คุณแม่ทุกคนอยากเห็นลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง ฉลาด และมีความสุข การเล่นกับลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ลูกน้อยพัฒนาสมองและร่างกายได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ลูกน้อยกลับมาจากโรงพยาบาล การให้ลูกได้สัมผัสกับการเล่นในท่าทางต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การประสานงาน และพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะของลูกน้อยทั้งสิ้น ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับพัฒนาการเด็กวัย 0-3 เดือน พร้อมแนะนำ กิจกรรมเสริมพัฒนาการทารก 0-3 เดือน วิธีเล่นสนุกกับลูกน้อยวัย 0-3 เดือน มีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็ก 0-3 เดือน
ช่วง 3 เดือนแรกของชีวิตทารกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองของลูกน้อยพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ลูกน้อยกำลังเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับโลกใบใหม่ และคุณพ่อคุณแม่ก็กำลังเรียนรู้ที่จะดูแลลูกน้อยให้เติบโตอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ มาดูกันว่าทารกวัย 0-3 เดือนสามารถทำอะไรได้บ้าง
การเคลื่อนไหว
- ยกศีรษะ ไม่เพียงแต่ยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยขณะนอนคว่ำเท่านั้น แต่ลูกน้อยยังอาจพยายามที่จะยกหัวและไหล่ขึ้นมาเพื่อมองดูสิ่งรอบข้างมากขึ้นด้วย
- ควบคุมร่างกาย การเคลื่อนไหวแขนขาที่ดูเหมือนสะเปะสะปะในช่วงแรก จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหวที่มีทิศทางมากขึ้น เช่น การเอามือไปจับเท้า หรือการเตะขาเล่น
- เล่นกับของเล่น การที่ลูกน้อยเริ่มสนใจของเล่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าระบบประสาทและกล้ามเนื้อของลูกกำลังพัฒนาขึ้น
การมองเห็น
- โฟกัส ลูกน้อยจะเริ่มโฟกัสที่วัตถุที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 8-12 นิ้วได้ชัดเจน ซึ่งเป็นระยะห่างที่พอดีกับใบหน้าของผู้ดูแล
- ติดตามการเคลื่อนไหว การที่ลูกน้อยสามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ แสดงว่าระบบการมองเห็นและการประสานงานระหว่างตาและสมองกำลังทำงานได้ดีขึ้น
การได้ยิน
- ตอบสนองต่อเสียง ลูกน้อยจะเริ่มตอบสนองต่อเสียงต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เสียงดัง เสียงเบา เสียงแหลม เสียงทุ้ม
- จำเสียง ลูกน้อยจะเริ่มจดจำเสียงของพ่อแม่และคนในครอบครัวได้
การสื่อสาร
- ยิ้ม ยิ้มของลูกน้อยไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกถึงความสุข แต่ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแลอีกด้วย
- เสียงร้อง เสียงร้องของลูกน้อยไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยกำลังร้องไห้เสมอไป แต่ยังอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจหรือการสื่อสารความต้องการอื่นๆ
- เลียนแบบเสียง การที่ลูกน้อยเริ่มเลียนแบบเสียงต่างๆ เป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อในช่องปากและเป็นการเริ่มต้นพัฒนาการด้านภาษา
บทความที่เกี่ยวข้อง มีลูก 1 คน ใช้เงินเท่าไหร่ ? สรุปค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ ถึง 18 ปี
กิจกรรมเสริมพัฒนาการทารก 0-3 เดือน
หลายคนอาจจะคิดว่า ทารกแรกเกิดเอาแต่กินและนอน ยังเล่นอะไรไม่ได้ แต่คุณแม่ได้เห็นแล้วว่า ลูกน้อยมีพัฒนาการที่รวดเร็ว ทั้งการเคลื่อนไหว การมองเห็น การได้ยิน และการสื่อสาร ดังนั้น คุณแม่อย่ามองข้ามการเล่นกับลูกในช่วงวัยนี้นะคะ มาดูกันว่ามี กิจกรรมเสริมพัฒนาการทารก 0-3 เดือน อะไรบ้างที่คุณแม่สามารถทำได้ เพื่อเสริมพัฒนาการทักษะการเคลื่อนไหวและพัฒนาประสาทสัมผัสของทารกวัย 0-3 เดือน
-
คว่ำแล้วคว้า
ในเวลากลางวันที่ลูกตื่นอยู่ ให้ลูกน้อยนอนเล่นบนเบาะในท่าคว่ำช่วยเสริมสร้างร่างกายส่วนบน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัสที่แข็งแรง การรับรู้ตำแหน่งร่างกาย การมองและเอื้อมมือไปคว้าสิ่งของที่อยู่ด้านหน้าในท่านอนคว่ำ ถือเป็นการฝึกการประสานมือและตาเบื้องต้น
เตรียมพื้นที่โดยปูผ้าห่มนุ่มๆ บนพื้นที่สะอาดและปลอดภัย จากนั้นวางของเล่นที่มีสีสันและเสียงดังใกล้ๆ ศีรษะของลูกน้อย เพื่อดึงดูดให้ลูกน้อยหันไปมอง เปลี่ยนท่าทางของลูกน้อยเป็นระยะๆ เช่น หันศีรษะไปทางซ้าย ทางขวา หรือวางมือไว้ข้างตัว
-
รักต้องอุ้ม
การอุ้มลูกน้อยบ่อยๆ เป็นการสัมผัสผิวหนังระหว่างพ่อแม่และลูกน้อย ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การสัมผัส การได้ยิน และการมองเห็น การอุ้มใกล้ชิดทำให้ลูกน้อยรู้สึกถึงความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ ช่วยสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้น และที่สำคัญ การอุ้มเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกน้อย เช่น การอุ้มเมื่อลูกน้อยร้องไห้ ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและมีอารมณ์ที่มั่นคง
