูชิ อาหารทะเลสด หอยนางรม ปลาแซลมอนรมควัน สเต๊ก), ผลไม้บางอย่าง เช่น มะม่วงดิบ (ย่อยได้ยาก ทำให้คุณแม่เกิดอาการแน่นท้อง) ทุเรียน (ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ได้มาก ทำให้จุกเสียดแน่นท้อง), ผลไม้รสหวานจัดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นลำไย เงาะ มะม่วงสุก มะละกอสุก น้อยหน่า อินทผลัม น้ำมะพร้าว ฯลฯ (อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ถ้าลดปริมาณได้หรือนาน ๆ กินทีก็ไม่เป็นอะไรครับ), ตับ (ทานได้บ้าง แต่ไม่ควรทานในปริมาณมากและทานทุกวัน เพราะตับมีวิตามินเออยู่มาก ซึ่งมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์), ปลาบางชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาฉลาม หูฉลาม ปลากระโทงแทง (มีสารปรอทอยู่มาก อาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยได้ ส่วนปลาทูน่าก็มีสารปรอทอยู่เช่นกัน เพียงแต่คุณแม่ควรจำกัดปริมาณในการรับประทานไว้ไม่ให้เกิน 2 ชิ้นต่อสัปดาห์), ผงชูรส (ไม่ได้ห้ามรับประทานครับ เพียงแต่ควรลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยง แล้วหันมารับประทานอาหารที่มีโยชน์แทนจะดีกว่า), อาหารที่ใส่เกลือมาก ๆ (อาจทำให้เกิดอาการบวมและเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ), แป้งกรอบหรือผงกรอบ (ส่วนมากจะมีสารบอแรกซ์), ยาจีนหรือยาหม้อ (เพราะยังไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามีประโยชน์หรือมีอันตรายมากน้อยเพียงใด อีกทั้งตำรับยาหรือส่วนผสมก็ไม่ค่อยแน่นอน บางอย่างก็มีราคาแพง และอาจไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป), เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม โอเลี้ยง (กาเฟอีนอาจก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลหรือความตึงเครียดได้), เครื่องดื่มชูกำลัง, ชาดอกคำฝอย (มีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวซึ่งเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อย), เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดครับ) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 17 อาหารที่คนท้องห้ามกิน & คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ??
7.การสูบบุหรี่ เป็นอีกสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดเว้นอย่างเด็ดขาด เพราะสารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกทั้งการสูบบุหรี่มากยังทำให้คุณแม่มีโอกาสแท้งและคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น ลูกที่ออกมามักตัวเล็ก น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการที่รุนแรงได้
8.ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คุณแม่ไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยติดเชื้อ แม้แต่คนในบ้าน รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงอย่างหมาและแมว ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดหรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ เพราะอาจทำให้คุณแม่มีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้หวัดที่เป็นโรคที่คนเรามักจะป่วยกันได้ง่าย ๆ หากคุณแม่ไม่สบายเป็นไข้ตัวร้อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ก็ตาม ยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรระมัดระวังตัวเองให้มาก อย่าเข้าไปใกล้กับผู้ป่วยที่มีไข้สูง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีผื่นออกตามร่างกาย โดยโรคอื่น ๆ ที่คุณแม่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้นจะมีโรคอีสุกอีใส (ถ้าคุณแม่ยังไม่เคยเป็นมาก่อน อาจมีโอกาสเป็นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ และอาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยในครรภ์ผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้), โรคคางทูม (แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่มีผลอะไรนักและไม่มีความเสี่ยงต่อการพิการของลูกน้อย แต่ถ้าบังเอิญในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่เกิดเป็นคางทูมขึ้นมา คุณหมอจะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนคางทูมในระยะนี้ครับ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้) และพยายามอย่าให้สุนัขกัด เพราะสุนัขอาจมีโรคพิษสุนัขบ้า หรือถ้าคุณแม่มีลูกเล็กที่ต้องคลุกคลีเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกป่วย คุณแม่ก็อาจได้รับเชื้อไปด้วย สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยทำงานอยู่ใกล้กับสารพิษหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง มีมลพิษมาก คุณแม่ควรปรึกษากับเจ้านายเพื่อขอโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การงานไปก่อนชั่วคราว เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ลางานหรือหยุดงาน เพื่อที่คุณแม่จะได้พักผ่อนมากที่สุด
