9 รอยแตกร้าวบนผนัง ดูให้ดีก่อนเกิดอันตราย

รอยร้าวบนผนัง สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันสังเกตความเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบต่อตนเองและเพื่อนบ้าน แล้วรอยร้าวแบบไหนล่ะที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บ้านที่อยู่อาศัยมาในระยะเวลาหนึ่งแล้ว หลายคนคงเคยพบเจอกับปัญหา “รอยร้าวบนผนัง” หรือแม้กระทั่งบ้านที่เพิ่งอยู่มาได้ราวๆ 2-3 ปี ก็มีโอกาสที่จะเจอะเจอปัญหารอยร้าวบนผนังได้เช่นกัน โดยจากการสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับรอยร้าวบนผนังที่มีโอกาสพบเจอทั้งผนังบ้าน หรือห้องชุด มีด้วยกัน 9 รอยร้าวหลักๆ ซึ่งแม้ว่าบางรอยร้าวจะยังไม่เป็นอันตราย แต่ก็ควรหาแนวทางแก้ไข ก่อนที่รอยร้าวเหล่านั้นจะบานปลายกลายเป็นอันตรายได้ในที่สุด ส่วนรอยร้าวที่เป็นอันตราย ก็ควรเร่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหาทางแก้ไข

 

9 รอยร้าวบนผนัง ดูให้ดีก่อนเกิดอันตราย

1. รอยร้าวแนวนอนบริเวณเสา

รอยร้าวบนเสาที่มีลักษณะเป็นเส้นแนวนอน ซึ่งบางบ้านจะเห็นเป็นเพียงรอยแนวราบเพียงไม่กี่เส้น แต่บางบ้านก็จะเห็นเป็นเส้นแนวราบหลายๆ เส้น ซึ่งเกิดจากตัวเสาแอ่นตัว เพราะฐานรากที่รองรับเสาแต่ละต้นทรุดตัวไม่เท่ากัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและแก้ไข ก่อนจะลุกลามจนกลายเป็นการดึงตัวบ้านทั้งหลัง

 

2. รอยร้าวแนวดิ่งบริเวณข้างเสา

ลักษณะของรอยร้าวแนวดิ่งบริเวณข้างเสาบ้าน ซึ่งเกิดจากการยืดหดตัวของปูนเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดการแตกร้าว โดยหากความลึกของรอยร้าวไม่เกินความหนาของบัตรประชาชน ยังถือว่าไม่เป็นอันตราย และแก้ไขได้เอง แต่หากความลึกของรอยร้าวมากกว่านั้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก่อนบานปลาย

 

3. รอยแตกร้าวลึกบริเวณเสา

ลักษณะของรอยร้าวนี้ จะแตกต่างจาก 2 รอยร้าวแรกที่กล่าวถึง โดยจะเห็นรอยแตกร้าวของเสา รอยแตกร้าวของผนังจนเสียรูปทรงที่ชัดเจน และส่วนใหญ่จะมีเนื้อคอนกรีตกะเทาะออกมา ซึ่งเกิดจากเสารับน้ำหนักมากเกินกว่าที่คำนวณไว้ หรือใช้งานอาคารผิดประเภท โดยหากเกิดรอยร้าวลักษณะนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งแก้ไขโดยด่วน จนที่จะเกิดอันตรายรุนแรง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

4. รอยร้าวแนวนอนบริเวณผนังใต้ท้องคาน

ลักษณะของรอยร้าวนี้ จะมีสาเหตุที่คล้ายกับรอยร้าวแนวดิ่งบริเวณข้างเสาบ้าน นั่นก็คือ เกิดจากการยืดหดตัวของปูนเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดการแตกร้าว หากความลึกของรอยร้าวไม่เกินความหนาของบัตรประชาชน ยังถือว่าไม่เป็นอันตราย และแก้ไขได้เอง แต่หากความลึกของรอยร้าวมากกว่านั้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก่อนบานปลายเช่นกัน

 