นอกจากนี้ การอุ้มในท่าทางต่างๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อของลูกน้อยได้ออกกำลังกาย อย่างที่ทราบดีว่าลูกน้อยแรกเกิดนั้นคอยังไม่แข็งแรงคุณแม่คอยอุ้มประคองบริเวณคอเอาไว้ ให้ลูกน้อยได้ลองฝึกชันคอ ช่วยให้กล้ามเนื้อคอ หลัง และแกนกลางยืดและแข็งแรงขึ้นด้วย
-
โยกเยกเอย
การเล่นโยกเยกกับทารกเป็นกิจกรรมที่สนุกและมีประโยชน์อย่างมาก ช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูก ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย และยังส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อย ช่วยให้กล้ามเนื้อของลูกน้อยได้ออกกำลังกาย และยังช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัวอีกด้วย
นอกจากนี้การโยกเยกทำให้ลูกน้อยได้สัมผัสกับการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส การโยกเยกในจังหวะที่สม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายและหลับสบาย
สำหรับทารกวัยแรกเกิด คุณแม่สามารถอุ้มลูกน้อยในท่ากอด เมื่อลูกน้อยแข็งแรงขึ้น สามารถลองอุ้มในท่านั่งได้ โดยให้ลูกน้อยพิงไหล่ของคุณแม่ หากคุณแม่ร้องเพลงหรือพูดคุยกับลูกน้อยขณะโยกไปด้วยจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสนุกมากขึ้น
-
หันไปตามเสียงเพลง
การพูดคุยและร้องเพลงให้ลูกน้อยฟังจะช่วยสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานและกระตุ้นให้ลูกน้อยอยากเคลื่อนไหว
เสียงเพลงไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกน้อยสงบและรู้สึกสบายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ทารกแยกแยะเสียงต่างๆ รับรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงแตกต่างกัน เพลงยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการดึงดูดความสนใจ เพื่อเริ่มต้นกระตุ้นการเคลื่อนไหวให้ลูกน้อยหันหัวจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ตามเสียงที่ได้ยิน
-
ของเล่นง่ายๆ
ของเล่นของลูกน้อยวัยนี้ (จริงๆ แล้วสำหรับทุกวัย) ไม่จำเป็นต้องหรูหรา ลองประยุกต์สิ่งของรอบตัว มาเป็น เพลยิม โมบายล์ ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง ลูกบอลที่จับง่าย และหนังสือผ้านุ่มๆ ของเล่นเหล่านี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับดึงสายตาของทารก และเมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยจะมองตามสิ่งที่ตัวเองถือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานมือและตาของทารก
ใช้ของเล่นที่ส่งเสียงดัง เช่น ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง หรือของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกน้อย หรือใช้ของเล่นที่มีพื้นผิวแตกต่าง ให้ลูกน้อยได้สัมผัสกับของเล่นที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น ผ้าขนหนู ผ้าไหม หรือของเล่นพลาสติก
-
อาบน้ำและนวดตัว
การอาบน้ำเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำหรับทารกที่สนุกและน่าจดจำ การอาบน้ำและนวดตัวช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด และหลับสบาย การสัมผัสน้ำอุ่น น้ำสบู่ และการนวดเบาๆ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ของลูกน้อย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อของลูกน้อยได้ขยับและผ่อนคลาย
ระหว่างอาบน้ำคุณแม่อาจเป่าฟองสบู่ให้ลูกน้อยได้มองและเอื้อมมือไปจับเบาๆ จะช่วยกระตุ้นการมองเห็นและการเคลื่อนไหวของมือ หรือเลือกของเล่นที่ทำจากวัสดุที่ปลอดภัยและลอยน้ำได้ เช่น เป็ดน้อยลอยน้ำ หรือปลาสีสดใส ชวนลูกน้อยมองตามของเล่นที่เคลื่อนไหวในน้ำ
การกระตุ้นพัฒนาการของทารกวัยนี้ไม่เร็วเกินไป ด้วยกิจกรรมเสริมพัฒนาการทารก 0-3 เดือน ที่เรานำมาฝากข้างต้น เป็นวิธีเล่นกับลูกง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านสามารถทำได้ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ให้ความใส่ใจและทำกิจกรรมร่วมกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุขได้ค่ะ
ที่มา : The Inspired Treehouse , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการทารก 1 เดือน ลูกเรียนรู้อะไรบ้าง และวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
พัฒนาการทารก 2 เดือน เทคนิคสื่อสารกับลูก และวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
พัฒนาการทารก 3 เดือน สิ่งที่ต้องระวัง และวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย
พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูก : 5 ความทรงจำดีๆ ที่พ่อแม่ควรมีร่วมกับลูกในวัยเด็ก