-
- หัดเยอรมันกับลูกน้อยในครรภ์ หัดเยอรมันเป็นเหมือนฝันร้ายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยหัดเยอรมันนั้นเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางลมหายใจ ละอองไอ และน้ำลาย หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3-4 เดือนแรก จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์พิการโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อความไม่ประมาท คุณแม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันไว้ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคุณแม่จะได้รับเชื้อมาจากไหน
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากฝ่ายสามี จากรายงานทางการแพทย์พบว่า สามีจะนอกใจภรรยามากที่สุดในช่วงการตั้งครรภ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อคุณแม่และลูกจากการติดเชื้อได้ เช่น เชื้อ HIV เชื้อหนองใน เชื้อเริม และซิฟิลิส ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อความพิการและสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่จึงไม่ควรละเลยในการให้ความสุขกับสามี เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคุณพ่อได้ตามปกติ
9.การแต่งตัวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ในส่วนของเสื้อผ้า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสวมชุดที่ใส่สบาย เนื้อผ้าไม่อับลม อาจจะหลวมเล็กน้อย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปหรือรัดเอวมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลกลับจากขาได้ช้าหรือน้อยลง อาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้มากขึ้น ในส่วนของชุดชั้นในนั้นควรจะใช้ยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะกับเต้านม คุณแม่อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยตามขนาด และควรใช้ชนิดเสริมด้านล่างอีกเล็กน้อย เพราะเต้านมมักจะใหญ่และถ่วงน้ำหนักลง เสื้อชั้นในที่ดีควรทำจากผ้าฝ้ายล้วน จะทำให้ไม่ร้อนอบอ้าว และควรเลือกชนิดที่มีปลายทรงแหลมหรือมีที่ว่างมากพอสำหรับหัวนมจะได้ไม่ถูกกด เพื่อป้องกันหัวนมบอด ส่วนข้อแนะนำในเรื่องกางเกงในนั้น พวกที่ทำจากใยสังเคราะห์ไม่เหมาะสมที่จะใช้ เนื่องจากไม่ช่วยซับเหงื่อและระดูขาวให้ระเหยไปได้ ทำให้บริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย กางเกงในที่ดีจะต้องทำจากผ้าฝ้ายบางเบา เพราะจะช่วยดูดซึมเหงื่อได้ดี นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนให้มีขนาดพอดีกับรูปร่างที่โตขึ้นด้วย อย่าทนใส่กางเกงในที่คับจนทำให้รู้สึกอึดอัด และสำหรับการสวมใส่รองเท้า คุณแม่ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา เอว และหลัง เกิดวามตึงเครียดและมีอาการปวดตามมาได้ อีกทั้งรองเท้าส้นสูงยังทำให้จุดศูนย์ถ่วงของคุณแม่ตั้งครรภ์เสียสมดุลอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มและแท้งบุตรได้
10.การอาบน้ำของคุณแม่ตั้งครรภ์ ในเรื่องการอาบน้ำนี้มีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า ห้ามอาบน้ำในเวลากลางคืน เพราะเชื่อว่าจะมีน้ำคร่ำเยอะและเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง แต่ในความจริงแล้วในสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้กัน ห้องน้ำก็ไม่มี จะอาบน้ำแต่ละทีก็ต้องลงจากเรือนไปอาบที่พื้น เวลากลางคืนมืด ๆ อาจทำให้คุณแม่ลื่นหกล้มหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อยได้ แต่ต่างจากสมัยนี้ที่มีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึง จะอาบน้ำกันเวลาไหนก็ได้ จึงไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดครับ อย่างไรก็ดี ผมก็ขอแนะนำเรื่องการอาบน้ำว่า ควรอาบในช่วงเช้าและเย็น แต่ระวังอย่าฟอกสบู่มากนัก เพราะจะทำให้ผิวแห้งและเกิดปัญหาผิวพรรณตามมา, ไม่ควรลงแช่ในน้ำคลองหรือน้ำสกปรก เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อบริเวณช่องคลอดได้, การอาบน้ำโดยการนั่งแช่ในอ่างอาบน้ำนั้นสามารถทำได้ เพียงแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ควรจะงด เพราะอ่างน้ำอาจลื่น ทำให้คุณแม่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ ไม่ใช่เพราะจะทำให้น้ำเข้าช่องคลอดหรือเกิดการอักเสบอย่างที่เข้าใจผิดกัน, การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้เป็นตะคริวจมน้ำก็พอครับ (ถ้าตั้งครรภ์แก่ ๆ หน่อยก็ขอแนะนำให้เลิกว่ายน้ำแล้วหันไปออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นจะเหมาะกว่าครับ)
ที่มา :mgronline
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
อาหารที่มีประโยชน์ต่อคนท้อง อะไรที่กินเพื่อลูกตอนท้องแล้วดี กินเลย!
นักวิจัยชี้ แม่เครียดตอนท้อง เป็นภัยเครียดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมลูกในท้องสูง