5. รอยร้าวแนวดิ่งบริเวณกลางผนัง

ลักษณะรอยร้าวนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตรงกึ่งกลางผนังจากด้านบนเป็นแนวดิ่งลงมา ซึ่งอาจเป็นเพราะคานรับน้ำหนักจากชั้นบนมากเกินไป หรือคานของตัวบ้านถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักได้น้อยเกินกว่าที่เราประเมินไว้ ดังนั้น การแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงควรย้ายของจากชั้นบน แล้วเร่งแก้ไขรอยร้าวเหล่านี้ก่อน เพื่อป้องกันการแตกร้าวที่เพิ่มขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเสริมคานให้แข็งแรงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนที่เก็บของที่มีน้ำหนักมาไว้ชั้นล่าง เพื่อไม่ต้องให้คานรับน้ำหนักมากเกินไป

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

6. รอยร้าวแนวดิ่งกลางคาน

ลักษณะของรอยร้าวกลางคาน ที่เป็นรอยแตกเป็นแนวดิ่งตั้งแต่ตัวคาน ถือเป็นรอยร้าวชนิดอันตราย เพราะมีโอกาสที่ตัวบ้านจะแยกออกจากกันได้ ซึ่งเป็นผลจากการที่คานรับน้ำหนักมากไป ต้องเร่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

 

7. รอยร้าวบนพื้น

ลักษณะรอยร้าวที่เป็นแนวยาวบนพื้นขนานไปกับผนัง ถือเป็นรอยร้าวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างของตัวบ้าน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทรุดตัวของฐานรากที่ไม่เท่ากัน หรือชั้นดินทรุดในปริมาณมาก ทำให้เสาเข็มฝั่งที่ไม่ได้ทรุดตัวถูกฝั่งทรุดตัวดึงจากตำแหน่งเดิม (ถ้าเกิดรอยแตกร้าวลักษณะนี้บริเวณฝั่งใด แสดงว่าเกิดการทรุดตัวของฐานรากฝั่งตรงข้าม) ซึ่งเจ้าของบ้านต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

8. รอยร้าวแนวเฉียงบริเวณปลายคานไปยังหัวเสา

ลักษณะรอยร้าวบริเวณปลายคานในแนวเฉียงยังหัวเสา จัดเป็นชนิดรอยร้าวที่อันตรายร้ายแรงมาก ซึ่งเกิดจากคานรับน้ำหนักมากเกินไป เสี่ยงต่อการถล่มลงมา หากผู้อยู่อาศัยพบเห็นรอยร้าวลักษณะนี้ ควรเร่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และเบื้องต้นแนะนำให้ย้ายออกชั่วคราว และกลับเข้ามาอาศัยอีกครั้งเมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว

 

9. รอยร้าวผนังแนวเฉียง

ลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากบนลงล่างในแนวเฉียงทแยงมุม ก็เป็นรอยร้าวอันตรายเช่นกัน โดยเกิดจากการทรุดตัวของฐานรากที่ไม่เท่ากัน หรือการต่อเติมอาคารแบบผิดๆ จนกระทบถึงตัวโครงสร้างบ้าน และมีการดึงกันระหว่างโครงการสร้างเดิมกับโครงสร้างใหม่ จนทำให้เกิดรอยฉีกระหว่างกัน ซึ่งควรเร่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหาทางแก้ไข

 

นี่เป็น 9 รอยร้าวที่มีโอกาสพบเจอบริเวณผนังของตัวบ้าน ซึ่งถ้าเป็นบ้านเดี่ยว อาจจะแก้ไขได้ทันทีโดยที่ไม่ได้กระทบกับบ้านของผู้อื่น แต่ถ้าเป็นทาวน์เฮ้าส์ที่ใช้ผนังร่วมกับเพื่อนบ้าน อาจจะต้องระวังในการแก้ไข ไม่เช่นนั้น อาจไม่ได้เจอแค่ปัญหาบ้านของตัวเอง แต่ยังเจอปัญหากับเพื่อนบ้านอีกด้วย

บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าวอสังหาฯ คู่มือซื้อขาย และ รีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ

บทความที่น่าสนใจ:

7 ของใช้ในบ้าน ที่ไม่ควรลืมทำความสะอาด

เปิดแอร์อย่างไร สบายใจเงินในกระเป๋า

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

Khunsiri